สศช.เตือนชั่งน้ำหนัก "ลดภาษีผับ-บาร์" เสี่ยงได้ไม่คุ้มเสีย

05 มี.ค. 2567 | 23:59 น.

สศช. เปิดข้อมูลปี 2566 คนไทย ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ พุ่งปรี๊ด เตือนแรงรัฐรื้อโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ลดภาษีผับ-บาร์ เหลือ 5% เสี่ยงได้ไม่คุ้มเสีย ทำสถานบันเทิงเพิ่ม ปั้นนักดื่มหน้าใหม่ กระทบสังคม

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ และภาพรวมปี 2566 หนึ่งในเรื่องน่าสนใจที่มีผลกระทบต่อครัวเรือน นั่นคือ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ หลังข้อมูลระบุชัดเจนว่า ภาพรวมปี 2566 มีอัตราที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน และยังต้องต้องติดตามและเฝ้าระวังการปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตในกิจการบันเทิง ซึ่งอาจส่งผลให้มีการบริโภคเพิ่มมากขึ้น

 

 

ทั้งนี้ สศช. เปิดข้อมูลว่า ภาพรวมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ปี 2566 เพิ่มขึ้น 2.8% ตามการฟื้นตัวของการบริโภคและการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ช่วงไตรมาสสี่ ปี 2566 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น 2.8% โดยเป็นการบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 4.9% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรวมถึงการส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหม่ ส่วนการบริโภคบุหรี่ลดลง 0.7%

สำหรับประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังตอนนี้ คือ การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตในกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ อาจส่งผลให้จำนวนสถานบันเทิงเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคมีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น โดยการปรับลดอัตราภาษีมูลค่าจากอัตรา 10% ลดลง เหลือ 5% สำหรับกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ ได้แก่ ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์ อาจดึงดูดให้มีการเปิดสถานบันเทิงเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้นักดื่มมีโอกาสเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

โดยการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความหนาแน่นของจุดจำหน่ายและพฤติกรรมการบริโภคสุราไทย ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า ความหนาแน่นของจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มากขึ้นจะส่งผลให้มีการบริโภคที่มากขึ้นด้วย

ทั้งนี้จากข้อมูลในปี 2560 ความหนาแน่นของจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่ากับ 1.2 แห่งต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ขณะที่ ในปี 2566 จากข้อมูลของกรมสรรพสามิต พบว่า ความหนาแน่นของจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเป็น 1.3 แห่งต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร

โดย 3 จังหวัดที่มีความหนาแน่นสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร มีความหนาแน่น 23.9 แห่งต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร นนทบุรี มีความหนาแน่น 14.7 แห่งต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร สมุทรปราการ มีความหนาแน่น 14.5 แห่งต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ดังนั้น จึงควรมีมาตรการควบคุม และกวดขันผู้ที่ดื่มสุราไม่ให้ก่อพฤติกรรม ที่ไม่พึงประสงค์ อาทิ การขับขี่ยานพาหนะขณะมึนเมาด้วย

นอกจากนี้ในประเด็นการสูบบุหรี่ ยังพบว่าได้ส่งผลต่อภูมิคุ้มกันและเพิ่มโอกาสการติดเชื้อ แม้ว่าจะเลิกสูบมาหลายปีแล้วก็ตาม จากการศึกษาของ Violaine Saint-André และคณะ ของสถาบัน Institut Pasteur ประเทศฝรั่งเศส ปี 2567 โดยวิธีการเก็บเลือดของกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 20 – 69 ปี จำนวน 1,000 คน เพื่อเปรียบเทียบการปรับตัวหลังเลิกสูบบุหรี่ ระหว่างภูมิคุ้มกันในระยะสั้นและยาวของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า

การสูบบุหรี่ลดภูมิคุ้มกันในการป้องกันการติดเชื้อโรคทั้งเฉียบพลันและเรื้อรังและอาจเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังที่เกี่ยวกับการอักเสบ อาทิ โรคข้อเข่าเสื่อม หรือลูปัส สอดคล้องกับการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่า การสูบบุหรี่นอกจากจะส่งผลให้เกิดโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็งแล้ว ยังรบกวนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งทำให้ผู้สูบมีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่าย

โดยปี 2564 ไทยมีผู้ที่สูบบุหรี่ถึง 9.9 ล้านคน อาจอยู่ในภาวะดังกล่าว จึงควรสร้างความตระหนักรู้ถึงโทษของบุหรี่และรณรงค์ให้มีการเลิกสูบอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น