นายอเล็กซองต์ อัมเบล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี อาร์ ซี สปอร์ต จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า ภาพรวมตลาดค้าปลีกกีฬาปี 2566 มีมูลค่า 35,000 ล้านบาท เติบโตเทียบเท่าก่อนช่วงโควิด-19 สำหรับ ซูเปอร์สปอร์ตครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 25% เป็นอันดับ 1 ของไทย คาดการณ์ว่าตลาดค้าปลีกกีฬาในปีนี้จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนหลักมาจากเทรนด์สุขภาพ กระแสกีฬาที่ปีนี้มาแรง เนื่องจากเป็นปีแห่งมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ เต็มไปด้วยการแข่งขันระดับโลกมากมาย เริ่มต้นด้วยโอลิมปิกและปิดท้ายด้วยการแข่งขันวอลเลย์บอลที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในทัวร์นาเมนต์สุดท้าย
สำหรับแผนธุรกิจในครึ่งปีหลัง จะใช้งบ 250 ล้านบาท เพื่อปรับโฉมสาขาใหม่ 3 แห่ง ได้แก่ 1) เซ็นทรัล ชิดลม (เตรียมทำเป็นสาขาแฟล็กชิปสโตร์) 2) เซ็นทรัล บางนา และ 3) เซ็นทรัล เวสต์เกต โดยตั้งเป้าหมายปรับโฉมเพิ่มอีก 20 สาขาในอนาคต สาขาที่ผ่านการปรับโฉมใหม่ ยอดขายพุ่งสูงถึง 2-3 เท่า เมื่อเทียบกับสาขาเดิม โดยมีปัจจัยหลักมาจากกลยุทธ์ "มัลติแบรนด์" ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบสินค้าจากหลากหลายแบรนด์ในที่เดียว นอกจากนี้ สาขาที่ปรับโฉมใหม่ยังมีฐานลูกค้าประจำที่เหนียวแน่น ซื้อสินค้าซ้ำถึง 75-80% สะท้อนให้เห็นถึงความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อสินค้าและบริการของทางร้าน
สำหรับแผนขยายสาขาใหม่ ตั้งเป้าเปิดเพิ่ม 1-2 สาขาต่อปี โดยในปีนี้เปิดสาขาใหม่ไปแล้วที่นครสวรรค์และนครปฐม อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าการขยายสาขาแบบดั้งเดิมอาจเริ่มถึงจุดอิ่มตัวแล้ว บริษัทจึงหันมาศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดสาขาสแตนด์อโลน และมุ่งเน้นคัดเลือกทำเลที่มีศักยภาพสูงสุด
การปรับโฉมใหม่ในครั้งนี้มาในคอนเซ็ปต์ “ Move You, Move Sports” รูปแบบ 3.0 จะแบ่งเป็นตามหมวดหมู่สินค้า เช่น โซนวิ่ง โซนฟุตบอล โซนกอล์ฟ เป็นต้น อีกทั้งยังเพิ่มโซนสร้างประสบการณ์ด้านกีฬาในพื้นที่มากขึ้นอย่าง “ฟุตบอลคลินิก” ที่มีตัวแทนจาก LFC มาให้ความรู้กับลูกค้าที่สนใจ นอกจากนี้ได้นำเครื่องสแกนวิเคราะห์เท้าและรองเท้าที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล มาเปิด 3 สาขา ได้แก่ เซ็นทรัล เวสต์วิลล์, เซ็นทรัล นครสวรรค์ และเซ็นทรัล นครปฐม จากทั้งหมด 92 สาขาทั่วประเทศ
นายเล็น เลิศสุมิตรกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท ซีอาร์ซี สปอร์ต จำกัด กล่าวว่า บริษัททำรายรายได้ในปี 2566 อยู่ที่ 8,700 ล้านบาท และตั้งเป้ารายได้เติบโต 9-10% ในปีนี้ ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตมาจากทีมนักกีฬาจากประเทศไทยที่ผ่านการคัดเลือกเข้าไปแข่งในลีกกีฬาชั้นนำระดับโลก ทั้งเอเชียนคัพ โอลิมปิก แอลพีจีเอทัวร์ เมเจอร์ลีกส์ ฯลฯ รวมไปถึงเทศกาลฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (ยูโร) ที่จะจัดขึ้นในกลางปีนี้
จากกระแสกีฬาที่มาแรงมากในปีนี้ ทำให้บริษัทได้มีแผนเกี่ยวกับสปอร์ตอีเวนต์สำคัญต่างๆ คาดว่าจะดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคต่อสินค้ากีฬาได้ ตัวอย่าง งานวิ่ง 10 ไมล์ ใจกลางกรุงเทพฯ, ทัวร์นาเมนต์กอล์ฟ หรือ สนับสนุนกิจกรรมกีฬาในระดับชุมชนทั่วประเทศ เป็นต้น มั่นใจว่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายให้เพิ่มขึ้น 5-10% นอกจากนี้ สาขาในเมืองท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ มีแนวโน้มเติบโตดี โดยมียอดขายเฉลี่ยต่อบิล 2,000 บาท ส่วนต่างจังหวัดมียอดขาย 1,500 บาท
ทั้งนี้ 3 อันดับสินค้าที่มียอดขายสูงสุด ได้แก่ รันนิ่ง (25%) ไลฟ์สไตล์ (20%) และฟุตบอล (13-15%) ปัจจุบัน สังเกตได้ว่าเทรนด์ของลูกค้าเริ่มเปลี่ยนมาซื้อสินค้ากีฬาระดับสูงมากขึ้น ทั้งกอล์ฟ เทนนิส และเลือกสินค้าที่เหมาะสมกับตัวเองมากขึ้น
นางสาววิยะดา บูรณะภากรณ์ ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่อาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท ซี อาร์ ซี สปอร์ต จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล เปิดข้อมูลเชิงลึกด้านพฤติกรรมเกี่ยวกับกีฬาของผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 โดยแบ่งเป็น 4 หัวข้อ ได้แก่
1.Sports Become More Informal: ผู้บริโภคมองหากีฬาที่เข้าถึงง่าย เล่นได้ง่าย ไม่ต้องมีทักษะการเล่นแบบมืออาชีพ กีฬากลายเป็นกิจกรรมสำหรับการสร้างเสริม Well-being รวมถึงความนิยมของโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้ภาพของกีฬาเป็นมิตรและเปิดกว้างมากขึ้น
2.Sports Become Social Connection: นอกเหนือจากสุขภาพร่างกายแล้ว กีฬาเริ่มเป็นกิจกรรมที่ใช้ในการสร้างความสัมพันธ์ เป็นช่วงเวลาสำหรับการสร้างคอนเนคชัน แชร์ประสบการณ์และความสนใจร่วมกัน เกิดคอมมูนิตี้กีฬาประเภทต่าง ๆ ที่รวมคนหลายกลุ่มไว้ด้วยความสนใจกีฬาประเภทเดียวกัน
3.The Rise of ‘Athleisure: หรือเทรนด์การมีลุคสปอร์ตในวันทั่วไป ทั้งด้านเครื่องแต่งกายและไลฟ์สไตล์ ทำให้ความต้องการอุปกรณ์กีฬาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเสื้อผ้าและรองเท้า ประกอบกับเทรนด์ Work-life balance และการลดความเคร่งครัดของเครื่องแต่งกาย ทำให้แฟชั่นการแมตช์ไอเท็มกีฬาในชีวิตประจำวันเป็นที่นิยมอย่างมาก และยังทำให้การออกกำลังหลังเลิกงาน เป็นไปได้ง่ายขึ้นด้วย
4.Sports Brands Choices Exploration: ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้บริโภคค้นพบแบรนด์ใหม่ได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ความภักดีต่อแบรนด์ (Brand loyalty) ลดลง ซึ่งเป็นผลทางบวกต่อร้านค้าในรูปแบบมัลติสโตร์ ที่มอบประสบการณ์การช้อปหลากหลายแบรนด์ และยังสามารถกลายเป็นผู้แนะนำที่น่าเชื่อถือสำหรับลูกค้าที่มองหาแบรนด์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ