ธุรกิจร้านอาหารวิกฤต! กำลังซื้อหด ต้นทุนพุ่ง จี้รัฐเร่งหาทางออก

08 ก.ค. 2567 | 08:57 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2567 | 09:37 น.

พิษเศรษฐกิจรุมเร้า! “สรเทพ โรจน์พจนารัช” ประธานชมรมผู้ประกอบการร้านอาหาร ยื่นหนังสือเปิดผนึก จี้ ‘นายกฯ’ เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อย แนะ 3 มาตรการตามหนังสือคำร้อง วอนต่อลมหายใจธุรกิจร้านอาหารก่อนจะไปต่อไม่ไหวปิดตัวในปี 67 กว่า 50%

นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาคธุรกิจร้านอาหารรายย่อยที่ประกอบด้วย “คนตัวเล็ก” ร่วมกันยื่นหนังสือเปิดผนึกถึง “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา

เพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ก่อนที่ธุรกิจร้านอาหารที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะปิดตัวลงมากกว่านี้ ในช่วงระยะเวลา 5 เดือนแรกของปี 67 ร้านอาหารเริ่มทยอยปิดตัวลงไปกว่า 40% คาดการณ์กว่าถ้ายังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐจะปิดตัวสูงขึ้นถึง 50% ภายในปี 67

ธุรกิจร้านอาหารวิกฤต! กำลังซื้อหด ต้นทุนพุ่ง จี้รัฐเร่งหาทางออก

เนื่องจากสถานการณ์สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ซบเซาอย่างหนัก โดยมีสาเหตุมาจากกำลังซื้อของประชาชนในประเทศหดตัวลงกว่า 60% หนี้ครัวเรือนที่ส่งผลให้ประชาชนรัดเข็มขัดแน่นขึ้น รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบทั้งผักสด ค่าไฟ ค่าขนส่ง ที่มีส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจร้านอาหาร ที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 100-300% อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวก็ยังเดินทางไม่มากเท่าที่ควร

“ก่อนหน้านี้ธุรกิจร้านอาหารเจอกับพายุลูกใหญ่ที่สุดอย่างวิกฤตโควิด-19 เมื่อสถานการณ์คลี่คลายในช่วงปีก่อนหน้า ภาคเอกชนคิดว่าเป็นสัญญาณบวกที่ทำให้ธุรกิจร้านอาหารในไทยฟื้นตัว ซึ่งสัญญาณบวกก็อยู่ได้ไม่นานหลังจากนั้นเรียกได้ว่าดิ่งกว่าเดิม เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารไม่ได้ทำงานหาเงินใช้วันต่อวันแต่ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจเพื่อใช้หนี้ในช่วงวิกฤตก่อนหน้าด้วย ก่อนก็โควิดประชาชนไม่กล้าใช้เงิน แต่ ณ ปัจจุบันประชาชนไม่มีเงินจะใช้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายแบกตัวเองไม่ไหวต้องออกจากตลาดไปอย่างน่าเศร้า”

วอนรัฐอยากให้รัฐบาลออกมาตรฐานตรึงราคาสินค้า ชี้แสงสว่างให้ผู้ประกอบโดยด่วน โดยชมรมฯ เสนอให้เร่งพิจารณา 3 มาตรการสำคัญที่สามารถทำได้เลยดังต่อไปนี้

  1. แก้ไขกฎหมายที่ล้าหลังในการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารในช่วงเวลา 14.00 น. - 17.00 น. ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2515 โดยคำสั่งคณะปฏิวัติ ซึ่งขัดแย้งกับบริบทสังคมในปัจจุบัน เนื่องจากมาตรการดังกล่าวนั้นเป็นการออกคำสั่งเพื่อป้องกันข้าราชการนั่งดื่ม แต่ ณ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศเป็นกลุ่มหลักที่ใช้บริหารร้านอาหารรายย่อย การยกเลิกช่วงเวลาฟันหลอดังกล่าวอาจจะช่วยเพิ่มการจับจ่ายให้มากขึ้น
  2. ลดภาษีโรงเรือนให้สำหรับธุรกิจร้านอาหาร เพราะเนื่องจากเป็นธุรกิจที่ทุกวันนี้โดนภาษีต่างๆ มากมายอยู่แล้วและยังมาโดนภาษีโรงเรือนที่เปลี่ยนมาใช้อัตราก้าวหน้าอีก ทำให้เป็นภาระใหญ่กับผู้ประกอบการมาก ซึ่งอัตราภาษีก้าวหน้าดังกล่าว ไม่เอื้อต่อผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากทำให้ต้นทุนค่าเช่าพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว
  3. เร่งออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายโดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
  • มาตรการกระตุ้นให้กับร้านอาหารอย่างกลุ่ม SMEs เช่น บุคคลธรรมดาสามารถเก็บใบกำกับภาษี เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 20,000 บาท และในส่วนของบริษัท ห้างร้าน นิติบุคคล สามารถนำบิลไปลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 100,000 บาท เป็นต้น
  • ออกมาตรการเงินสด ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนทั่วไปคนละ 2,000 บาท 3 เดือน โดยให้เป็นเงินเติมในแอป “เป๋า ตัง” เพื่อให้ประชาชนไปใช้จ่ายซื้ออาหารได้อย่างเดียว ตั้งแต่ร้านข้างทางไปจนถึงร้าน SMEs ด้วย

3 มาตรการดังกล่าว รัฐต้องเร่งช่วยเหลือภายในปีนี้ เพราะเป็นมาตรการที่สามารถทำได้เลย นอกจากนี้ยังแนะรัฐให้ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ตรงตามเป้า ต้องเบนเข็มมากระตุ้นไทยเที่ยวไทยอีกครั้ง นอกจากนี้รัฐบาลต้องมองแผนระยะยาว การค้าขาย ธุรกิจร้านอาหารน่าเป็นห่วง GDP ไม่ถึง 2% ต้องอัดเงินลงมาในระบบให้ประชาชนมีกำลังซื้อ นายสรเทพกล่าวทิ้งท้าย