*** หนักจริงเศรษฐกิจไทยยามนี้ ล่าสุด World Bank ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจลงไปอยู่ที่ 2.4 % ขณะที่รัฐบาลพยายามผลักดันการเติบโตให้ไปที่ 3 % ให้ได้ แต่ดูเหมือนปัญหาจะใหญ่เกินไปที่จะทำให้ได้ตามนั้น ฟากผู้รับผิดชอบฝ่ายรัฐอย่าง เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมายอมรับอยู่ในช่วงมีปัญหา ซึ่งรัฐบาลต้องกระจายเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลไม่ได้นิ่งเฉย ได้ออกมาตรการภาษี เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง ธนาคารออมสินจะออกสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า (ซอฟต์โลน) ในสัปดาห์หน้า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะออกมาในช่วงไตรมาส 4 ก็น่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจ แต่มีผลชัดน่าจะเป็นไตรมาส 1-2 ปีหน้า แต่ระยะจากนี้ไปถึงสิ้นปีก่อนดิจิทัลวอลเล็ตออก จะมีมาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจมาอีกชุด ให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ต้องจับตาดู จะเป็นเช่นไร
*** อีกทางที่ต้องเร่งในเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ของปีงบประมาณ 2567 ต้องเป็นไปตามกรอบเป้าหมาย แม้งบมาล่าช้า และรวมถึงการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ที่โฟกัสชัดเจน และต้องการให้ทุกฝ่ายเดินไปพร้อมกัน สนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรองอย่างเป็นรูปธรรม หลังรัฐบาลอนุมัติมาตรการภาษีไปแล้ว
อันนี้ทุกฝ่ายต้องวิ่งเต็มที่ในการปลดล็อกปัญหาต่างๆ ไม่ใช่รัฐบาลอนุมัติให้ แต่กลไกข้างล่างไม่ขยับให้สอดรับ กระทั่งส่วนราชการอื่นๆ นิ่งเฉย ก็ไร้ความหมาย การอบรมสัมมนาของหน่วยงานรัฐต้องเบิกร่องเปิดทาง หรือกิจกรรมของภาคเอกชน อีเวนท์ต่างๆ ในเมืองรองต้องรองรับเพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าได้
*** ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจ เข้ามาเดือน ก.ค. มีการย้อนความไปหา 27 ปีแล้ว “วิกฤติต้มยำกุ้ง” จากไทยลามไปทั่วเอเชีย ได้รับพิษจากวิกฤติคราวนั้น เริ่มจากโจมตีค่าเงิน ในขณะที่เศรษฐกิจเปราะบางมีหนี้ต่างประเทศเยอะ มีการลอยตัวค่าเงินบาท จากเศรษฐีกลายเป็นยาจกในชั่วพริบตา
บัดนี้ ว่ากันว่า ประเทศไทยแข็งแกร่งขึ้นในหลายด้าน โดยเฉพาะภูมิคุ้มกันทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น แต่ความท้าทายใหม่ที่ต้องเผชิญ ทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือน การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีสรรพสามิตร นักเศรษฐศาสตร์แถวหน้า ที่มีส่วนในการแก้วิกฤติครั้งนั้นพูดอย่างน่าสนใจว่า นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ต้องช่วยชี้ให้เห็นปัญหาระยะยาวและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง รับมือกับความท้าทายในอนาคต
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าในตลาดหุ้น ฟาดเปรี้ยง ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เติบโตร้อนแรงเกินไปจนเกิดภาวะฟองสบู่แตก รัฐบาลเองก็บริหารผิดพลาด ที่เปิดเสรีการเงินแต่กลับตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้
แต่คราวนั้นฟื้นตัวเร็ว มีความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างดี เป็นเศรษฐกิจที่โครงสร้างประชากรเป็นคนหนุ่ม คู่แข่งรอบบ้านยังน้อย แต่วันนี้ เป็นสังคมสูงวัย เด็กเกิดใหม่ที่จะเป็นพลังในอนาคตมีน้อย และโตไม่ทัน
เศรษฐกิจปัจจุบันหากจะเรียกว่า วิกฤติยังไม่ชัด แต่เหมือนคนเจ็บป่วยเรื้อรัง ตับไตค่อยๆ เสื่อม สถานการณ์ตลาดหุ้นก็ ทรงๆ ทรุดๆ ไม่ได้ตกร่วงรุนแรง แต่ไม่รู้ว่าจะไปต่ออย่างไร ไม่รู้ว่าจะสู้ หรือ ผลิตสินค้าแข่งขันกับประเทศอื่นได้อย่างไร
โอกาสจากนี้ การจะสู้แข่งขัน ยากกว่าช่วงที่ฟื้นจากวิกฤตการเงินปี 2540 มาใหม่ๆ ช่วงนั้นคนหนุ่มฟื้นกลับง่าย ช่วงนี้ต้องทำตัวให้หนุ่มแน่นกลับไปสู้อีกครั้ง
*** ว่าด้วยเศรษฐกิจก็เลยเถิดไปที่ตลาดหุ้น ร่วงเอาๆ หนักสุดกับพลังงานบริสุทธิ์ EA ที่ สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมด้วย อมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ต้องยืนยัน ยืนยํ้า ปัจจุบันบริษัทยังคงมีการดำเนินงานตามแผนที่วางไว้อยู่ มีกระเงินสดเป็นรายได้เข้ามาอย่างสมํ่าเสมอ ไตรมาส 1/2567 บริษัทมีกระแสเงินสดในมือที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท ทั้งปีเฉลี่ยจะทำได้ที่ระดับใกล้เคียงนี้
แม้ค่าแอเดอร์ไฟฟ้าที่ได้จากรัฐจะทะยอยหมดลง แต่ยังสามารถขายไฟฟ้าให้กับรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนอื่น ทำให้สามารถรับรู้รายได้ส่วนค่าไฟฐานเข้ามาได้เพิ่ม ยังไม่มีวันหมดอายุสัญญา ทำให้สามารถช่วยสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแรงให้กับบริษัทได้ในระยะยาว
*** EA ยังจัดตั้งบริษัทร่วมทุน Super Holding Company กับทางรัฐบาลลาว ซึ่งถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 65% และบริษัทและพันธมิตรจะถือหุ้น 35% มูลค่าลงทุนรวม 200 ล้านเหรียญ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา EA ได้ใส่เงินลงทุนไปแล้วราว 100 ล้านเหรียญ
EA จะมีสิทธิในการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแบบรวมศูนย์ของลาวทั้งหมด รับรู้ผลตอบแทนจากการร่วมลงทุนเข้ามาได้ภายในปี 2568 ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้ารวมกว่า 7,000 MW และพร้อมจะนำเอา Super Holding Company เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก และต่อยอดในเรื่องของคาร์บอน เครดิต (Carbon Credit)
นอกจากนี้แล้ว EA ยังทำอะไรอีกหลายอย่าง ที่ทำให้บริษัทเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง เป็นธุรกิจใหม่ที่รองรับเมกะเทรนด์โลก ที่ผ่านมาก็เป็นผู้บุกเบิกและมีความสำเร็จ และมีแผนที่จะดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
*** เจอภาวะแบบนี้ เศรษฐกิจแบบนี้ เข้าเกียร์ถอยไว้ก่อน อำนวย จิรมหาโภคา ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานผู้ออกหลักทรัพย์ 1 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) บอกภาะตลาดหุ้นไอพีโอในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ด้วยสภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย และความผันผวนในปัจจุบัน ทำให้มีหลายบริษัทที่ชะลอการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะบริษัทที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ Approved แล้ว
เนื่องจากดัชนีหุ้นที่ลดลงตํ่ากว่าระดับ 1,300 จุด แต่ด้วยยังมีระยะเวลาการขายอีก 1 ปี จึงมีเวลาที่จะดูสถานการณ์ไปได้อีกระยะหนึ่ง ปัจจุบันมีบริษัทที่ยื่นแบบ filing ขอเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่รวมแล้วกว่า 40 บริษัท ได้รับการอนุมัติไปแล้ว จำนวน 20 บริษัท และอยู่ระหว่างยื่นแบบ filing อีก 20 บริษัท ตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้กลุ่มบริษัทที่ได้รับการ Approved เกือบครึ่งชะลอการระดมทุนไป เพื่อรอดูช่วงจังหวะที่ดีกว่านี้ไปอีกระยะ...