สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ประกาศจัดตั้ง “ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่” (New TCDC)ใน 10 จังหวัด ได้แก่ 1.เชียงราย 2.นครราชสีมา 3.ปัตตานี 4.พิษณุโลก 5.แพร่ 6) ภูเก็ต 7.ศรีสะเกษ 8.สุรินทร์ 9.อุตรดิตถ์ และ 10.อุบลราชธานี
โดยแต่ละจังหวัดจะมีบริการรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า 'Creative Lab' ซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติการทางความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดจากความร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น มุ่งเน้นการค้นหา รวบรวม และต่อยอดเรื่องราวที่มีศักยภาพในท้องถิ่น (Empowering Local Stories) อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทักษะ (Upskill และ Reskill) ให้แก่นักสร้างสรรค์ คนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการ และชุมชน เพื่อยกระดับสินค้าและบริการผ่าน Service Design พร้อมอุปกรณ์ภาพ เสียง และซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย เชื่อมโยงผู้ให้บริการในท้องถิ่น พัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ ตลอดจนคอนเทนต์ในการเล่าเรื่องให้ดีขึ้นทั้งด้านการใช้งานและความรู้สึก ตอบโจทย์ผู้บริโภคและมีเอกลักษณ์น่าสนใจมากขึ้น
สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างระบบนิเวศสร้างสรรค์ให้เติบโตทั่วประเทศ ด้วยการ 'สร้างคน' และ 'เพิ่มทักษะ' ด้านความคิดสร้างสรรค์ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในด้านการท่องเที่ยว ศิลปะและการออกแบบ งานคราฟต์ อาหาร งานเทศกาลสร้างสรรค์ ภาพยนตร์และดนตรี และแฟชั่น โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในแต่ละภูมิภาคสู่ระดับสากล
สำหรับ ‘Creative Lab’ ในแต่ละจังหวัด จะเป็นเสมือนห้องทดลองเชิงปฏิบัติที่มีรูปแบบเฉพาะตามจุดเด่นและเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่มาเป็นแกนหลักในการสร้างเนื้อหาสนับสนุน เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้มีมูลค่าสูง ดังนี้
1. เชียงราย - Wellness Lab
ปฏิวัติวงการสุขภาพด้วย Service Design ที่ยกระดับสินค้าและบริการเพื่อชีวิต โดยนำเทรนด์เฮลธ์แคร์ใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งทางด้านอาหาร การบริการด้านสุขภาพ เช่น รีสอร์ท สปา โรงพยาบาล และศูนย์ดูแลสุขภาพ เพื่อเสริมสร้างทักษะและความรู้ด้านสุขภาพแนวใหม่ พัฒนาการแพทย์แผนไทยและสนับสนุนการวิจัยสมุนไพรให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ด้านสุขภาพในระดับท้องถิ่น
2. นครราชสีมา - Creator Lab
เปิดโอกาสให้กับนักสร้างสรรค์ ได้ปลดล็อกทักษะในการออกแบบประสบการณ์ (Experience Design) ผ่านการทดลองพัฒนาสินค้าและบริการท้องถิ่นสู่มิติใหม่ โดยเน้นการสร้างเอกลักษณ์ (Identity) และการเล่าเรื่อง (Storytelling) ที่ล้ำสมัย ให้ตอบโจทย์คนเจนเนอเรชั่นใหม่ในรูปแบบที่สร้างสรรค์ เพื่อผลักดันให้สินค้าและบริการเติบโตอย่างยั่งยืน
3. ปัตตานี - Cultural Lab
เน้นการผสมผสานทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่น 3 สัญชาติ ระหว่างไทย จีน และมลายูอย่างลงตัว เข้ากับข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค (Consumer Insights) จนสามารถพัฒนาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของวัฒนธรรมท้องถิ่นในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) โดยเน้นการสร้างประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ (Unique Experience) ผ่านการ ผสมผสานวัฒนธรรมกับเทรนด์โลกได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
4. พิษณุโลก - City Lab
แหล่งบ่มเพาะทักษะของนักสร้างสรรค์เมืองยุคใหม่ กับแหล่งการทดลองต้นแบบ ที่จะช่วยปลุกชีวิตให้เมืองด้วยไอเดียสุดล้ำ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิต ผ่านการนำทรัพยากรท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ศิลปะดั้งเดิม และประวัติศาสตร์ ผ่าน Interactive Experience ให้พิษณุโลกกลายเป็นพื้นที่ที่มีชีวิตชีวาและศักยภาพที่ไม่สิ้นสุดในฐานะเมืองต้นแบบที่สมัยใหม่
5. แพร่ - Forest Lab
เปิดประตูสู่นวัตกรรมไม้แห่งอนาคต ที่มุ่งพัฒนาทักษะการเพิ่มสร้างคุณค่าให้อุตสาหกรรมไม้อย่างยั่งยืน เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ และเสริมสร้างการต่อยอดทักษะ (Upskill) งานไม้ในทุกมิติตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ด้วย 3 กลยุทธ์หลัก คือ พัฒนาศักยภาพผู้เชี่ยวชาญด้านไม้, สร้างฐานข้อมูลมรดกสถาปัตยกรรมและเฟอร์นิเจอร์ไม้ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ไม้ เพื่ออนุรักษ์และต่อยอดงานสร้างสรรค์จากไม้ให้คงอยู่สืบไปและเกิดการสร้างสรรค์สินค้าไม้ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
6. ภูเก็ต - Tourism Lab
เปิดให้ทดลองเชิงปฏิบัติ เพื่อสร้างโอกาสยกระดับเทรนด์การท่องเที่ยวในมิติใหม่ ที่จะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยชูเรื่อง Sustainable Tourism ที่เป็นไอเดียการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนในความหลากหลายทางเชื้อชาติ ตลอดจนการต่อยอดทักษะเพื่อพัฒนาเมืองภูเก็ตในฐานะเมืองท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ และสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างจุดหมายปลายทางใหม่ (New Destination Concepts) พร้อมยกระดับ Hospitality ให้เทียบชั้นระดับโลก
7. ศรีสะเกษ - Music & Film Lab
สร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ ศิลปิน และ ธุรกิจสร้างสรรค์ได้เพิ่มทักษะด้านดนตรีและภาพยนตร์สุดครีเอทีฟ โดยนำเรื่องราวที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ใหม่ (Local Table) ในรูปแบบร่วมสมัย พร้อมส่งเสริมการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ให้เกิดผลงานที่ทันสมัยและเป็นสากล
8. สุรินทร์ – Silk Lab
ผลักดันการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าไหม สินค้าหัตถกรรมขึ้นชื่อจังหวัด ด้วยแนวคิด Innovative Textile โดยนักออกแบบ ผู้ประกอบการ และ ชุมชน ในการนำเสนอการใช้งานไหมในรูปแบบ Everyday Silk ที่สามารถใช้ได้ทุกวันและหลายโอกาส พร้อมยกระดับ "ไหม" สู่แบรนด์ระดับโลก พัฒนาทักษะการแปลงงานศิลปะเป็นสินค้า Fashion Tech สร้างรายได้ยั่งยืนให้ชุมชน เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ที่แท้จริง
9. อุตรดิตถ์ - Agri-Value Lab
ปลุกพลังสร้างสรรค์ด้านเกษตรกรรม เพื่อยกระดับทักษะในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร โดยเน้นการพัฒนาวัสดุฐานชีวภาพ (Bio-based Materials) และ ต่อยอดการแปรรูปวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแบบหมุนเวียน (Circular Fashion) มาสร้างอัตลักษณ์ พร้อมบรรจุภัณฑ์ที่โดดเด่นทันสมัย (Modernization) จากทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการจากผลิตผลการเกษตรในท้องถิ่น
10. อุบลราชธานี - Festival Lab
สร้างพื้นที่ศูนย์กลางการรวมพลังความคิดสร้างสรรค์ และส่งเสริมห่วงโซ่ที่สร้างคุณค่า ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรมในการยกระดับงานเทศกาลสู่เวทีโลก ด้วยการผสมผสานศิลปะ เทคโนโลยี และวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างลงตัว นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน และสะท้อนไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัยของผู้คนทั้งในจังหวัดและทั่วประเทศ
ทั้งนี้ Creative Lab ของ TCDC ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการเสริมพลังให้แก่นักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ และชุมชน ผสานองค์ความรู้ดั้งเดิมเข้ากับนวัตกรรมสมัยใหม่ เป็นศูนย์กลางแห่งการสร้างสรรค์ จะทำหน้าที่เป็นเหมือนเบ้าหลอมสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้แปรเปลี่ยนเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ ยังเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง พร้อมก้าวสู่เวทีการแข่งขันในตลาดโลก