โชห่วย-ห้างร้าน ลุ้นอานิสงส์เงิน 10,000 บาท ดันยอดใช้จ่ายคึกคัก

27 ก.ย. 2567 | 22:23 น.

โชห่วย - ห้าง ร้านค้า ชี้แจกเงิน 10,000 บาท ได้อานิสงส์เล็กน้อย หวั่นกลุ่มเปราะบางนำไปใช้หนี้ทั้งในและนอกระบบ คาดปลุกเศรษฐกิจระยะสั้น กลุ่ม Local Modern Trade ขนทัพสินค้าอัดโปร 10-15% ลุ้นยอดใช้จ่าย 2,000-3,000 บาท

การเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการแจกเงิน 10,000 บาท ถือเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” โดยเริ่มต้นเป็นการแจกเงินให้กับกลุ่มเปราะบางจำนวน 14.5 ล้านคน ทั้งกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐบัตรคนจน 13.5 ล้านคน และกลุ่มคนพิการ 1 ล้านคน ในระหว่างวันที่ 25-30 กันยายนนี้ ด้วยงบประมาณ 1.45 แสนล้านบาท ซึ่งเงินดังกล่าวจะถูกนำมาใช้จ่าย เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจได้จริงหรือ

นายสมชาย พรรัตนเจริญ ที่ปรึกษากิติมศักดิ์ สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เดิมทีนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตนั้นเป็นโครงการที่หวังกระตุ้นเศรษฐกิจในวงกว้างในต่างจังหวัด เป็นการกระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการรายย่อย แต่เมื่อปรับเปลี่ยนเป็นการแจกเงินสด มองว่าแม้จะเป็นมาตรการที่ดีที่ช่วยให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่ก็อาจทำให้เงินไปตกอยู่กับกลุ่ม “เสือนอนกิน” ไม่ยั่งยืน

มาตรการแจกเงินสด 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้สร้างความหวังให้กับประชาชนจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดคำถามและความกังวลหลายประการ ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพของมาตรการ การบริหารจัดการ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจระยะยาว”

โชห่วย-ห้างร้าน ลุ้นอานิสงส์เงิน 10,000 บาท ดันยอดใช้จ่ายคึกคัก

ทั้งนี้ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน โดยควรมีข้อจำกัดในการใช้เงิน เมื่อเงินสด 10,000 บาท อยู่ในมือของประชาชน เช่น ผู้ที่เป็นหนี้กับเจ้าหนี้ที่อยู่นอกระบบอาจนำเงินที่ได้รับไปใช้หนี้ ทำให้ประโยชน์จากมาตรการลดลง นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่าเจ้าหนี้โหดอาจจะเร่งรัดให้ชำระหนี้มากขึ้น รวมถึงยังไม่แน่ใจว่าเงินที่แจกจะถูกนำไปใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจจริงหรือไม่ หรือจะถูกเก็บสะสมไว้ หรือใช้ชำระหนี้แทน

ส่งผลให้แผนที่คาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นไม่ยั่งยืน การกู้เงินจำนวนมากเพื่อมาแจก อาจสร้างภาระทางการเงินให้กับประเทศในระยะยาว และยังไม่แน่ใจว่าจะส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้ตามที่รัฐคาดหวัง ทั้งนี้ยังมีข้อกังวลว่าเงินส่วนใหญ่จะตกไปอยู่ในมือของกลุ่มทุนมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย นอกจากนี้การเพิ่มกำลังซื้ออาจทำให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น

“การรับมือของผู้ประกอบการรายย่อย ระดับบนและระดับกลาง เช่น ร้านโชห่วย ร้านค้าปลีกภูธร เชื่อมั่นว่ามีการเตรียมพร้อมกับการจับจ่ายของภาคประชาชนในพื้นที่ไว้แล้ว ในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อยระดับล่าง อย่างร้านค้าหาบแร่ แผงลอยนั้น น่ากังวลเนื่องจากผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าว กังวลเรื่องของการเก็บภาษีย้อนหลัง

สมชาย พรรัตนเจริญ

การแจกเงินเป็นเพียงมาตรการบรรเทาปัญหาในระยะสั้น และรัฐบาลควรมีมาตรการระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ ประเด็นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการแจกเงินเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและมีหลายมิติที่ต้องพิจารณา ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง”

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง รายใหญ่ในภาคอีสาน กล่าวว่า ในกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง รวมกว่า 90 ราย หรือกลุ่มร้านค้า Local Modern Trade (LMT) ได้พูดคุยหารือกันถึงความพร้อมในการเตรียมรับเงิน 10,000 บาท

จากการซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคหลายครั้งและรอความชัดเจนจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการให้ในรูปแบบของเงินสด แน่นอนว่าผู้ประกอบการต่างรอรับอานิสงส์ในส่วนนี้ เพราะเชื่อว่าจะเกิดความคึกคักในการจับจ่ายซื้อสินค้า สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง และครั้งนี้ก็รวมตัวกันจัดโปรโมชั่นลดราคากระตุ้นการขายแล้วด้วยการลดราคาสินค้าเฉลี่ย 10-15% ตั้งแต่ช่วงวันที่ 20 ก.ย. - 10 ต.ค. 67

มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์

“เงิน 10,000 บาท ในกลุ่มเปราะบางอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงแต่ไม่มากนัก เพราะกลุ่มเปราะบางส่วนใหญ่คือคนยากจน มีหนี้สินติดตัว บางคนเล่นการพนัน ติดเหล้า เล่นหวย เงินที่ได้มาจะสามารถใช้จ่ายได้อย่างอิสระ ไม่ได้ถูกตีกรอบอยู่ในระบบ ฉะนั้นเกรงว่าคนกลุ่มนี้จะนำเงินไปใช้จ่ายอย่างเปล่าประโยชน์ ถ้าร้าน LMT จัดโปรโมชันดึงให้กลุ่มเปราะบางนำเงินมาใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้ถึง 2,000 บาทก็เก่งมากแล้ว”

ด้าน เภสัชกรหญิงอมร พุฒิพิริยะ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนพิริยะ (TNP) กล่าวว่า ธนพิริยะ ก็เป็น 1 ในร้านค้า Local Modern Trade ที่ร่วมลดราคาสินค้า Local Low Cost มากกว่า 10,00 รายการ คาดหวังว่าจะสามารถดึงให้กลุ่มเปราะบางเข้ามาซื้อสินค้าได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท จาก 10,000 บาท แม้กังวลว่าเงินส่วนนี้จะถูกนำไปใช้หนี้หลายส่วน

แต่เชื่อว่าสินค้าอุปโภคบริโภคคือสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน ได้รับความสนใจมากกว่าสินค้าฟุ่มเฟือยอื่นๆ ซึ่งธนพิริยะที่มีสาขากระจายตัวอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมก็หวังว่า โค้งสุดท้ายของปี 2567 เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ทันภายใน 2-3 เดือนนี้ ด้วยเงิน 10,000 บาท แม้กำลังซื้อของคนในพื้นที่ไม่ค่อยดีนัก แต่กำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวหรือคนในพื้นที่อื่นคงเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง

นายสุภัค หมื่นนิกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีซี่ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล แฟรนไชส์ จำกัด สะท้อนภาพให้ฟังว่า การใช้เงิน 10,000 บาท ของกลุ่มเปราะบาง ส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ชำระหนี้สินที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้นอกระบบกับบุคคลใกล้ชิด หรือหนี้สินอื่น ๆ ที่ค้างชำระ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาระหนี้สินที่กลุ่มเปราะบางต้องแบกรับ และความจำเป็นเร่งด่วนในการชำระหนี้เหล่านี้

นอกจากนี้ เงินส่วนหนึ่งยังถูกนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะค่าอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต กลุ่มเปราะบางจำนวนมากต้องประสบปัญหาในการหาเลี้ยงชีพและมีรายได้ที่จำกัด ทำให้ต้องเลือกซื้ออาหารที่มีราคาถูกและมีคุณค่าทางอาหารน้อยกว่า เช่น มาม่า เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและเพียงพอ

“ในฐานะผู้ประกอบการมองว่าภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มักนิยมบริโภคอาหารตามร้านค้าขนาดเล็กหรือตลาดนัด เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ ผู้ประกอบการควรมีแผนกระตุ้นการขายที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ขณะเดียวกันภาครัฐควรส่งเสริม จัดประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร และมีโอกาสเข้าถึงสินค้าและบริการในราคาที่เอื้อมถึงได้มากขึ้น

 

หน้า 15 ฉบับที่ 4,031 วันที่ 29 ก.ย. - 2 ต.ค. พ.ศ. 2567