นายฮันส์ สโตเตอร์ กรรมการผู้จัดการประจำเอเชียและจีน ของ Messe Stuttgart – ผู้จัดงาน didacta asia กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันการศึกษาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การมีความเข้าใจมุมมองใหม่ รู้จักปรับความรู้ ทักษะ ให้เท่าทันความก้าวหน้า และความเปลี่ยนแปลงของโลก จะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้คนและสังคมรวมไปถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจมีความก้าวหน้าจากนวัตกรรมความเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่เกิดขึ้น
และเพื่อเป็นการยกระดับแลกเปลี่ยนความรู้และนวัตกรรมทางการศึกษา ให้แก่สถาบันการศึกษา ครู อาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ให้บริการเทคโนโลยีด้านการเรียนการสอน สมาคมการศึกษาและผู้นำด้านการจัดงานแสดงสินค้าจากประเทศเยอรมันนำโดย Didacta Association, Koelnmesse Thailand / Expolink Global Network Ltd. และ Messe Stuttgart ได้เตรียมจัดงาน didacta asia 2024 ครั้งใหญ่
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้าง พร้อมผลักดันระบบการศึกษาทุกระดับให้มีประสิทธิภาพสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างมีคุณภาพทั้งในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย
สำหรับงาน didacta asia 2024 จะจัดขึ้นหว่างวันที่ 16 - 18 ตุลาคม 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและ การประชุมไบเทค บางนา ภายใต้แนวคิด Shaping the Future Skills มุ่งเน้นแนวคิด สร้างทักษะเพื่ออนาคต ด้วยการเน้นใช้เทคโนโลยีมายกระดับการเรียนการสอน และพัฒนาการเรียนรู้ในทุกระดับการศึกษา ผสานกับการเรียนการสอนยุคใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพของการศึกษาในภูมิภาค
โดยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานการศึกษาในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ในรูปแบบการจัดประชุมระดับนานาชาติ (didacta asia congress), การเปิดเวทีให้บุคลากรทางการศึกษา และผู้มีส่วนร่วม เข้ามาแบ่งปันประสบการณ์ ร่วมพัฒนาการศึกษาแห่งอนาคต จากผู้นำในวงการการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ (didacta asia Forum), การจัดมหกรรมแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา นำเสนอนวัตกรรม โซลูชัน ใหม่ๆ ให้ทดลองใช้ พร้อมจำหน่ายในราคาพิเศษ บนพื้นที่จัดแสดงกว่า 1,500 ตารางเมตร
รวมถึงพาวิลเลียนพิเศษจากประเทศเยอรมนี ฮ่องกง จีน และเกาหลีใต้ เป็นต้น (didacta Trade Fair & International Pavilions) และการจัดแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์ ด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ครั้งที่ 3 ชิงถ้วยพระราชทานฯ ในระดับอุดมศึกษา และ อาชีวศึกษา (Skill Competition)
ภายในงานยังมีหัวข้อการสัมมนามากมายที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเวทีระดับรัฐมนตรี ในหัวข้อ นโยบายการศึกษาเท่าเทียมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรรยายโดย ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬา กัมพูชา, เวทีเสวนา European-Asian-Pacific Dialogue Forum โดยภาคีหน่วยงานอาชีวศึกษาจากเยอรมนี ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์ ใน หัวข้อหลัก ความท้าทายในการพัฒนาการศึกษา และการฝึกอบรมวิชาชีพให้มีความยืดหยุ่น ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ ถอดบทเรียนจากการเข้าไปช่วยฝึกสอนจริงในหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บัลกาเรีย และเซอร์เบีย
นอกจากนี้ยังมีเสวนาในเรื่อง AI หรือครู ใครเก่งกว่ากัน จากผู้ทรงคุณวุฒิของประเทศไทย อาทิ เลาขาธิการคุรุสภา ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสเคิร์ฟ จำกัด และ นายกสมาคมเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา และเสวนาปั้นอนาคตด้วย AI: เพิ่มหลักสูตรพลิกเกมในการศึกษาระบบ K-12
โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โดยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่กำลังจะกลายเป็นหลักสูตรใหม่ที่จะเตรียมความพร้อมให้เด็กๆ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้เรียนรู้พื้นฐานและการประยุกต์ใช้ AI ในชีวิตจริงอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ก้าวทันเข้าสู่โลกเทคโนโลยีอย่างมั่นใจ ทั้งยังได้ฝึกเป็นนักคิด นักพัฒนา และผู้ใช้เทคโนโลยีที่รับผิดชอบต่อสังคม
อย่างไรก็ตาม จากความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่ร่วมกันจัดงาน didacta asia 2024 ในครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและบริษัทเทคโนโลยี รวมถึงการเพิ่มความรู้และทักษะให้กับผู้เข้าร่วมในด้านการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในการศึกษา พร้อมการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาและการนำไปใช้ในวงการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย และสร้างการรับรู้และขยายตลาดทางการศึกษาสำหรับผู้ประกอบการ ในอนาคตได้อย่างยั่งยืนต่อไป