net-zero

TCMA ยกระดับ "สระบุรีแซนด์บ็อกซ์" เมืองคาร์บอนต่ำ ต้นแบบนวัตกรรมระดับโลก

    TCMA ยกระดับ "สระบุรีแซนด์บ็อกซ์" เมืองคาร์บอนต่ำ ต้นแบบนวัตกรรมระดับโลก เดินหน้าเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสีเขียว เสริมสร้างศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ ชี้เป็นการลงมือปฏิบัติเชิงพื้นที่

ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยความก้าวหน้าโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ ว่า ล่าสุดสามารถผลักดันให้เข้าร่วมโครงการระดับโลก Transitioning Industrial Clusters Initiative 

โดย World Economic Forum ถือเป็นคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมแรกของไทย เป็นลำดับที่ 3 ของอาเซียน และเป็นลำดับที่ 21 ของโลก ในการเสริมความร่วมมือแห่งการลงมือทำ นำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีต เร่งเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) สนับสนุนเป้าหมายเมืองคาร์บอนต่ำ

"สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ได้รับการยอมรับในเวทีระดับโลก ถึงความโดดเด่นด้านแนวคิดการขับเคลื่อน การเป็นต้นแบบนิเวศนวัตกรรมการทำงานร่วมกันเชิงพื้นที่อย่างจริงจัง ระหว่างภาครัฐ-ภาคเอกชน-ภาคประชาสังคม ที่มีเป้าหมายมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งการดำเนินงานที่มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก หรือปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ ในงานก่อสร้างทั่วประเทศ และเป้าหมายยกเลิกการผลิตปูนซีเมนต์คาร์บอนสูงในปี พ.ศ. 2568 เป็นต้น"  
 

ทั้งนี้ การที่สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ Transitioning Industrial Clusters Initiative ถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญของการร่วมกันขับเคลื่อนสระบุรีแซนด์บ็อกซ์สู่เมืองคาร์บอนต่ำ รวมทั้งเป็นการย้ำจุดยืนและศักยภาพของ TCMA และสมาชิกซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยทุกราย ที่พร้อมดำเนินงานร่วมกับคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ 

TCMA ยกระดับ "สระบุรีแซนด์บ็อกซ์" เมืองคาร์บอนต่ำ ต้นแบบนวัตกรรมระดับโลก

โดยการสนับสนุนของภาครัฐ เร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสีเขียว เสริมสร้างศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ สร้างผลลัพธ์แบบ win-win-win เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายผ่านแนวทางดำเนินงานด้านเทคโนโลยี ด้านนโยบาย ด้านความร่วมมือ และด้านการเงิน ผสมผสานกับแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดจากสมาชิก Transitioning Industrial Clusters Initiative

สำหรับสระบุรีแซนด์บ็อกซ์นั้น เป็นการลงมือปฏิบัติเชิงพื้นที่ (Area Based) ที่จำลองจังหวัดสระบุรีให้เป็นเสมือนตัวแทนประเทศไทย เป็นต้นแบบแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก ด้วยแนวคิด 3C การสื่อสารสร้างความเข้าใจ-การร่วมลงมือทำ-การสรุปถอดบทเรียนเพื่อการพัฒนาต่อยอดขยายผล (Communication-Collaborative Action-Conclusion step-by-step) ผ่านโครงการต้นแบบที่สอดคล้องกับ Thailand NDC Roadmap ที่มีเป้าหมายนำประเทศไทยสู่การปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ 
 

TCMA ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องกับทั้งภาครัฐ-ภาคเอกชน-ภาคประชาสังคม ครอบคลุม 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Processes and Product Use : IPPU) ด้านพลังงาน (Energy) ด้านการจัดการของเสีย (Waste) ด้านการเกษตร (Agriculture) และด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use, Land-Use Change and Forestry : LULUCF) 

"การมีโครงการต้นแบบเหล่านี้มาก ๆ จะเป็นตัวอย่าง ทำให้เห็นแนวทางดำเนินการ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เรื่องใดทำได้จะนำไปขยายผลสู่จังหวัดอื่น เรื่องใดติดขัดก็นำมาหาแนวทางแก้ไขหรือหาทางออกที่ดีต่อไป"