ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นเผชิญกับการแข่งขันที่สูงมาก โดยเฉพาะในศูนย์การค้า ซึ่งเป็นทำเลที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการเข้าไปตั้งร้าน แต่ด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้น ค่าวัตถุดิบที่ปรับตัวตามสถานการณ์สงคราม และการปรับขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ
ทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูงขึ้นอย่างมาก การเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าจึงกลายเป็นภาระที่หนัก เนื่องจากต้องแบกรับค่าเช่าที่ค่อนข้างสูง รวมถึงค่าส่วนแบ่งรายได้ (GP) ให้กับทางศูนย์การค้าอีกด้วย
นายเอกฤกษ์ แสงเสรีดำรง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAGURO กล่าวว่า เพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ร้านอาหารญี่ปุ่นของเราจึงหันมาเปิดร้านแบบสแตนอโลนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีกว่า และมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
สอดคล้องกับตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ปัจจุบันพบว่าในประเทศไทยมีร้านอาหารญี่ปุ่นมากกว่า 5,000 ร้าน และมีมูลค่ารวมกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 6.25% ของตลาดร้านอาหารทั้งหมดที่มีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาทโดยมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 8% จากคนไทยที่นิยมทานอาหารญี่ปุ่น ด้วยรสชาติถูกปาก ประกอบกับมีเมนูหลากหลาย
ถึงจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นที่มากขึ้นบ่งบอกถึงการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดนี้ แต่ตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นยังคงมีศักยภาพในการเติบโต เนื่องจากความนิยมของอาหารญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดMAGURO ได้เปิดตัวโครงการใหม่ “The Flavorhood” เป็นครั้งแรก เพื่อเป็น Food Destination หรือ ศูนย์รวมความอร่อยแห่งใหม่ ในเนเบอร์ฮูด (โดยการนำ Flavor หรือรสชาติมาคอลแลบกับ ย่านชุมชน) The Flavorhood ประดิษฐ์มนูธรรม
เป็นโครงการแรกของเรา ซึ่งมีจุดเด่นคือการนำ 3 ร้านอาหารในเครือมาไว้ในที่เดียวกัน คือ ร้าน MAGURO, ร้าน HITORI SHABU และร้านอาหารแบรนด์ใหม่รูปแบบ All day dining (ที่คาดว่าจะสามารถเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้ภายในปลายไตรมาสที่ 4 ของปีนี้) บนพื้นที่กว่า 2 ไร่ของโครงการ
นายเอกฤกษ์ กล่าวว่า เหตุผลสำคัญในการเลือก ย่านประดิษฐ์มนูธรรม เป็นทำเลแรกในการเปิดตัว The Flavorhood เป็นเพราะศักยภาพของกลุ่มลูกค้าในย่านนี้ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ MAGURO และ HITORI SHABU อีกทั้งยังไม่มีสาขาของแบรนด์เราในย่านลาดพร้าวมาก่อน ทำให้มองเห็นโอกาสในการขยายฐานลูกค้า
ย่านประดิษฐ์มนูธรรม ถือเป็นแหล่งชุมชนที่มีศักยภาพสูง มีกำลังซื้อที่ดี และมีความต้องการในรูปแบบของร้านอาหารที่หลากหลาย ซึ่งสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ของ The Flavorhood เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนในย่านนี้
การลงทุน 70 ล้านบาท ในโครงการนี้ ถือเป็นการลงทุนที่สำคัญของ MAGURO และสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจในศักยภาพของตลาดและความเชื่อมั่นในแบรนด์ของตัวเอง โดยบริษัทคาดว่าจะสามารถ คืนทุนได้ภายใน 2 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าของการลงทุนและความสามารถในการสร้างผลตอบแทนที่รวดเร็ว
การเปิดร้านสแตนอโลนเป็นกลยุทธ์ของ MAGURO ที่ช่วยให้บริษัทสามารถลดต้นทุน เพิ่มความยืดหยุ่นขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งขึ้น และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด
ทั้งนี้ปัจจุบัน MAGURO Group มีร้านอาหารในเครือ รวมทั้งหมด 34 สาขาจาก 5 แบรนด์ คือ
1.) MAGURO ร้านอาหารญี่ปุ่นและซูชิสไตล์ระดับพรีเมียม 18 สาขา
2.) SSAMTHING TOGETHER ร้านปิ้งย่างสไตล์เกาหลีวัตถุดิบพรีเมียม 6 สาขา
3.) HITORI SHABU ร้านชาบูและสุกี้ยากี้ หม้อเดี่ยวสไตล์คันไซ 10 สาขา
4.) HITORI SUKIYAKI ร้านสุกี้ยากี้คันไซแบบดั้งเดิม
5.) Tonkatsu AOKI ร้านสุดยอดทงคัตสึต้นตำรับจากประเทศญี่ปุ่น ที่เตรียมเปิดภายในไตรมาส 4 ของปีนี้