ดัชนี RSI (Retail Sentimental Index ) ภาคธุรกิจค้าปลีกและบริการจากเดือน ม.ค. 2566 – พ.ย. 2567 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก RSI (Retail Sentimental Index ) ขึ้นมายืนเหนือระดับ 50 จุด เพียง 2 ช่วง คือ ช่วงเดือนมกราคม 2567 และเดือนตุลาคม 2567 นอกนั้น ดัชนี RSI ลดลงต่ำกว่า 50 จุด ภาพสะท้อนต่างๆ ทำให้ประมาณการณ์ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกและบริการในปีนี้ได้ว่าจะมีมูลค่าราว 4.4 ล้านล้านบาท เติบโต 2-4 % เมื่อเทียบกับ GDP ปี 2567 ที่คาดว่าทั้งปีจะเติบโตเพียง 2.6 %
ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ นักวิชาการด้านค้าปลีก เล่าให้ “ฐานเศรษฐกิจ” ฟังว่า ภาคการค้าปลีกค้าส่งและบริการ ปี 2567 ฟื้นตัวช้าๆอย่างไม่สมดุล สาเหตุสำคัญมาจาก 1. การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจผิดเป้าหมายไปมาก รัฐบาลชุดแรกตั้งเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2567 ไว้ที่ 3.5 - 4.0% เป็นผลให้ภาคเอกชนคาดการณ์การการผลิตและสินค้าคงคลัง Inventory เกินจากที่ควรเป็นเป็นจำนวนมาก
2. การลงทุนภาคเอกชน หดตัวลงไปถึง -6.8% ต่อปี ทั้งการลงทุนในเครื่องจักรและการก่อสร้าง ทำให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคเอกชนหายไป ส่งผลให้การจ้างงานและการบริโภคหดตัวลงด้วย
3. การจัดทำงบประมาณปี 2567 ล่าช้า ทำให้การเบิกจ่ายเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจล่าช้าตามไปด้วย โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน จบปีงบประมาณเดือน ก.ย.2567 มียอดลงทุนเพียง 6.8 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายเพียง 65.2% จากรายจ่ายลงทุน 1.05 ล้านล้านบาท เป็นผลให้เม็ดเงินพร่องไปจากระบบ
4. หนี้ครัวเรือน ยังอยู่ในระดับสูงบั่นทอนกำลังซื้อ โดยสูงทะลุ 90% ของ GDP มาแล้ว 4 ปี ทำให้พี่น้องประชาชนจับจ่ายใช้สอยได้ไม่เต็มที่ เพราะรายได้ที่ได้มาก็ต้องนำไปผ่อนหนี้ก่อน
5. หนี้ภาคธุรกิจก็อยู่ในระดับสูงเช่นกัน โดยเฉพาะกิจการร้านค้า SMEs ที่ยังมีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ โดยสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans. NPLs) ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 75%
6. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่แรงพอ โดยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการในช่วงปลายเดือน ก.ย.2567 โดยการให้เงิน 10,000 บาทต่อคน จำนวน 14.5 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 1.45 แสนล้านบาท
7. ความเสียหายจากน้ำท่วม ทำลายเศรษฐกิจ เรือกสวนไร่นา บ้านเรือน รถยนต์ อุปกรณ์ทำมาหากิน ถนนหนทาง ได้รับความเสียหาย ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู และ 8. ภาคค้าปลีกและบริการฟื้นตัวแบบไม่แข็งแกร่ง จากการฟื้นตัวมาจากภาคการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ซึ่งมีผลน้อยมากต่อโครงสร้างค้าปลีกและบริการ
“ปี 2567 เป็นปีที่น่าผิดหวังสำหรับธุรกิจการค้าปลีกค้าส่งและบริการที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก RSI เพิ่มขึ้นเหนือระดับค่ากลางที่ 50 จุด เพียงเดือนเดียวคือเดือนมกราคม จากนั้น ดัชนี RSI ก็ซึมลึกซึมยาวต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี ต่ำกว่าค่ากลาง 50 จุด”
อย่างไรก็ดี การเติบโตของภาคค้าปลีกใน ปี 2568 “ดร.ฉัตรชัย” สะท้อนให้ฟังว่า เชื่อว่าธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและบริการจะค่อยๆฟื้นตัวอย่างไม่สมดุล แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ 7 เงื่อนไข ได้แก่
1. โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐปี 2568 ต้องชัดเจนตรงเป้าหมายและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นการบริโภคผ่านโครงการต่าง ๆ
2. รัฐบาลต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เนื่องจากการจัดทำงบประมาณปี 2568 ไม่ล่าช้าเหมือนปี 2567 งบรายจ่ายลงทุนภาครัฐ ปี 2568 ที่ตั้งไว้ 9.6 แสนล้านบาทต้องพยายามให้อัตราการเบิกจ่ายจริงและต่อเนื่อง
3. รัฐต้องมีแผนเร่งรัดกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน คือ ต้องให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ นำไปสู่การจ้างงานและการสร้างงานอย่างต่อเนื่อง ให้กับประชาชนได้เป็นจำนวนมาก ด้วยการจัดการกับปัญหาโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจอย่างจริงจัง และเร่งดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ซึ่งจะเป็นกุญแจดอกสำคัญในการจ้างงานและสร้างรายได้ ให้กับประชาชน
4. แผนส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวต้องเป็นไปตามเป้า ภาคการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยซึ่งสร้างรายได้สูงถึง 3 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 18% ของ GDP แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 2 ใน 3 และนักท่องเที่ยวไทย 1 ใน 3 รวมถึงสร้างการจ้างงานกว่า 7 ล้านคน หรือ 20% ของการจ้างงาน
5. การส่งเสริมการท่องเที่ยวต้องมุ่งกลุ่ม Luxury + Experience Style แม้ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศปีนี้น่าจะอยู่ที่ 37-38 ล้านคน ใกล้เคียงกับระดับก่อนเจอสถานการณ์โควิด-19 แต่การใช้จ่ายน่าอยู่ที่ 4.7 – 4.8 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป เท่านั้น น้อยกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ที่สูงมากกว่า 5 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป ภาครัฐต้องมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวให้ได้ตลอดทั้งปีและมาใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น อาทิ มาตรการลดภาษีนำเข้าสินค้า Luxury และ Lifestyle เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ
6. ปัญหาหนี้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ด้วยระดับหนี้ที่สูงของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ขณะที่พื้นที่การคลังของรัฐบาลก็เหลือน้อยจากระดับหนี้สาธารณะที่สูงจนใกล้ระดับ 70% ซึ่งเป็นระดับหนี้เพดานหนี้สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น “หนี้ครัวเรือน” ซึ่งคนไทย 25.5 ล้านคน หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรไทย มีหนี้ คิดเป็นประมาณ 91% ของ GDP ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 67% ของบัญชีหนี้เป็นสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต
“หนี้ธุรกิจ” โดยเฉพาะ SMEs เนื่องจาก SMEs เป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ของมูลค่าผลผลิตและการจ้างงาน สำหรับไทย SMEs มีสัดส่วน 43% ต่อ GDP และเป็นแหล่งจ้างงานจำนวนกว่า 14 ล้านคนหรือ 85% ของแรงงานทั้งประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการค้าและบริการ
จากข้อมูลปัจจุบัน ลูกหนี้ SMEs กว่า 5 ล้านบัญชี เป็นมูลค่ากว่า 3.8 แสนล้านบาท และ “หนี้สาธารณะ” ที่พบว่า ณ เดือนก.ย. 67 มีมูลค่า 63.8% ของ GDP หรือราว 11.6 ล้านล้านบาท และเป็นเงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการบริหารหนี้ 7.3 ล้านล้านบาท
7. ผลกระทบปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศหากรุนแรงขึ้น โดยผลกระทบจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อขยับสูงขึ้น ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น ปัญหาจากการขนส่งขาดช่วง และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งทั้งหมดส่งผลต่อภาคค้าปลีกและบริการ หลักๆ ประเมินว่า จะกระทบกับการจ้างงาน รายได้จะหดตัว กำลังซื้อฟื้นตัวช้า
ทั้งนี้ประเมินว่าธุรกิจค้าปลีกและบริการในปี 2568 จะเติบโตราว 3-5 % เมื่อเทียบกับ GDP 2568 ที่คาดว่าจะเติบโต 3.5 % โดยกลุ่มห้างสรรพสินค้า-แฟชั่นความงาม-ไลฟ์สไตล์ สุขภาพและความงาม จะมียอดขายเติบโต 5-7 % จากแรงหนุนของภาคท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 40 ล้านคน
รวมถึงร้านค้าปลีกประเภท Restaurant - Food and Beverage Chain ซึ่งคาดว่าจะเติบโต 5-7% เช่นกัน ซึ่งแรงหนุนก็มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามา ขณะที่กลุ่มร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง ซ่อมบำรุง คาดว่าจะเติบโตราว 2-3% ใกล้เคียงกับปี 2567
ส่วนร้านค้าประเภท Convenience store Supermarket Hypermarket และร้านค้าส่งอุปโภคบริโภค คาดว่าจะเติบโตราว 2-4% เมื่อเทียบกับปี 2567 ที่เติบโตเพียง 0-3 % ส่งผลให้เกิดการเร่งเปิดสาขาเพิ่มขึ้นหลังจากหยุดชะลอจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งแรงหนุนให้ธุรกิจกลับมาเติบโต จะมาจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของภาครัฐที่จะไปเพิ่มกำลังซื้อฐานรากเป็นสำคัญ
สาเหตุสำคัญที่เศรษฐกิจฟื้นตัว มาจากการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นหลัก ดังนั้นภาคการค้าปลีกและบริการเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจที่เห็นผลเร็ว เพื่อเรียกความเชื่อมั่น ตามด้วยโครงการที่กระตุ้นอื่นๆ เช่นการแจกเงิน ด้วยกลไกใดๆก็ตาม จะทำให้เกิดพายุหมุนที่ย้อนกลับมาแบบไม่สูญเปล่า
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,053 วันที่ 15 - 18 ธันวาคม พ.ศ. 2567