ทอท.เร่งสรุปแผนการเงินก่อนทำดีล ดิลิเจนท์ บริหารจัดการ 3 สนามบินทย. โดยเช่าที่จากกรมธนารักษ์เป็นเวลา 30 ปี ทยอยเข้าบริหารในปี 2566 พร้อมต่อยอดลงทุนขยายสนามบินอีกร่วม 1 หมื่นล้านบาท ทั้งปรับปรุงแผนสร้างสนามบินพังงา แก้ TOR จ้างที่ปรึกษาทางการเงินศึกษาเพิ่มเติม หลังได้สนามบินกระบี่เพิ่มเข้าพอร์ต
หลังจากครม.มีมติเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 เห็นชอบในหลักการให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท. หรือ AOT เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแล บริหารจัดการสนามบินอุดรธานี สนามบินบุรีรัมย์ และสนามบินกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.)
ล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างประมาณการงบการเงิน การจัดทำแผนการเงิน รวมถึงการทำดีล ดิลิเจนท์ เพื่อเข้าบริหารจัดการ 3 สนามบินนี้ในปี 2566 ภายใต้ระยะเวลา 30 ปี ใช้งบลงทุนเพิ่มอีกร่วม 1 หมื่นล้านบาท รวมไปถึงปรับปรุงแผนลงทุนสนามบินพังงาของ ทอท. ใหม่ให้สอดรับการกับบริหารจัดการสนามบินกระบี่
นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มติครม.ดังกล่าวเป็นการเห็นชอบในหลักการ ที่จะมอบความรับผิดชอบในการบริหารจัดการ ไม่ได้มีการโอนทรัพย์สินของรัฐไปให้กับทาง ทอท. แต่อย่างใด
แต่เป็นการมอบความรับผิดชอบในการบริหารจัดการ โดยในส่วนของทรัพย์สินที่เป็นที่ราชพัสดุ ทอท. ต้องไปดำเนินการทำสัญญาเช่าโดยตรงกับกรมธนารักษ์ และทอท.ต้องจ่ายค่าตอบแทนจากการใช้ทรัพย์สินให้กับรัฐตามกฏหมาย
ส่วนรายได้ของกรมท่าอากาศยานที่หายไป ทอท. จะเข้ามาสนับสนุนเงินให้ ทย. สามารถนำเงินมาใช้จ่ายตามภารกิจของ ทย. ในการพัฒนาท่าอากาศยานที่เหลือ โดยต้องเป็นการดำเนินการตามพ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งจะต้องมีการหารือในรายละเอียดร่วมกันก่อน จึงจะบอกว่าได้ ทอท. จะจ่ายเงินสนับสนุนให้ทย. เท่าไหร่
ทั้งการหารือในรายละเอียดจะรวมถึงเรื่องการเข้าใช้พื้นที่อันเป็นที่ตั้งของสนามบิน การจัดการทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ (ครุภัณฑ์) การบริหารจัดการด้านบุคลากร การดำเนินการขอใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ และการดำเนินการเกี่ยวกับงบประมาณของ ทย. ที่ได้รับจัดสรรแล้ว โดยจะดำเนินการตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการหารือเพื่อหาข้อสรุปในเรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ หลังจากที่ทย.และทอท.รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการตอบคำถามข้อคิดเห็นของหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ ที่มีการสอบถามในครม.ให้แล้วเสร็จเสียก่อน เพื่อรายงานให้ครม.รับทราบต่อไป นายปริญญา กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับการศึกษาเพิ่มเติมตามความเห็นของหน่วยงานต่างๆ อาทิ ผลกระทบต่อการบริหารจัดการสนามบินในภาพรวมของ ทย. เนื่องจากสนามบินกระบี่และอุดรธานี เป็นสนามบินที่มีผู้โดยสารใช้บริการมากสุดอันดับ 1 และอันดับ 2 ของทย.
ดังนั้นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการสนามบินในภาพรวมและต่อผู้ใช้บริการสูงสุดควรจะมีการจัดทำแบบจำลองทางการเงินที่ชัดเจน เพื่อประเมินฐานะการเงินและแนวโน้มกระแสเงินสดของทย.และเงินทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน
รวมไปถึงการหาข้อสรุปเกี่ยวกับจำนวนและมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ที่จะซื้อขายระหว่างกันอีกครั้ง ที่หลังจากครม.มีมติทย.จึงจะเข้าไปตรวจสอบสภาพ จำนวน และมูลค่าทรัพย์สินได้ เพื่อทำดีล ดิลิเจนท์ ขณะที่ทย.ที่เหลือสนามบิน 26 แห่งต้องเร่งปรับตัวและกำหนดแผนธุรกิจเชิงรุกที่ชัดเจน เป็นต้น
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท. หรือ AOT กล่าวว่า การใช้สิทธิของทอท.ในการดูแลและบริหารจัดการใน 3 สนามบินของทย.ตามมติครม. ทย.จะมีการคืนทรัพย์สินที่เช่าจากกรมธนารักษ์ให้กรมธนารักษ์ จากนั้นทอท.ก็จะไปเช่าแทน และทอท.จะต้องขอให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)รับรองให้ทอท.บริหารจัดการสนามบิน
โดยคาดว่าทอท.น่าจะทยอยเข้าไปบริหารจัดการสนามบินเหล่านี้ได้ในปี 2566 โดยการเช่าที่จากธนารักษ์จะเป็นเวลา 30 ปี ที่ทอท.จะเข้ามาดูแลและบริหารจัดการใน 3 สนามบินนี้ ซึ่งทอท.เชื่อว่าภายใต้ระยะเวลาของสิทธิ์การบริหาร 30 ปี จะสามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลราว 49,000-50,000 ล้านบาท เป็นผลตอบแทนคืนในรูปแบบภาษีและเงินปันผลตามสัญญาที่รัฐกำหนด
นอกจากนี้ทอท.ยังต้องสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนของทย.ด้วย ดังนั้น ทอท. จะกำไรค่อนข้างน้อย ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องสร้างตลาดขึ้นมา ในการดึงผู้โดยสารต่างประเทศเข้าไปใช้บริการโดยการบินตรงไปยังสนามบินเหล่านี้โดยไม่ผ่านกรุงเทพฯ อย่างการใช้สนามบินอุดรธานี ก็จะเป็นฮับในภาคอีสาน เป็นต้น
รวมไปถึงทอท.ยังจะต้องลงทุนในการพัฒนาใน 3 สนามบิน เพื่อให้ได้มาตรฐาน ICAO และรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย รวมไปถึง ทอท. ยังจะปรับปรุงแผนลงทุนสนามบินพังงา หรือสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ของ ทอท. ที่ตำบลโคกกลอย ซึ่งจะมีการปรับปรุง TOR ที่อยู่ระหว่างการเตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินให้ศึกษาการสร้างสนามบินพังงา ให้สอดรับการกับบริหารจัดการสนามบินกระบี่
ทั้งนี้ ทอท. ได้วางแผนพัฒนาทั้ง 3 สนามบินนี้ ต่อเนื่องจากที่ ทย. ได้พัฒนาไว้ ซึ่ง ทอท. ได้ประมาณการลงทุนในการพัฒนารวม 9,199.90 ล้านบาท (กรณีสนามบินพังงาเปิดให้บริการในปี2574) หรือวงเงินลงทุนรวม 10,471.50 ล้านบาท (กรณีสนามบินพังงาไม่เปิดให้บริการ) นายนิตินัย กล่าวทิ้งท้าย