จากแนวคิดกระทรวงคมนาคม จะโอนการบริหารสนามบินสังกัดกรมท่าอากาศยาน 3 แห่ง คือที่อุดรธานี กระบี่ และบุรีรัมย์ ไปให้บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) หรือ AOT มารับผิดชอบดุแลบริหารจัดการแทน
ในส่วนของท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี ชาวจังหวัดอุดรธานี นำโดยสถาบันภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี หอการค้าจังหวัดอุดรธานี ในรูปของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน(กกร.) องค์กรท้องถิ่น ภาคประชาชน ไม่เห็นชอบ และเคลื่อนไหวคัดค้านเป็นระยะ
เนื่องจากเห็นว่า ที่ผ่านมาท่าอากาศยานอุดรธานี ในสังกัดกรมท่าอากาศยาน(ทย.) สามารถพัฒนาจนเจริญเติบโตจนเป็นสนามบินนานาชาติ มีจำนวนเที่ยวบินมากและเป็นแชมป์จำนวนผู้โดยสารของสนามบินในสังกัดทย. และคาดหวังให้ก้าวหน้าต่อไปเพื่อหนุนอุดรธานีเป็นเมืองศูนย์กลางของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยได้เตรียมแผนลงทุนด้วยงบประมาณอีกหลายพันล้านบาท จากที่ได้ลงทุนเพิ่มมาระยะหนึ่งแล้ว
อีกทั้งข้องใจว่า เหตุใดทอท.ซึ่งเป็นบริษัท ถึงเลือกรับโอนแต่สนามบินใหญ่ แต่ไม่ขอบริหารกิจการท่าอากาศยานขนาดเล็กของทย. ที่มีอยู่อีกมาก และต้องการความช่วยเหลือพัฒนาให้เจริญเติบโตเช่นกัน นอกจากนี้ยังเห็นว่า สนามบินที่ทอท.รับโอนไปดูแล อาทิสนามบินเชียงใหม่ ภุเก็ต ดอนเมือง ไม่เกิดการพัฒนาให้เติบโต สวยงามดูดีอย่างที่กล่าวอ้าง รวมทั้งเมื่อ ทอท.เข้ามาบริหาร จะทำให้การบริการต่างๆภายในสนามบินมีราคาเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว
อย่างไรก็ตาม การประชุมครม.เมื่อ 30 ส.ค.2565 มีมติเห็นชอบในหลักการ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ให้ทอท.เข้าไปบริหาร 3 ท่าอากาศยาน ของกรมท่าอากาศยานหรือ ทย. ได้แก่ ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานอุดรธานี และท่าอากาศยานบุรีรัมย์ โดยให้รับความคิดเห็นของหน่วยงานต่างๆ ไปดำเนินการให้เรียบร้อย จากนั้นให้นำกลับมารายงาน ครม. เพื่อรับทราบอีกครั้ง
นายกำแหง สายวิภู ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี เปิดเผยว่า ยังพอมีเวลาอยู่อีกระยะในการถ่ายโอน และเป็นเรื่องของนโยบายในระดับสูง ถึงตอนนี้แล้วก็ต้องให้เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา ซึ่งครม.ให้ความเห็นชอบในหลักการให้ทอท.เข้ามาทำการบริหาร 3 สนามบินครั้งนี้ เป็นในลักษณะบริษัท ซึ่งต้องขอเช่าพื้นที่จากกรมธนารักษ์ ไม่ใช่เป็นการโอนกิจการให้โดยทางทย.ต้องทำเรื่องโอนพื้นที่คืนไปให้กรมธนารักษ์ก่อน จากนั้น ทอท. จึงทำเรื่องขอเช่าพื้นที่ โดยมีสัญญาและเงื่อนไขต่าง ๆตามระเบียบของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังอีกทอดหนึ่ง
ส่วนบุคลากรสังกัด ทย. ทางทอท.คงไม่รับโอนไป เพราะมีการวางตัวบุคลากรของตนเองไว้แล้ว และใช้คนมากกว่า ทย. เวลานี้กำลังคนของสนามบินอุดรธานี มีทั้งสิ้น 147 คน เป็นข้าราชกา 56 คน ซึ่งหลังโดนภารกิจ ทางทย. คงต้องเกลี่ยไปอยู่อีก 26 สนามบินที่เหลือ ส่วนที่เหลือเป็นลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งมีจำนวนร้อยกว่าคน ก็คงต้องตกงาน
สนามบินอุดรธานีมีเที่ยวบินและผู้โดยสารจำนวนมาก ในช่วงโควิด-19 ยอดลดลงไปมาก แต่หลังคลี่คลายก็กลับมาเติบโตขึ้นเป็นลำดับ จนล่าสุดมาเฉลี่ยที่วันละกว่า 5,000 คน จากจำนวนเที่ยวบินวันละเกือบ 40 เที่ยวบิน โดยในเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมามีตัวเลขผู้โดยสารสูงถึง 170,470 คน
ทย.รายงาน จำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินสูงสุด 5 อันดับแรก ของสนามบินที่สังกัดทย. ทั้งหมดจำนวน 29 แห่ง ดังนี้ 1.ท่าอากาศยานอุดรธานี 170,470 คน มีเที่ยวบินจำนวน 1,157 เที่ยวบิน 2. ท่าอากาศยานขอนแก่น 125,332 คน 900 เที่ยวบิน 3.ท่าอากาศครศรีธรรมราช 120,970 คน 894 เที่ยวบิน 4.ท่าอากาศยานอุบราชธานี 117,910 คน 754 เที่ยวบิน และ 5.ท่าอากาศยานกระบี่ 112,764 คน 808 เที่ยวบิน
ด้าน พ.ท.วรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ในฐานะภาคเอกชนที่เป็นตัวแทนของชาวจังหวัดอุดรธานี จากที่สศึกษาพบว่า สนามบินที่ว่าได้มาตรฐานก็มีคือมาตรฐาน ICAO ที่ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ส่วนใครจะบริหารก็ได้ไม่ติดใจ ไม่ว่าจะเป็นทย.หรือ ทอท. แต่ว่าประชาชนทั่วไปมองว่า สนามบินเป็นบริการสาธารณะ เหมือนกับสถานีขนส่งรถโดยสาร (บขส.) ดังนั้นผู้ที่เข้ามาทำการบริหารสนามบินในแต่ละที่ซึ่งเป็นเอกชน มีการบริหารบริการที่ดีหรือเปล่า หรือให้การบริการได้ดีเพียงพอไหม
ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี เป็นสนามบินขนาดใหญ่ มีการประกอบการที่ดี เป็นสนามบินที่เป็นศูนย์กลางการเดินทางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีโอกาสที่จะเติบโตได้ในอนาคต เพราะฉะนั้นจะต้องมีแผนพัฒนาเพื่อรองรับการเติบโตที่ชัดเจน ไม่ใช่แผนที่อยู่เพียงบนแผ่นกระดาษ ไม่มีการพัฒนาตามแผนที่วางเอาไว้ เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับสนามบินหลายแห่งที่ ทอท.เข้าไปบริหารอยู่ในขณะนี้
ในฐานะประชาชนผู้ใช้บริการ เห็นว่าที่ผ่านมาทย.บริหารได้ดีในระดับหนึ่ง เป็นที่น่าพอใจของผู้ใช้บริการ มีค่าบริการใช้สนามบินที่สามารถจับต้องได้ ไม่แพงจนเกินความสามารถ ซึ่งผู้ใช้บริการส่วนใหญ่มีฐานะปานกลาง ทำให้ได้รับความสะดวกสบายรวดเร็วในการเดินทาง
ปัจจุบันทย. มีแผนการพัฒนาสนามบินอุดรธานี ให้สามารถรองรับการเจริญเติบโตในอนาคต ด้วยการก่อสร้างปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และโครงการใหญ่คือ การก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 3 ที่สมบูรณ์แบบ จะมีที่จอดรถ มีสถานีบริการของสายบินต่างๆ มีร้านค้า สามารถที่จะรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 7.3 ล้านคน
หากทอท.จะเข้ามาบริหารสนามบินอุดรธานี ต้องมีความชัดเจนในโครงการดังกล่าว อย่าเข้ามาแล้วสร้างความวุ่นวาย สร้างปัญหาด้วยการขึ้นค่าบริการ มีแผนการพัฒนาที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม รองรับการเปลี่ยนแปลงของเมืองอุดรธานี ที่ในอีก 5-6 ปีนี้จะเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกในปี พ.ศ.2569 และกิจกรรมระดับชาติและนานาชาติอีกหลายรายการ
“สำคัญที่สุด ใครจะเข้ามาบริหารสนามบินอุดรธานี จะต้องให้ความสำคัญกับชาวจังหวัดอุดรธานี ต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารสนามบินอุดรธานี เนื่องจากสนามบินอุดรธานีเป็นสมบัติของชาวอุดรธานี และต้องการเห็นการยกระดับสนามบินอุดรธานี เป็นสนามประจำภูมิภาค เป็นสนามบินศูนย์ของภูมิภาคอนุภาคลุ่มน้ำโขง” พ.ท.วรายุส์ฯกล่าว