“CEA”หนุน 6 จ.ชิงเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกพลิกฟื้นย่าน ศก. ปักหมุดในตลาดโลก

26 ก.ย. 2565 | 13:22 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ย. 2565 | 20:23 น.

CEA หนุน 6 จ.ชิงเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกพลิกฟื้นย่าน ศก. ปักหมุดในตลาดโลก หลังพัฒนา 33 ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้นแบบครบตามโรดแมปปี 65

นายชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)  เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน นำเสนอพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน นครปฐม สุพรรณบุรี เมืองพัทยา จ.ชลบุรี และ แพร่ เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก หรือ UNESCO Creative Network (UCCN) ในปี 2565 - 2566 

 

โดย CEA ได้เข้าไปทำหน้าที่เตรียมความพร้อมด้วยการนำความคิดสร้างสรรค์ไปพัฒนาตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย ทั้งคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและรองรับให้บริการ จนสามารถเข้าสู่เกณฑ์การคัดเลือกตามมาตรฐานของยูเนสโก ซึ่งจะเป็นจุดหมายที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งของเมืองสร้างสรรค์โลก (Destination) นำมาซึ่งการต่อยอดเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อยกระดับรายได้และชีวิตชุมชน
  

สำหรับทั้ง 6 จังหวัดที่จะส่งให้ยูเนสโกคัดเลือก CEA เตรียมนำเสนอในสาขาที่น่าสนใจ และเหมาะสมกับอัตลักษณ์ของพื้นที่ ใน 4 สาขา ได้แก่ เมืองแห่งการออกแบบ (Design) เมืองด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Arts)  เมืองแห่งดนตรี (Music) เมืองแห่งภาพยนตร์ (Film) 
 

ซึ่งพื้นที่ที่นำเสนอจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีความโดนเด่นในเชิงวัฒนธรรม ศิลปะ มีความหลากหลาย ทั้งศิลปประยุกต์ ศิลปะพื้นบ้าน มีมิติของการสร้างสรรค์ ที่สามารถเพิ่มคุณค่าและมูลค่า การผสมผสานวัฒนธรรมเก่า-ใหม่ โดยไม่ทำลายรากเหง้าวัฒนธรรมเดิม พร้อมทั้งเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน และต่อยอดกับสาขาอื่น ๆ ได้ 

 

เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก มีทั้งหมด 7 สาขา ได้แก่ 1.วรรณคดี (Literature) 2.ด้านการออกแบบ (Design) 3.ภาพยนตร์ (Film)  4.ดนตรี (Music) 5.ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน  (Crafts and Folk Arts) 6.สื่อศิลปะ (Media Arts) และ 7.อาหาร (Gastronomy) 
 

 

CEA หนุน 5 จังหวัดชิงเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก

 

โดยคุณสมบัติสำคัญสำหรับเมืองที่จะได้รับพิจารณาให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก จะต้องเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมที่โดดเด่น แตกต่าง การขับเคลื่อนเมืองเน้นการสร้างรายได้และการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่าวน ตั้งแต่ภาครัฐ เอกชน การศึกษา วิชาชีพ และ ประชาชน เพื่อให้การพัฒนาเมืองไปไปอย่างยั่งยืน เหนือสิ่งอื่นใดเมืองที่จะได้รับการพิจารณาต้องมีความเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับผู้มาเยือน 

 

“แต่ละพื้นที่อยู่ระหว่างนำเสนอชื่อเข้าสู่การคัดเลือก เพื่อให้ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์เพิ่มเติม โดยมี 5 เมือง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไปแล้ว ได้แก่ จ.ภูเก็ต-ด้านอาหาร จ.เชียงใหม่-ด้านคราฟท์ กรุงเทพ-ด้านดีไซน์ จ.สุโขทัย-ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน และ จ.เพชรบุรี-ด้านอาหาร”

การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ได้วางกลไกการพัฒนาใน 3 ระดับคือ ระดับย่าน ระดับเมือง และระดับโลก โดยเริ่มต้นจากระดับย่าน  ซึ่งต้องเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ  ชุมชนมีความพร้อมและเข้มแข็ง โดยอาศัยทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ เข้าสู่กระบวนการค้นหา และดึงความน่าสนใจเพื่อสร้างเป็นจุดขาย 

 

พร้อมขยายเครือข่ายและพัฒนาร่วมกัน โดยนำความคิดสร้างสรรค์มาออกแบบเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์  ไปจนถึงการพัฒนาระดับเมือง เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สู่การขับเคลื่อนจังหวัดต่าง ๆ ให้กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ในเวทีโลกต่อไป

 

ปัจจุบัน CEA มีเป้าหมายพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand Creative District Network : TCDN)  ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพ เชียงใหม่ และขอนแก่น ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานคัดเลือกตามเงื่อนไขการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

 

ซึ่งได้วางเป้าหมายการพัฒนาตามโรดแมปไว้ จำนวน 33 แห่ง ภายในปี 2565-2566 เพื่อเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้นแบบ ที่จะสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพื่อการพัฒนาเครือข่ายในระดับประเทศ โดย CEA เริ่มโครงการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ ตั้งแต่ปี 2563-2565

 

ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนย่านและเมืองสร้างสรรค์ จะดำเนินภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ได้แก่ 1.กลยุทธ์และแนวทางพัฒนา 2.ความรู้และทักษะ 3.การประชาสัมพันธ์ 4.การสร้างเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนและสร้างโอกาสการเข้าถึงการสนับสนุนของหน่วยงาน  และ 5.ด้านนโยบายสร้างสรรค์ คือ การเปิดโอกาสและเข้าถึงสิทธิพิเศษในเชิงธุรกิจที่ตรงกับความต้องการของย่าน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียม Soft Power เพื่อสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังการฟื้นตัวจาก


นางสาวมนฑิณี ยงวิกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า จากความสำเร็จที่พัฒนาไปแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนา 33 พื้นที่ โดยใน 3 พื้นที่ กรุงเทพ เชียงใหม่ และ ขอนแก่น มีความพร้อมที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ สามารถดำเนินการพัฒนาได้ทันที 

 

ส่วนอีก 30 พื้นที่เป็นการเปิดรับสมัคร และได้รับการคัดเลือกจากความน่าสนใจ และการมีส่วนร่วมในผลักดันของชุมชนในพื้นที่ที่ผ่านการสำรวจศักยภาพ ความพร้อมด้านแนวคิดการพัฒนา ซึ่งเป็นกระบวนการทดสอบสำคัญมากเป็นการทดสอบให้คนมามีส่วนร่วม เพื่อให้ได้ข้อมูลการตอบรับที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง จนมาถึงรูปแบบการพัฒนา ที่ผ่านการวัดผล  ซึ่งมีตัวอย่างที่เป็นเคสที่สำคัญที่ประสบความสำเร็จ คือ จังหวัดสกลนคร ผ่านกลุ่มสกลเฮ็ด และการจัดงานสกลจังซั่น