ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังรัฐบาลเปิดประเทศ ผู้ประกอบการนำเที่ยว (เอเยนต์ทัวร์) ออกสำรวจพื้นที่เก็บข้อมูล เพื่อจัดทำ เส้นทางท่องเที่ยวไว้เสนอลูกค้ากันอย่างคึกคัก หลังจากต่างปิดล็อกประเทศสกัดเชื้อโควิด-19 กันมานานปี รวมถึงจังหวัดตรังที่พร้อมเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวชายฝั่งอันดามันตอนใต้ และจังหวัดใกล้เคียง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นาย Daniel Leow ผู้ประกอบการนำเที่ยว Travel Forte จากมาเลเซีย พร้อมด้วย นายจรูญ แก้วมีทรัพย์ นายกสมาคมการท่องเที่ยว จังหวัดพัทลุง และ นายลือพงษ์ อ๋องเจริญ ประธานกรรมการบริหารบริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง เดินทางเข้าพบ พ.จ.อ.เมืองชล วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง พร้อมด้วยนายอริย์ธัช สมหวังเจริญ ผู้จัดการสายการบินไทย ไลออนแอร์ จังหวัดตรัง เพื่อขอข้อมูลด้านการบินและบริการของสนาม โดยสนใจจะนำเครื่องบินเช่าเหมาลำมาลงที่ท่าอากาศยานตรัง
พ.จ.อ.เมืองชล วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในเรื่องนี้หน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจคือ กรมการบินพลเรือน ซึ่งมีข้อมูลของสนามบินทุกแห่งอยู่แล้ว หากกรมการบินพลเรือนอนุญาต เขาจะถามมายังกรมท่าอากาศยานและท่าอากาศยานตรัง ดูความพร้อม ก่อนที่จะอนุญาตให้เที่ยวบินต่างประเทศ มาทำการบิน
ในเบื้องต้นแนะนำให้เอเยนต์ทัวร์ ประสานกับสายการบินที่จะมาทำการบิน ติดต่อกรมการบินพลเรือน หากผ่านการพิจารณา จะมีขั้นตอนการดำเนินการต่อ โดยในส่วนของท่าอากาศ ยานตรัง พร้อมจะพิจารณาเรื่องเวลา สถานที่ให้เกิดความเหมาะสม ที่จะรองรับสายการบินระหว่างประเทศในครั้งนี้
ปัจจุบันสนามบินตรังมีสายการบินไทยแอร์เอเซีย และไทยไลออนแอร์ มีตารางบินประจำ โดยเป็นเส้นทางบินภายในประเทศ ส่วนหลุมจอดเครื่องบินสามารถรองรับเครื่องบินขนาดกลาง เช่น โบอิ้ง 737-800 และแอร์บัส 320-200 ได้พร้อมกัน 10 ลำ มีประตูหรือ “เกต” 4 ตัว
โดยที่สนามบินตรังอยู่ระหว่างการพัฒนา เพื่อขยายการให้บริการผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นในอนาคต อาคารผู้โดยสารมีหลังเดียว ส่วนอาคารที่พักผู้โดยสารแห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามอาคารปัจจุบัน อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยมีความคืบหน้า 40% เมื่อแล้วเสร็จและเปิดใช้งาน จะแยกการให้บริการสำหรับผู้โดยสารในประเทศ และผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น
ส่วนการก่อสร้างขยายทางวิ่งเครื่องบิน หรือ “รันเวย์” เครื่องบิน ปัจจุบันมีความยาว 2,100 เมตร อยู่ระหว่างขยายความยาวให้เป็น 2,990 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้นได้ ตามสัญญาจะแล้วเสร็จปี 2568 โดยท่าอากาศยานตรังประกาศเป็นสนามบินศุลกากรแล้ว ตั้งแต่เมื่อ 5 มีนาคม 2542 นอกจากเส้นทางบินตามตารางบินประจำของสายการบินในประเทศแล้ว มีเที่ยวบินเช่าเหมาลำมาใช้บริการเป็นระยะ
ด้านนายDaniel Leow ผู้ประกอบการนำเที่ยวแจ้งว่า หากสามารถทำการบินได้ คาดว่าจะมาทำการบินปลายปี 2565 นี้ โดยจะนำนักท่องเที่ยวเข้ามาครั้งละ 150-180 คน
เมื่อนักท่องเที่ยวมาถึง ก็จะกระจายนักท่องเที่ยวไปยังจังหวัดเป้าหมาย คือ พัทลุง สตูล และตรัง หรือบางคณะจะพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวนครศรีธรรมราชหรือกระบี่ด้วย โดยจะใช้ท่าอากาศ ยานตรังเป็นศูนย์กลางในการจัดเส้นทางการท่องเที่ยวในประเทศ ไทย โดยที่ตรังมีความพร้อมในเรื่องการบิน และยังมีอาหารที่อร่อยหลากหลาย แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่สวยงาม
นอกจากนี้เมื่อจีนเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกได้ ก็จะนำนักท่องเที่ยวจากจีน บินตรงมาลงที่ตรังด้วย จากปกติที่นำนักท่องเที่ยวจากจีนมาเที่ยวมาเลเซียและอินโดนีเซียอยู่แล้ว จะทำให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในภูมิภาค คือมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไทย และจีน จากที่บริษัทมีสำนักงานใหญ่อยู่ในมาเลเซีย และมีสำนักงานสาขาอยู่ในทั้ง 3 ประเทศ
คณะของนาย Daniel Leow เข้าพบกับนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อเตรียมเปิดเส้นทางท่องเที่ยวมายังตรัง ในเรื่องนี้ผู้ว่าฯแนะนำว่า ให้บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีตรัง จำกัด นำเรื่องดังกล่าวเสนอผ่าน กรอ.จังหวัดต่อไป เพื่อจะให้นำเรื่องและมติดังกล่าวเสนอต่อไปยังกรมการบินพลเรือน และกรมท่าอากาศยาน เพื่อพิจารณาเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศมายังสนามบินตรังต่อไป
ธีมดี ภาคย์ธนชิต/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,799 วันที่ 10-13 กรกฎาคม พ.ศ.2565