อ่วม‘OTA’ข้ามชาติ โขกคอมมิชชั่น 27% ท่องเที่ยวไทย

05 ก.พ. 2566 | 09:11 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.พ. 2566 | 09:34 น.

ท่องเที่ยวฟื้น ออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์ OTA ข้ามชาติ โขกค่าคอมมิชชั่นโรงแรมพุ่ง 27% ต่อบุ๊กกิ้ง บิ๊กไมเนอร์ร้องรัฐสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมให้ธุรกิจโรงแรมไทย

ท่องเที่ยวฟื้น ออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์ หรือ OTA ข้ามชาติ โขกค่าคอมมิชชั่นโรงแรมพุ่ง 27% ต่อบุ๊กกิ้ง บิ๊กไมเนอร์ร้องรัฐสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมให้ธุรกิจโรงแรมไทย งัดข้อกฎหมายเอาผิดการตั้งราคาห้องพัก rate-parity เหมือนในต่างประเทศ

ทั้งเสนอให้การปล่อยเช่าที่พักของ AirBnb ของประเทศไทยควรมีสัญชาติไทยเท่านั้น กันการฟอกเงิน รวมถึงเพิ่มความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวในปีนี้ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยในเดือนม.ค.ปี2566 ไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาแล้ว 2.08 ล้านคน หลังจากในปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเที่ยวไทยอยู่ที่ 11,153,026 ล้านคน ฟื้นตัว 28% จากปี 2562 สร้างรายได้ 589,833 ล้านบาท ฟื้นตัว 31% จากปี 2565 ซึ่งการฟื้นตัวที่เกิดขึ้น

แม้จะทำให้ธุรกิจโรงแรมมีการขยับตัวของรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยท้าทายที่ทำให้โรงแรมต้องมีภาระต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น

อ่วม‘OTA’ข้ามชาติ โขกคอมมิชชั่น 27% ท่องเที่ยวไทย

หนึ่งในนั้นคือ ค่าคอมมิชชั่น ที่ต้องจ่ายให้กับกลุ่มแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ ออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์ (OTA)ข้ามชาติ ที่ต้องจ่ายค่าคอมมิชั่นที่เพิ่มขึ้น จากดีมานต์การจองห้องพักผ่านระบบที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการดำเนินธุรกิจของ Airbnb ซึ่งจัดว่าเป็นคู่แข่งของผู้ประกอบการโรงแรมไทย

นายบิล บาร์เน็ต กรรมการผู้จัดการ ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส กล่าวว่า ความท้าทายในการดำเนินธุรกิจหลังโควิด-19 สำหรับธุรกิจโรงแรมและบริการ ไม่เพียงจะเป็นเรื่องของการขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยว หลังจากที่ผ่านมามีแรงงานด้านการท่องเที่ยวกว่า 1.45 ล้านคน หายไปในช่วงโควิด ทำให้ภาคธุรกิจจะต้องจ่ายค่าจ้างที่สูงขึ้น เพื่อดึงคนกลับคืนสู่อุตสาหกรรม รวมไปถึงค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น

แต่ธุรกิจยังต้องเผชิญความท้าทายจากการดำเนินธุรกิจของ OTA และ Airbnb อีกด้วย ดังนั้นภาคธุรกิจจะต้องคิดค้นผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในการดำเนินธุรกิจ

อย่างไรก็ตามก่อนโควิด-19 OTA ข้ามชาติได้กลายเป็นช่องทางหลักในการขายของธุรกิจโรงแรม ทำให้มีการปรับค่าคอมมิชชั่นที่คิดกับโรงแรมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากในช่วงแรกที่เข้ามาทำตลาดในไทย จะคิดค่าคอมมิชชั่นกับโรงแรมอยู่ที่ 10% ต่อบุ๊คกิ้ง เพิ่มมาเป็น 20-25% ต่อบุ๊คกิ้ง

รวมถึงบางแพลตฟอร์ม อย่าง Agoda ก็มีลูกเล่นที่จะผลักดันให้โรงแรมขายห้องพักได้มากขึ้น เช่น การยกอันดับโรงแรม ให้ขึ้นสู่หน้าแรกของเว็บได้ หรือที่เรียกว่า “การทำ Ranking” หรือ rate-parity แลกกับการที่โรงแรมต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นเพิ่มขึ้นอีก 5-10% ต่อบุ๊คกิ้ง จากการจ่ายคอมมิชชั่นปกติซึ่งอยู่ที่ราว 20-25% ต่อบุ๊คกิ้ง

ดังนั้นโรงแรมท็อปฮิตที่ขายดีๆจะเสียค่าธรรมเนียมให้ OTA เบ็ดเสร็จราว 30-35% ต่อบุ๊คกิ้ง และสิ่งสำคัญคือการนำห้องพักมาขายผ่าน OTA ต้องนำเสนอราคาที่ลดแล้วหรือ Best Available Rate เท่านั้น จึงไม่แปลกที่ OTA จะการันตีกับลูกค้าได้ว่าจะได้ห้องพักในราคาที่ถูกนั่นเอง

แต่หลังจากเกิดโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาทำให้ธุรกิจ OTA ก็เผชิญกับวิกฤตไม่ต่างจากธุรกิจโรงแรม เมื่อยอดการจองห้องพักลดฮวบ จากการชะงันด้านการท่องเที่ยว

ทำให้ที่ผ่านมาโรงแรมต่างๆก็หันมาพัฒนาการขายผ่านเว็บไซต์โรงแรม เพื่อการจองโดยตรง แต่ในขณะนี้เมื่อสถานการณ์ท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ก็ทำให้การจองห้องพักผ่าน OTA ฟื้นกลับมาอีกครั้ง ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมต้องเผชิญกับความท้าทายของต้นทุนในการจ่ายค่าคอมมิชั่นที่เพิ่มขึ้น

โดยปัจจุบันเฉลี่ยจะอยู่ที่ 27 บาทต่อบุ๊คกิ้ง เช่นเดียวกับการดำเนินธุรกิจของ Airbnb ที่กลับมาแข่งขันกับธุรกิจโรงแรมอีกครั้ง เมื่อการท่องเที่ยวฟื้นกลับมา

อีกทั้งก่อนหน้านี้นายวิลเลี่ยม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ประธานกรรมการบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ยังได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องการปรับใช้ข้อบังคับและมาตรการเสริมเพื่อเร่งการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว

วิลเลี่ยม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค

โดยหนึ่งในนั้นคือการสร้างการแข่งขันทางธุรกิจที่เป็นธรรมสำหรับผู้ประกอบการโรงแรมไทยในการแข่งขันกับบริษัทต่างชาติที่มีเงินทุนสูงกว่าอย่าง AirBnb และแพลตฟอร์มสำหรับจองโรงแรมออนไลน์ (Online Travel Agents หรือ OTA) ผู้ประกอบการ AirBnb

เนื่องจากธุรกิจของAirBnb สร้างกำไรจากการที่เจ้าของบ้านหรือที่พักอาศัยเปิดให้เช่าที่พักของตน ดังนั้น ห้องพักที่เปิดให้เช่าควรมีจำกัดเพียง 2-3 ห้องเท่านั้น มิใช่มีจำนวนให้เช่ามากถึง 20-30 ห้อง

หากผู้ให้เช่ามีห้องพักให้เช่าเป็นจำนวนมาก ควรต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด กฎเกณฑ์ และมาตรการด้านสุขอนามัย ความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนเข้าพัก มาตรฐานการให้บริการ การเก็บภาษีและการจดภาษีมูลค่าเพิ่มในการประกอบธุรกิจโรงแรม

หากไม่มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและชื่อเสียงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยได้ดังนั้น การกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับการเช่าห้องพักรายย่อยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

โดยเสนอว่าเจ้าของที่พักในการปล่อยเช่าใน AirBnb ของประเทศไทยควรมีสัญชาติไทยเท่านั้น เนื่องจากต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยและมีการเสียภาษีที่ถูกต้อง ข้อเสนอในเรื่องดังกล่าวนี้เป็นการป้องกันการฟอกเงินและการหลีกเลี่ยงภาษี รวมถึงเพิ่มความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวอีกด้วย

ขณะเดียวกันยังมองว่าแพลตฟอร์มสำหรับจองโรงแรมออนไลน์ (OTA) มีสัญญาผูกมัดที่สร้างข้อจำกัดให้ผู้ประกอบการโรงแรมด้านการตั้งราคาห้องพัก (rate-parity) ควรถือเป็นข้อจำกัดที่ผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี เบลเยี่ยม และออสเตรียได้บังคับใช้ เนื่องจากก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและส่งผลให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคต้องเสียประโยชน์เลือกตั้ง 2566