นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าททท.ได้จัดประชุมบูรณาการแผนปฏิบัติการททท.ประจำปี 2567 (Tourism Authority of Thailand Action Plan 2024 : TATAP 2024) เพื่อกำหนดทิศทางการส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยว ปี 2567 ซึ่งได้ข้อสรุปว่าททท.ตั้งเป้าหมายตำแหน่งทางการตลาดที่จะขับเคลื่อนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูงสุดติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก และปรับยุทธศาสตร์สู่การท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน
ทั้งนี้ททท.ตั้งเป้าหมายเชิงเศรษฐกิจ ในการสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวในปี 2567 อยู่ที่ 2.4-3.0 ล้านล้านบาท โดยททท.วางเป้าหมายไว้ 3 ซีนาริโอ โดยกรณีเลวร้ายสุด (Worst Case) ไทยจะมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท กรณีฐาน (Base Case) จะมีรายได้อยู่ที่ 2.74 ล้านล้านบาท และกรณีที่ดีที่สุด ( Best Case) อยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น
1.เป้าหมายรายได้ตลาดต่างประเทศ กรณีเลวร้ายสุด (Worst Case) ไทยจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 1.54 ล้านล้านบาท จากประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 28 ล้านคน กรณีฐาน (Base Case) จะมีรายได้อยู่ที่ 1.73 ล้านล้านบาท จากประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยว 32 ล้านคน และกรณีที่ดีที่สุด ( Best Case) อยู่ที่ 1.92 ล้านล้านบาท จากประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยว 35 ล้านคน
2. เป้าหมายรายได้ตลาดในประเทศ (ไทยเที่ยวไทย) กรณีเลวร้ายสุด (Worst Case) อยู่ที่ 8.6 แสนล้านบาท จากประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยว 158 ล้านคน-ครั้ง กรณีฐาน (Base Case) จะมีรายได้อยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท จากประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยว 185 ล้านคน-ครั้ง และกรณีที่ดีที่สุด ( Best Case) อยู่ที่ 1.08 ล้านล้านบาท จากประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยว 200 ล้านคน-ครั้ง
ทั้งยังตั้งเป้าหมายด้านการสร้างความยั่งยืนทางการท่องเที่ยว โดยจะผลักดันสัดส่วนรายได้ผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยต่อรายได้รวมทางการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 36% และอันดับของดัชนีความภักดีที่มีต่อประเทศไทยของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ติดอันดับ 1 ใน 3
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศ ปี 2567 ยังคงฟื้นตัวดีต่อเนื่อง หลังวิกฤตโควิดคลี่คลาย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกขยายตัว เงินเฟ้อโลกปรับตัวลดลง การฟื้นตัวของการเดินทางทางอากาศที่สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(ไออาต้า)คาดว่าจะฟื้นตัว 94% เมื่อเทียบกับปี2562 กิจกรรมกระตุ้นการเดินทางที่จะเกิดขึ้น
อาทิ ททท.ต่อสัญญาคู่มือมิชลิน ไกด์ ประเทศไทยอีก 5 ปีถึงปี2569 ไทยจะเป็นเจ้าภาพโมโตจีพีต่อเนื่องถึงปี 2568 อีกทั้งยังมีแผนจะเปิดสำนักงานททท.ต่างประเทศแห่งใหม่ ที่กรุงริยาร์ด ประเทศซาอุดีอาระเบีย
รวมถึงการเปิดให้บริการโครงสร้างพื้นฐานรองรับการท่องเที่ยวในปีหน้า อาทิ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 “บึงกาฬ-บอลิคำไซ” การเปิดรันเวย์ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ การยกระดับสนามบินนครศรีธรรมราช ให้เป็นสนามบินนานาชาติ การเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ และการขยายหลุมจอดสนามบินกระบี่ รองรับชาร์เตอร์ไฟลต์ได้เพิ่มขึ้น
ส่วนปัจจัยที่น่าติดตาม คือ ความไม่แน่นอนของวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจส่งผลต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ราคาพลังงาน ราคาบัตรโดยสารปรับตัวสูงขึ้น และคนระมัดระวังค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว รวมไปถึงสถานการณ์การเมืองไทย อาจส่งผลให้มีการปรับนโยบายบริหารงบประมาณตามนโยบายรัฐบาลใหม่ วิกฤตเอลนีโญ และเวิล์ดอีเว้นต์ อย่างโอลิมปิก 2024 ช่วงก.ค.-ส.ค.และ The UEFA Euro 2024 ช่วงมิ.ย-ก.ค.ที่เยอรมัน
ส่วนแนวโน้มสถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดในประเทศ ปี 2567 คือ การส่งเสริมตลาดด้วยการนำเสนอสินค้าและบริการท่องเที่ยว Soft Power ( 5 F) ควบคู่กับการสร้างมาตรฐานความยั่งยืน การเปิดบริการโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงการเดินทางท่องเที่ยว
ส่วนประเด็นที่ยังคงต้องติดตาม คือ ค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ความผันผวนของราคาพลังงาน ความต้องการออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของคนไทยและการรุกการทำตลาดของประเทศคู่แข่งในการดึงคนไทยเที่ยวต่างประเทศ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัญหาจากภาวะสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ
ขณะที่ทิศทางการส่งเสริมตลาดต่างประเทศ ททท.จะเน้นเพิ่มตลาดที่สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวมากกว่า 5 หมื่นล้านบาทให้ได้ใน 8 ตลาด ได้แก่ จีน มาเลเซีย เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย รัสเซีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา การเพิ่มตลาดที่สร้างนักท่องเที่ยวเข้าไทยจำนวนมากกว่า 1 ล้านคนให้ได้ 8 ตลาด ได้แก่ จีน เกาหลี อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม รัสเซีย สหรัฐอเมริกา การมุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอย่างยั่งยืน ด้วยการรุกเปิดตลาดใหม่และดึงกลุ่มคุณภาพเดินทางเข้าไทยตลอดทั้งปีและทำให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและปลอดภัย กระตุ้นการเดินทางเชื่อมโยงทางบก ขยายช่องทางการส่งเสริมตลาด ผ่านคู่ค้ารายใหม่และรายใหญ่ของโลกควบคู่กับการใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการทำตลาด
ในด้านการส่งเสริมตลาดในประเทศ จะเน้นนำเสนอ “โมเมนต์ที่ใช่”ต่อเนื่อง กระตุ้นให้คนไทยเดินทางออกไปหาความสุขทันใจ เที่ยวไทยไม่ต้องรอ ผลักดันให้เที่ยวตลอดทั้งปี ผ่านจุดขาย Soft Power ของเมืองไทย และกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง สานต่อแนวคิดหลักกระตุ้นตลาดคนไทยปี 2567 ที่จะสร้างประสบการณ์ทรงคุณค่า (Meaningful Travel) ได้แก่