วันนี้ (วันที่ 5 กันยายน 2566) นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.กล่าวในงานสัมมนาของ “ฐานเศรษฐกิจ” เรื่อง Road To NET ZERO โอกาส & ความท้าทายทางธุรกิจ ในหัวข้อ Aviation & Tourism Sustainability ถึงทิศทางธุรกิจการบินที่ยั่งยืนของทอท.ว่าอุตสาหกรรมการบินมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กว่า 1 ล้านตันต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวม ซึ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นมาตรการสำคัญในเรื่องของ Non-Tariff Barriers (มาตรการกีดกันการค้าที่มิใช่ภาษี) ที่กำลังเกิดขึ้นของโลก
โดยในส่วนของธุรกิจสนามบิน สภาสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศหรือ ACI ก็มีการนำเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาใช้ในการจัดอันดับสนามบินด้วย ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยจะมีผลต่อมาตรการที่จะมีการลดเที่ยวบินที่ไม่ใช่สนามบินกรีนแอร์พอร์ต หรือไม่มีเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน(SAF)ให้สายการบินเติมน้ำมันอากาศยาน
ทอท.จึงมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ลง 50% ใน 4 ปีนี้ จากเดิมมีการปล่อยอยู่ที่ 3 แสนตันต่อปี ลดลงเหลือ 1.5 แสนตันต่อปี และเป้าหมายสุดท้ายคือ จะเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero ในอีก 10 ปี โดยทอท.มีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่
1.การเพิ่มแหล่งพลังงานไฟฟ้าภายในสนามบินโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 100% ภายใน 2 ปี ที่นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังช่วยลดค่าไฟลงได้อีก 30% ลดจาก 1 พันล้านบาท เหลือ 700 ล้านบาท โดยทอท.ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือโซล่าร์ เซลล์ เพื่อทดแทนการใช้พลังงานจากการไฟฟ้า
เนื่องจากทอท.มีพื้นที่ในการผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่มาก เช่น พื้นที่ดาดฟ้าอาคารผู้โดยสาร พื้นที่ข้างทางวิ่งและทางขับ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากพอที่จะทดแทนการใช้พลังงานภายในอาคารผู้โดยสารได้ทั้งหมด
หากสามารถใช้พลังงานทดแทนได้ทั้งหมดจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 294,879 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และลดต้นทุนการดำเนินงานจากค่าพลังงาน จากค่าพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 368 ล้านบาทต่อปี
2.ทอท.จะปรับเปลี่ยนรถที่มีการใช้สนามบิน รวมถึงแท็กซี่ที่ให้บริการในท่าอากาศยานทั้งหมดให้เป็นรถไฟฟ้า ภายใน 4 ปีนี้ โดยทอท.จะปรับเปลี่ยนรถและเครื่องจักรให้บริการในท่าอากาศยานทั้งหมดให้เป็น Electric Vehicle ตามนโยบายของรัฐบาลในการลดการใช้ยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน ทอท.สามารถกำหนดนโยบายในการปรับเปลี่ยนรถและเครื่องจักรที่ให้บริการในท่าอากาศยาน ซึ่งมีจำนวนมากถึง 3,400 คัน และจะสามารถลดการใช้น้ำมันได้มากถึง 10 ล้านลิตรต่อปี หรือคิดเป็น 28,360 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี อีกทั้งยังเกิดประโยชน์ต่อผู้โดยสารในการลดปัญหามลภาวะทางอากาศในพื้นที่ Bus Gate
ทั้งนี้ปัจจุบันรถส่วนกลางของทอท.ส่วนใหญ่เป็นรถเช่า ดังนั้นหากหมดสัญญาเช่าในแต่ละปี ทอท.จะพิจารณาให้เป็นรถไฟฟ้าแทนรถที่ใช้น้ำมัน ซึ่งขณะนี้ในสนามบินสุวรรณภูมิมียานพาหนะและอุปกรณ์ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เขตการบิน (Airside) ของผู้ประกอบการเป็นรถไฟฟ้าจำนวน 287 คัน
3.สนับสนุนให้มี Sustainable Aviation Fuel (SAF) หรือเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน 5 % ภายใน 4 ปี ซึ่ง Sustainable Aviation Fuel (SAF) หรือเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อโลกยั่งยืน ที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมการบินลงได้ โดยเฉพาะเมื่ออุตสาหกรรมการบินวางแผนจะก้าวเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ. 2050 (ปี 2593)
“วันนี้เชื้อเพลิง SAF ยังไม่มีผลิตในไทย และแพงกว่าน้ำมันเครื่องบินปัจจุบัน 8 เท่า ต้องนำเข้าจากสิงคโปร์ ทั้งๆที่สิงคโปร์นำเข้าน้ำมันที่ใช้แล้วจากไทยไปผลิต ทอท.ก็มีแผนจะร่วมมือผู้ผลิตเพื่อผลิตและจัดหา SAF ที่ทำในประเทศได้ เพื่อให้ราคาน้ำมัน SAF ลดจาก 8 เท่าเหลือ 2.2 เท่า เพราะสายการบินจะต้องใช้SAF ทยอยเพิ่มขึ้นโดยการใช้เชื้อเพลิง SAF ที่สายการบินจะต้องใช้ SAF ในปี 2025 จาก 2% ปี 2030 อยู่ที่ 5% ไปจนถึง ในปี 2050 อยู่ที่ 60 % หากผลิตน้ำมันได้ในราคาเหมาะสมก็จะเป็นโอกาสในการขายให้แก่ต่างประเทศได้” นายกีรติ กล่าวทิ้งท้าย