นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา กล่าวว่าเซ็นทารา ตั้งเป้าหมายขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ๆ ทั่วโลก ภายใต้กลยุทธ์ Future Growth และยังคงมุ่งมั่นก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 100 แบรนด์โรงแรมชั้นนำระดับโลกภายในปี 2570
ในช่วง 3 ปีนี้(ปี 2567- 2569) ของเซ็นทารา วางงบลงทุนอยู่ที่ 13,000-20,000 ล้านบาท(ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหาร) ซึ่งในปีนี้เซ็นทารา จะเปิดโรงแรมใหม่ ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มทั้งหมด 6 แห่ง โดยแบ่งเป็น 3 แห่งในไทย, 2 แห่งในลาว และ 1 แห่งในมัลดีฟส์
โดยแบ่งเป็น 3 แห่งในไทย, 2 แห่งในลาว และ 1 แห่งในมัลดีฟส์ ได้แก่
โดยทั้งหมดเป็นการรับบริหารยกเว้นโรงแรมที่มัลดีฟส์ที่เซ็นทาราลงทุนเองโดยขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงแรมในมัลดีฟส์เพิ่มอีก 2 โรงแรม ซึ่ง “โรงแรมเซ็นทารา มิราจ ลากูน มัลดีฟส์” ที่มีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนพฤศจิกายนปี 2567 นี้
ถือเป็นโครงการส่วนแรกของเซ็นทาราบนเกาะสวรรค์ในมาเล่ อะทอลล์เหนือ หนึ่งในเกาะในกลุ่มมัลดีฟส์ที่มีความสวยงามอย่างเหนือชั้น โดยจะสามารถเดินทางเข้าถึงได้โดยง่ายด้วยสปีดโบ๊ทเพียง 30 นาที จากท่าอากาศยานนานาชาติเวลานา หรือที่มักเรียกว่า ท่าอากาศยานนานาชาติมาเล่
เซ็นทารา มิราจ ลากูน มัลดีฟส์ นับเป็นโรงแรมภายใต้ธีมมิราจ แห่งที่ 4 ของโลก ต่อจากที่พัทยา มุยเน่ และดูไบ โดยโรงแรมแห่งนี้ เป็นแบรนด์ธีมรีสอร์ทสำหรับครอบครัว ออกแบบมาให้โดดเด่นด้วยคอนเซ็ปต์โลกใต้น้ำ มีสวนน้ำและกิจกรรมทางน้ำอันเป็นเอกลักษณ์ เพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้ากลุ่มครอบครัว
นอกจากนี้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 เซ็นทารามีแผนจะเปิดให้บริการ “โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ ลากูน มัลดีฟส์” รีสอร์ทหรูขนาด 142 ห้อง
ขณะเดียวกันเซ็นทารา ยังมีอีก 2 โรงแรมที่จะปรับโฉมครั้งใหญ่ในปีนี้ คือ "เซ็นทารา กะรน รีสอร์ท ภูเก็ต" (จำนวน 335 ห้องพัก) และ"เซ็นทารา แกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา" (จำนวน 553 ห้องพัก)
รวมไปถึงในปีหน้าเซ็นทารายังมีแผนจะรีโนเวทโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ หัวหิน บีช รีสอร์ท หลังจากได้ดำเนินการต่อสัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เรียบร้อยแล้ว โดยมีแผนจะใช้งบลงทุนราว 1,700 -2,000 ล้านบาท เริ่มดำเนินการในปี 2568 ใช้เวลา 2-3 ปี ซึ่งจะปรับปรุงห้องพักใหม่ และศึกษาที่จะสร้างโรงแรมระดับ 3 ดาวในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
รวมไปถึงการรีแบรนด์ “เซ็นทรา บาย เซ็นทารา” ให้เป็น “เซ็นทารา ไลฟ์” ที่ทยอยดำเนินการตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว และมีแผนจะรีแบรนด์ “เซ็นทารา บูติก คอลเลกชัน” ต่อเนื่องในปีนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามเซ็นทารามีแผนจะขยายแบรนด์ในเครือทั้ง 6 แบรนด์ ออกสู่หลากหลายจุดหมายปลายทางทั้งในและต่างประเทศ อาทิ แผนขยายแบรนด์เซ็นทารา รีเซิร์ฟ และโรงแรมในธีมมิราจไปในไทย, มัลดีฟส์, ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย รวมถึงแผนการเซ็นสัญญาขยายเครือข่ายพันธมิตรในตลาดสำคัญๆ อย่างจีนด้วยเช่นกัน
ทิศทางการขยายแบรนด์โรงแรมของเซ็นทารา จะมุ่งไปที่การรับบริหารเพิ่มมากขึ้น อาทิ ที่เวียดนาม ได้เซ็นสัญญารับบริหารโรงแรมไปแล้ว 9 แห่งรวมห้องพักกว่า 4,900 ห้อง เปิดให้บริการแล้ว 1 แห่งขนาด 984 ห้อง ทั้งยังมองการรับบริหารโรงแรมในยุโรป แอฟริกา จีน ศรีลังกาด้วย
ขณะเดียวกันก็ยังมองหาโอกาสในการลงทุนโรงแรมของเซ็นทาราด้วย โดยขณะนี้ได้หารือกับพาร์ทเนอร์ที่ร่วมลงทุนโรงแรมเซ็นทารา มิราจ บีช ดูไบ ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการอยู่แล้ว 607 ห้อง มีแผนจะขยายห้องพักเพิ่มอีก 200 ห้อง ซึ่งในขณะนี้บอร์ดได้อนุมัติในการซื้อที่ดินเพิ่มเติมแล้ว
"เรายังคงมีเป้าหมายที่จะทำให้แบรนด์เซ็นทารา ก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 100 แบรนด์โรงแรมชั้นนำระดับโลกภายใน 2570 ตามที่เราเคยได้ตั้งเป้าไว้ ซึ่งในปีที่แล้ว เราได้ก้าวจากอันดับที่ 150 มาอยู่ที่อันดับที่ 111 ซึ่งต้องถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่เราสามารถเดินหน้าสู่ความสำเร็จได้ตามแผนและตรงตามกลยุทธ์ที่เราได้ตั้งไว้เร็วกว่าที่คาดการณ์” ธีระยุทธ กล่าว
ทั้งเซ็นทารายังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2593 ภายใต้แผนการดำเนินงานระยะแรกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20 % ภายในปี 2572 เทียบจากปี 2562 โดยได้มุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอย่างจริงจัง ผ่านแผนการดำเนินงานต่างๆ
อีกทั้งการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ทั้งนี้ โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทาราได้ผ่านการรับรองการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก Global Sustainable Tourism Council – GSTC จำนวน 24 แห่ง และผ่านการรับรองจาก Green Key จำนวน 1 แห่ง ซึ่งเป็นมาตรฐานความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยวที่ผ่านการรับรองสถานะ GSTC-Recognized เช่นกัน
นายธีระยุทธ กล่าวต่อว่าในปี 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นปีแห่งความภาคภูมิใจที่เซ็นทาราเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี ในไทย และเป็นปีที่เซ็นทาราประสบความสำเร็จในหลายด้านกับหลากหลายโปรเจกต์สำคัญ อาทิ การเปิดให้บริการ “เซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า” ซึ่งเป็นโรงแรมแห่งแรกของเซ็นทาราในญี่ปุ่น
การได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย ประจำปี 2023 จากงาน Kincentric Best Employers Thailand 2023 และความสำเร็จของ แบรนด์ “เซ็นทารา แกรนด์” ที่คว้าตำแหน่งแบรนด์ที่แข็งแกร่งสุดในไทย จากรายงาน 50 อันดับบริษัทประจำปี 2023 โดยสถาบัน Brand Finance
ขณะเดียวกันในปีที่ผ่านมา เซ็นทาราบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจอย่างแข็งแกร่ง โดยเซ็นทารามีรายได้รวมอยู่ที่ 9,932 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงิน (EBITDA) จำนวน 3,284 ล้านบาท เติบโต 83% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ทั้งนี้มีรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยของทั้งหมด (RevPar) เพิ่มขึ้น 19% อยู่ที่ 4,141 บาท ซึ่งสำหรับแนวโน้มธุรกิจในปี 2567 นี้ เซ็นทาราคาดการณ์ว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ย (รวมโรงแรมร่วมทุน) จะอยู่ที่ 70% - 73% และมีรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) จะอยู่สูงสุดที่ 4,300 บาท และปีนี้ก็ยังมีแนวโน้มที่เติบโตต่อเนื่อง
ด้านนายกันย์ ศรีสมพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงินโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา กล่าวถึงรายละเอียดของแผนลงทุนในช่วง 3 ปีนี้(ปี 2567- 2569) ของเซ็นทารา อยู่ที่ 13,000-20,000 ล้านบาท(ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหาร) ดังนี้
การลงทุนในปี 2567 จะอยู่ที่ 6,670 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในส่วนของโรงแรม 5,670 ล้านบาท ธุรกิจอาหาร 1,000-1,200 ล้านบาท หลักๆจะเป็นการลงทุนโรงแรม 2 แห่ง ที่มัลดีฟส์ 3,200 ล้านบาท การรีโนเวทเซ็นทารา แกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา 1,020 ล้านบาท รีโนเวทโรงแรมเซ็นทารา กะรน รีสอร์ท ภูเก็ต 600 ล้านบาท ค่าเช่าโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ หัวหิน 150 ล้านบาทให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)
การลงทุนปี 2568 อยู่ที่ 3,630 ล้านบาท อาทิ การลงทุนโรงแรมที่มัลดีฟส์ 1,370 ล้านบาท รีโนเวทเซ็นทารา แกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา 50 ล้านบาท โนเวทโรงแรมเซ็นทารา กะรน รีสอร์ท ภูเก็ต 30 ล้านบาท รีโนเวทโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ หัวหิน 550 ล้านบาท และการลงทุนปี 2569 อยู่ที่ 500 ล้านบาท เป็นต้น
โดยการลงทุนหลักในโครงการเหล่านี้จะอยู่ 13,000 ล้านบาท (ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในส่วนของโรงแรม ขณะที่การลงทุนในธุรกิจอาหารจะอยู่ที่เฉลี่ยปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท)
ส่วนงบลงทุนอีกราว 7,000 ล้านบาท จะเป็นแผนการลงทุนในโครงการใหม่ๆที่เรากำลังพิจารณาอยู่ โดยมองว่าพื้นที่มัลดีฟส์สามารถสร้างได้ถึง 5 โรงแรม ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 2 แห่ง อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 2 แห่ง จึงมองว่าอาจจะสร้างโรงแรมเพิ่มได้อีกในพื้นที่บริเวณลากูน รวมถึงการร่วมลงทุนกับพาร์ทเนอร์ที่ดูไบ ในการขยายห้องพักเพิ่มอีก 200 ห้อง
สำหรับรายได้รวมในปีนี้ตั้งเป้าคาดว่าจะอยู่ที่ 29,000 ล้านบาท (รายได้จากโรงแรมและธุรกิจอาหาร)เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ซึ่งมีรายได้รวมอยู่ที่ 22,547 ล้านบาท เป็นรายได้จากธุรกิจโรงแรม 9,932 ล้านบาท สำหรับแนวโน้มธุรกิจโรงแรมในช่วงไตรมาส 1ปีนี้ มีทิศทางบวก ซึ่งหากเทียบกับไตรมาส 1 ปีที่แล้ว รายได้เพิ่มขึ้นกว่า 15 %
ทั้งนี้ลูกค้าหลักของเซ็นทารา จะเป็นคนไทย คิดเป็นสัดส่วน 13 % รัสเซีย 10% จีน 8% สหราชอาณาจักร 7 % ออสเตรเลีย 5 % อินเดีย 5 % เกาหลีใต้ 4 %