ปัจจุบันธุรกิจครอบครัวต้องเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสังคมที่รวดเร็วกว่าสมัยก่อนมาก ดังนั้นเพื่อค้นหาสูตรแห่งความสำเร็จที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวสามารถยืนหยัดและเติบโตในระยะยาวได้ บริษัท KPMG Private Enterprise ร่วมกับ STEP Project Global Consortium จึงได้สำรวจผู้นำธุรกิจครอบครัว 2,439 คนจากทั่วโลก และในรายงานแยกของ KPMG Australia ภายใต้ชื่อ Australian Family Business Survey 2022 ได้เปรียบเทียบสถานการณ์ของธุรกิจครอบครัวในออสเตรเลียกับธุรกิจครอบครัวในประเทศอื่นๆ
ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่าธุรกิจครอบครัวสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท โดยแต่ละประเภทมีระดับของแนวทางการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Orientation) (เช่น ความสามารถในการปรับตัวและพัฒนาสินค้าหรือบริการ) และความมั่งคั่งทางสังคมและอารมณ์ (Socioemotional Wealth (SEW) ซึ่งหมายถึงประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงินที่สมาชิกครอบครัวได้รับจากการเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ เช่น การสร้างอัตลักษณ์ การมีอิทธิพล และชื่อเสียงในชุมชน มาดูกันว่าธุรกิจครอบครัวแต่ละประเภทของมีลักษณะอย่างไร
1. ธุรกิจครอบครัวแบบผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Families) ธุรกิจครอบครัวประเภทนี้มีผลการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยมทั้งด้านการเงินและ Socioemotional Wealth (SEW) ผู้นำครอบครัวรุ่นปัจจุบัน (Patriarch) มีบทบาทสำคัญในการสื่อสารและดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม โดยช่วยสร้างความเข้าใจว่าธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งของมรดกครอบครัว
จุดเด่นและปัจจัยสู่ความสำเร็จ:
มีความสามารถในการมองหาโอกาสใหม่ๆ และบริหารธุรกิจโดยสะท้อนค่านิยมของครอบครัว เน้นการสื่อสารที่ดีในครอบครัวและมีการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทในธุรกิจ เปิดรับการเปลี่ยนแปลงและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ความรู้และทักษะของสมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี ทักษะดิจิทัลของสมาชิกที่มีความเชี่ยวชาญจะถูกถ่ายทอดภายในและข้ามรุ่น ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจมีมุมมองสู่อนาคต
คำแนะนำเพื่อเพื่อพัฒนาธุรกิจ: เพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืน ธุรกิจครอบครัวประเภทนี้จำเป็นต้องเปิดรับความหลากหลายทั้งในด้านเพศและมุมมองความคิดในทีมผู้นำธุรกิจ
2. ธุรกิจครอบครัวแบบเน้นธุรกิจเป็นหลัก (Business-First Families) ธุรกิจครอบครัวประเภทนี้มีระดับ Entrepreneurial Orientation สูง แต่มีระดับ Socioemotional Wealth (SEW) ต่ำ
จุดเด่นและข้อท้าทาย:
มีผลการดำเนินงานทางการเงินที่ดีและยอมรับการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ขาดการลงทุนในเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาครอบครัวแตกร้าวในระยะยาว ปัญหาที่พบ เช่น สมาชิกครอบครัวที่เป็นผู้หญิงรู้สึกถูกกีดกันจากการมีบทบาทในธุรกิจ ส่งผลเสียต่อชื่อเสียงและสร้างความวุ่นวายในองค์กร
คำแนะนำเพื่อเพื่อพัฒนาธุรกิจ: ธุรกิจครอบครัวประเภทนี้ควรรักษาความเป็นผู้ประกอบการและเพิ่มความมั่นคงของความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น
1) จัดการประชุมครอบครัวแบบไม่เป็นทางการหรืออย่างเป็นทางการ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
2) ใช้บริการที่ปรึกษามืออาชีพ เพื่อพัฒนาโครงสร้างการบริหาร เช่น สภาครอบครัว (Family Council) หรือคณะกรรมการที่ปรึกษาครอบครัว (Family Advisory Board)
3) สร้างระบบการสื่อสารที่ดีและรักษาสายสัมพันธ์ของครอบครัวตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนเกิดปัญหา
ข้อคิดสำคัญ: การลงทุนทั้งในธุรกิจและครอบครัวควรเป็นไปพร้อมกัน เพราะหากความสัมพันธ์ในครอบครัวล่มสลาย ธุรกิจอาจไม่สามารถคงความเป็นของครอบครัวได้อีกต่อไป