นกแอร์ พ้นแผนฟื้นฟูอีก 2 ปี จ่อบินสนามบินสุวรรณภูมิ ทำอินเตอร์ไลน์การบินไทย

02 ก.ค. 2567 | 07:31 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2567 | 14:42 น.

นกแอร์ อัพเดตแผนฟื้นฟูกิจการ เผยล่าสุดชำระหนี้แล้ว 37 ล้านบาท ยังเหลือหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ 97 % “วุฒิภูมิ จุฬางกูร” มั่นใจสายการบินออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในอีก 2 ปี ชูจุดขายใหม่สร้างรายได้ ทั้งจ่อเพิ่มจุดบินสู่สนามบินสุวรรณภูมิ หลังผนึกการบินไทย ทำอินเตอร์ไลน์

สายการบินนกแอร์ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ มาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2564 ที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ และคำร้องขอแก้ไขแผนของ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ตามมติจากที่ประชุมเจ้าหนี้ซึ่งมีผลแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ 4 คน

ได้แก่ นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร, นายไต้ ชอง อี, นายปริญญา ไววัฒนา และนายชวลิต อัตถศาสตร์ หลังจากวันที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้บริหารแผนได้ดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพ

ล่าสุด NOK ได้แจ้งอัพเดตการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยระบุว่า ตามวิธีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหน้าแต่ละกลุ่มที่กำหนดในบทที่ 7 ของแผนฟื้นฟูกิจการ ภายหลังได้รับคำสั่งถึงที่สุดให้ได้รับชำระหนี้นั้น สำหรับการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการระหว่างวันที่ 29 มีนาคม 2567 ถึง 28 มิถุนายน 2567 (ปีที่ 3 ไตรมาสที่ 3)

นกแอร์ได้ชำระหนี้เป็นเงินสดตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผนรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,202,576.34 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 37,629,816.25 บาท คิดเป็น 100 % ของหนี้ที่ถึงกำหนดชำระตามแผนฟื้นฟูกิจการ และมีหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ คิดเป็น 97 % ของหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ

จากผลการดำเนินงานดังกล่าวข้างต้นของบริษัทและผู้บริหารแผน แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการดำเนินการตามที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนด ประกอบกับสถานการณ์การเดินทางของผู้โดยสารมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ บริษัทจึงคาดการณ์ว่าสภาพธุรกิจโดยรวมจะกลับมาในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยส่งผลให้ธุรกิจของบริษัทกลับมาดำเนินการได้อย่างปกติและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

NOK อัพเดตการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันนกแอร์ ยังมั่นใจว่าบริษัทจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการภายในเวลา 2 ปีจากนี้ หรือในปี 2569  ซึ่งการจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ นกแอร์จะชำระหนี้ตามแผน 2,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจ่ายหนี้ให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ (หทัยรัตน์ จุฬางกูร) ซึ่งจะจ่ายในปี 2569 และจะเพิ่มทุนอีก 3,000 ล้านบาท ในปี 2569 เช่นกัน โดยการเพิ่มทุนอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าเราจะใส่เงินเพิ่มทุนเอง หรือแปลงหนี้เป็นทุน หรือการออกหุ้นกู้

ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจของนกแอร์ เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาสัญญาค่าเช่าเครื่องบิน ซึ่งลดต้นทุนไปได้มาก การเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน การเพิ่มรายได้จากบริการใหม่ที่แตกต่างจากตลาด เช่น NOK MAX ที่รวมการให้บริการทุกอย่างแบบฟูลเซอร์วิสรวมการให้บริการเลาจญ์ของนกแอร์ และการเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ เช่น การขายบริการห้องรับรองพิเศษ การขนส่งสินค้าทางอากาศ รวมไปถึงการบริหารจัดการชั่วโมงการบินใหม่ ทำให้นกแอร์ มีสถิติการตรงเวลา (The On-time Performance) มากกว่า 85% ในปีนี้ สูงเกินมาตรฐานโลกแล้ว

วุฒิภูมิ จุฬางกู

ส่งผลให้นกแอร์เริ่มกลับมามีกำไรครั้งแรกในรอบ 9 ปี และมีการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดนกแอร์ได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน ภายใต้วงเงินกู้ยืมจาก “หทัยรัตน์ จุฬางกูร” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท วงเงินกู้ยืมไม่เกิน 2 พันล้านบาท โดยเบิกใช้ตามความเหมาะสม ซึ่งเป็นไปตามแผนฟื้นฟูที่วางไว้ โดยนกแอร์ จะนำมาใช้เพิ่มสภาพคล่องเนื่องจากปีนี้มีซ่อมเครื่องยนต์ของเครื่องบินซึ่งครบรอบที่ต้องซ่อมบำรุงตามเวลา และเตรียมสำหรับเปิดเส้นทางบินต่างประเทศใหม่ๆเพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 นี้

นกแอร์ตั้งเป้าจะเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์เครื่องบินเพิ่มจากจาก 12 ชั่วโมงต่อวัน ไปเป็น 13 ชั่วโมงต่อวันในช่วงปลายปีนี้ โดยจะนำเครื่องบินไปใช้งานตอนกลางคืนให้มากขึ้น โดยเตรียมจะเปิดบินสู่มุมไบ และไฮเดอราบัด เริ่มวันที่ 27 ต.ค.นี้ เนื่องจากล่าสุดมีการเจรจาจัดสรรสิทธิการบินระหว่างไทย-อินเดีย เพิ่มได้อีก 7,000 ที่นั่งต่อสัปดาห์ นกแอร์ได้รับการจัดสรรอยู่ที่ 2,000 ที่นั่งต่อสัปดาห์

รวมทั้งเตรียมจะเปิดเส้นทางบินดอนเมืองหนานจิง เริ่มวันที่ 9 ก.ค.นี้ และเปิดบินดอนเมือง-กระบี่ วันที่ 2 ส.ค.นี้ และการขยายจุดบินสู่ต่างประเทศเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังอยู่ระหว่างขออนุมัติการเปิดให้บริการ Pet On Board ในลักษณะการเปิดบริการทุกเที่ยวบิน โดยจะกันที่นั่ง 6 แถวหลังสุด เพื่อให้บริการสัตว์เลี้ยงเดินทางไปพร้อมกับผู้โดยสาร

นกแอร์ พ้นแผนฟื้นฟูอีก 2 ปี จ่อบินสนามบินสุวรรณภูมิ ทำอินเตอร์ไลน์การบินไทย

นอกจากนี้นกแอร์ ยังได้หารือกับการบินไทย ในการทำ Interline Connecting ร่วมกับการบินไทย (การต่อเครื่องคนละสายการบิน) โดยนกแอร์จะให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพิ่มขึ้นอีก 1 จุดบิน เพิ่มเติมจากสนามบินดอนเมือง ซึ่งนกแอร์จะบินเป็น 3 เหลี่ยม อาทิ เส้นทางบินดอนเมือง-ภูเก็ต-สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง-เชียงใหม่-สุวรรณภูมิ เป็นต้น คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้นกแอร์มีลูกค้าต่างชาติที่เดินทางมาต่อเครื่องของการบินไทย และการบินไทยมีเส้นทางบินภายในประเทศไว้บริการผู้โดยสาร เนื่องจากการบินไทยก็เครื่องบินไม่พอ และเครื่องบินเดิมของไทยสมายล์ก็นำไปบินในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้นกแอร์มากขึ้น