3 สายการบินฟื้นฟูฉลุย เสริมแกร่งกู้เงิน-เพิ่มทุน ทยอยออกจากแผนปลายปีนี้

23 มิ.ย. 2567 | 19:00 น.

3 สายการบินเดินตามแผนฟื้นฟูกิจการฉลุย นกแอร์ กู้เงินผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 พันล้านบาท เสริมสภาพคล่อง จ่อเพิ่มทุน 3 พันล้านบาท ออกจากแผนฟื้นฟูอีก 2 ปี ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เพิ่มทุน 1 พันล้านบาท พ้นแผนฟื้นฟูปลายปีนี้ สคร.เล็งชงคลังอนุมัติแผนเพิ่มทุนการบินไทย 1.2 หมื่นล้านบาท

หลังโควิด-19 นับเป็นเวลา 2-3 ปีกว่าแล้ว ที่ 3 สายการบินของไทย ได้แก่ นกแอร์ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ และการบินไทย ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งปัจจุบันการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ถือว่าเป็นไปด้วยดี และดีกว่าที่คาดไว้ จากสถานการณ์การบินที่ฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นแรงหนุน โดยจากสถานการณ์ในขณะนี้ สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะเป็นสายการบินแรกที่จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ในปลายปีนี้ ตามมาด้วยการบินไทยและนกแอร์

แผนฟื้นฟูกิจการ 3 สายการบินของไทย

 

  • นกแอร์ ออกจากแผนฟื้นฟูอีก 2 ปี 

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันนกแอร์ ยังมั่นใจว่าบริษัทจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการภายในเวลา 2 ปีจากนี้ หรือในปี 2569 เนื่องจากการดำเนินธุรกิจของนกแอร์ เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาสัญญาค่าเช่าเครื่องบิน ซึ่งลดต้นทุนไปได้มาก การเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน การเพิ่มรายได้จากบริการใหม่ที่แตกต่างจากตลาด เช่น NOK MAX ที่รวมการให้บริการทุกอย่างแบบฟูลเซอร์วิสรวมการให้บริการเลาจญ์ของนกแอร์ และการเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ เช่น การขายบริการห้องรับรองพิเศษ การขนส่งสินค้าทางอากาศ รวมไปถึงการบริหารจัดการชั่วโมงการบินใหม่ ทำให้นกแอร์ มีสถิติการตรงเวลา (The On-time Performance) เพิ่มขึ้นมากกว่า 85% ในปีนี้

ส่งผลให้นกแอร์เริ่มกลับมามีกำไรครั้งแรกในรอบ 9 ปี และมีการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดนกแอร์ได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน ภายใต้วงเงินกู้ยืมจาก “หทัยรัตน์ จุฬางกูร” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท วงเงินกู้ยืมไม่เกิน 2 พันล้านบาท โดยเบิกใช้ตามความเหมาะสม ซึ่งเป็นไปตามแผนฟื้นฟูที่วางไว้ โดยนกแอร์ จะนำมาใช้เพิ่มสภาพคล่องเนื่องจากปีนี้มีซ่อมเครื่องยนต์ของเครื่องบินซึ่งครบรอบที่ต้องซ่อมบำรุงตามเวลา และเตรียมสำหรับเปิดเส้นทางบินต่างประเทศใหม่ๆเพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 นี้

วุฒิภูมิ จุฬางกูร

นกแอร์ตั้งเป้าจะเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์เครื่องบินเพิ่มจากจาก 12 ชั่วโมงต่อวัน ไปเป็น 13 ชั่วโมงต่อวันในช่วงปลายปีนี้ โดยจะนำเครื่องบินไปใช้งานตอนกลางคืนให้มากขึ้น โดยเตรียมจะเปิดบินสู่มุมไบ และไฮเดอราบัด เริ่มวันที่ 27 ต.ค.นี้ เนื่องจากล่าสุดมีการเจรจาจัดสรรสิทธิการบินระหว่างไทย-อินเดีย เพิ่มได้อีก 7,000 ที่นั่งต่อสัปดาห์ นกแอร์ได้รับการจัดสรรอยู่ที่ 2,000 ที่นั่งต่อสัปดาห์

รวมทั้งเตรียมจะเปิดเส้นทางบินดอนเมืองหนานจิง เริ่มวันที่ 9 ก.ค.นี้ และเปิดบินดอนเมือง-กระบี่ วันที่ 2 ส.ค.นี้ และการขยายจุดบินสู่ต่างประเทศเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังอยู่ระหว่างขออนุมัติการเปิดให้บริการ Pet On Board ในลักษณะการเปิดบริการทุกเที่ยวบิน โดยจะกันที่นั่ง 6 แถวหลังสุด เพื่อให้บริการสัตว์เลี้ยงเดินทางไปพร้อมกับผู้โดยสาร

  • นกแอร์รุกเปิดบินสนามบินสุวรรณ เตรียมผนึกการบินไทย ทำอินเตอร์ไลน์

นอกจากนี้นกแอร์ ยังได้หารือกับการบินไทย ในการทำ Interline Connecting ร่วมกับการบินไทย (การต่อเครื่องคนละสายการบิน) โดยให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งนกแอร์จะบินเป็น 3 เหลี่ยม อาทิ เส้นทางบินดอนเมือง-ภูเก็ต-สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง-เชียงใหม่-สุวรรณภูมิ เป็นต้น คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้นกแอร์มีลูกค้าต่างชาติที่เดินทางมาต่อเครื่องของการบินไทย และการบินไทยมีเส้นทางบินภายในประเทศไว้บริการผู้โดยสาร เนื่องจากการบินไทยก็เครื่องบินไม่พอ และเครื่องบินเดิมของไทยสมายล์ก็นำไปบินในต่างประเทศ

นกแอร์

“การจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ นกแอร์จะชำระหนี้ตามแผน 2,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจ่ายหนี้ให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งจะจ่ายในปี 2569 และจะเพิ่มทุนอีก 3,000 ล้านบาท ในปี 2569 เช่นกัน โดยการเพิ่มทุนอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าเราจะใส่เงินเพิ่มทุนเอง หรือแปลงหนี้เป็นทุน หรือการออกหุ้นกู้” นายวุฒิภูมิ กล่าวทิ้งท้าย

  • ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เตรียมเพิ่มทุน 1 พันล้านบาท ปลายปีนี้

ด้านนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กล่าวว่า สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เตรียมจะเพิ่มทุน 1,000 ล้านบาทในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งกำลังพิจารณาว่าจะเป็นการเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม หรือผู้ถือหุ้นใหม่ หรือออกหุ้นใหม่ ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป เพื่อจะให้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในปีนี้ (เร็วกว่าเดิมที่คาดว่าไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ในปลายปี 2568)

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์

นอกจากนี้สายการบินยังมีแผนจะรับมอบเครื่องบินเพิ่มอีก 4 ลำในปี 2567 นี้ ซึ่งปัจจุบันไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มีเครื่องบินแอร์บัส เอ 330 ประจำฝูงบิน 7 ลำ และภายในปีนี้จะเพิ่มเป็น 11 ลำ เพื่อนำมาเพิ่มความถี่และขยายเส้นทางบินเพิ่มขึ้น

รวมทั้งสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เตรียมกลับมาเปิดให้บริการเส้นทางบินตรงกรุงเทพ (สุวรรณภูมิ) - นาโกย่า ประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง โดยจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้ จำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ คาดว่าจะทำให้รายได้ตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 15 % ซึ่งปัจจุบันเส้นทางญี่ปุ่นถือเป็นเส้นทางบินหลักที่ทำรายได้ให้กับไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์เกินกว่า 50%

อีกทั้งไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ยังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดเส้นทางบินใหม่ในญี่ปุ่น เช่นเซนได รวมทั้งเมลเบิร์นในออสเตรเลีย และจุดบินอื่นๆ ในยุโรป คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วฯนี้

ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์

  • สคร.เล็งชงกระทรวงการคลังอนุมัติแผนเพิ่มทุนการบินไทย 1.2 หมื่นล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าของการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง กล่าวล่าสุดว่า ผลประกอบการทางการเงินของการบินไทยดีขึ้นอย่างมาก และขณะนี้การบินไทยอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้น ซึ่งทางสคร.จะต้องเสนอแผนดังกล่าวให้กับระดับนโยบายได้พิจารณาอนุมัติอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงปลายปีนี้

ทั้งนี้ตามแผนการฟื้นฟูกิจการและกลับเข้าเทรดในตลาดหุ้น ผู้ถือหุ้นของการบินไทยจะต้องเพิ่มทุน โดยกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ได้เตรียมแผนการเพิ่มทุนให้แก่บริษัท การบินไทยในวงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้น โดยสัดส่วนการถือหุ้นหลังเข้าเพิ่มทุนในจำนวนดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 40% ซึ่งจะไม่ทำให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ

การบินไทย

ด้านนายรัฐ รักสำหรวจ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินองค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงาน Opportunity Day ว่า การบินไทยน่าจะมีการเพิ่มทุนไตรมาสที่ 4 นี้ จากผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน ถ้าเหลือก็จะจัดสรรให้พนักงานที่สนใจในรูปแบบการเพิ่มทุน ESOP ต่อไป รวมถึงอาจมีการเพิ่มทุนเฉพาะเจาะจงในส่วนที่เหลือจากนั้น

อย่างไรก็ตามตามแผนการบินไทยจะต้องปรับโครงสร้างทุน 8 หมื่นล้านบาท โดยแปลงหนี้เป็นทุน แบ่งเป็น สินเชื่อใหม่ (Term Loan) 12,500 ล้านบาท กระทรวงการคลัง 12,827 ล้านบาท เจ้าหนี้สถาบันเงินกู้และหุ้นกู้ 25,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยตั้งพัก 4,845 ล้านบาท และการออกหุ้นเพิ่มทุน ผู้ถือหุ้นเดิม (PPO) 25,000 ล้านบาท ที่จะดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุนและเพิ่มทุนตามไทม์ไลน์จะดำเนินการไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค.2567 เพื่อให้มีทุนจดทะเบียนเป็นบวก และส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก จากนั้นจะออกจากแผนฟื้นฟูและกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในปี 2568