วันนี้(วันที่ 3 กรกฎาคม 2567) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานและกล่าวงาน Dinner Talk เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี การดำเนินงาน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือ AOT
โดยมี นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน โดยมี พล.ต.อ. วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการ ทอท. นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ให้การต้อนรับ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศ วิสัยทัศน์ Thailand Vision โดยมุ่งพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน และตั้งเป้าประเทศไทยจะก้าวไปเป็นที่ 1 ของภูมิภาค โดยยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) นั้น
รัฐบาลจะใช้ศักยภาพและทรัพยากรของประเทศไทยที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทุกด้านเพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจ เนื่องจากประเทศไทยมีขนาดพื้นที่เป็นอันดับที่ 50 ของโลก แต่มีผู้เดินทางจากทั่วทุกมุมโลกมาเยือนอยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก
ทั้งนี้ตัวเลขผู้โดยสารใน 5 เดือนแรกของปี 2567 ตั้งแต่เดือนมกราคม - พฤษภาคมที่ผ่านมา มีผู้เดินทางเข้า - ออกผ่านท่าอากาศยานหลักของประเทศไทยประมาณ 52.16 ล้านคน เพิ่มขึ้น 20.28% เมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศกว่า 32.05 ล้านคน
ทั้งนี้ถือเป็นสัดส่วนที่เยอะมากที่จะช่วยนำเม็ดเงินเข้ามาในประเทศ ผู้โดยสารสัญชาติหลัก ๆ ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ รัสเซีย ญี่ปุ่น โดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับคนไทยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนประชากร
เนื่องจากรายได้หลักของคนไทยมาจากการท่องเที่ยว คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 70% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
กระทรวงคมนาคมให้ความสําคัญและเร่งรัดดําเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศตามวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND : จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง” ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
โดยกระทรวงฯ นำวิสัยทัศน์และนโยบายดังกล่าว มาจัดทำเป็นแผนดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ควบคู่กับการยกระดับท่าอากาศยานของไทยให้กลับมาติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกภายใน 5 ปี
หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้กลับไปติด 1 ใน 58 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมืองคว้าอันดับ 1 ใน 10 สนามบินโลว์คอสที่ดีสุดในโลก
นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้ประกอบการต่าง ๆ จะร่วมกันผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินให้ไปถึงเป้าหมายการเป็นฮับการบินของภูมิภาค และขอบคุณ ทอท. ซึ่งเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศในการรองรับการเติบโตด้านการคมนาคมทางอากาศและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในอนาคต
ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิ มีผู้โดยสารมาใช้บริการมากที่สุดกว่า 40 ล้านคน อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดโครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) คาดว่าจะเพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารได้อีก 81,000 ตารางเมตร
รวมถึงอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการทางวิ่งเส้นที่ 3 ในช่วงปลายปี 2567 ทำให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น จาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
นอกจากนี้ AOT ได้วางแผนพัฒนา ทสภ.อย่างต่อเนื่องจนถึง Ultimate Phase โดยได้วางแผนดำเนินการก่อสร้างโครงการสำคัญต่างๆ ได้แก่ โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันตก (West Expansion) โครงการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (Satellite 2: SAT-2) โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) และโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4
เมื่อทุกโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่า ทสภ.จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
สำหรับสนามบินดอนเมือง ทดม. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนา ทดม. ระยะที่ 3 วงเงินงบประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี โดยจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (อาคาร 3) มีพื้นที่ให้บริการกว่า 166,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้ 18 ล้านคนต่อปี และจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 และ 2 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ รองรับผู้โดยสารภายในประเทศได้ 22 ล้านคนต่อปี มีพื้นที่ให้บริการกว่า 210,800 ตารางเมตร
ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2573 นอกจากนี้ AOT ยังมีแผนจะปรับปรุงพื้นที่กว่า 21,000 ตารางเมตร เพื่อก่อสร้างอาคารรับรองพิเศษสำหรับเครื่องบินส่วนบุคคล (Private Jet Terminal) รวมถึงกิจกรรมด้านการบินทั่วไป (General Aviation: GA) บริเวณด้านทิศใต้ของ ทดม.ด้วย
ทางด้านภาคใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ทภก.ปัจจุบันรองรับผู้โดยสารกว่า 13 ล้านคน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ทภก. ระยะที่ 2 วงเงินงบประมาณ 6.21 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี โดยจะก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มพื้นที่อีกกว่า 177,000 ตารางเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2572
สำหรับโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามัน (ท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2) บนพื้นที่ 7,300 ไร่ งบประมาณลงทุนประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพื่อรองรับผู้โดยสาร 22.5 ล้านคนต่อปี ทางวิ่ง 2 เส้น สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 43 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และหลุมจอดอากาศยาน 44 หลุมจอด
โดยคาดว่าจะตั้งอยู่ในตำบลโคกกลอย และตำบลหล่อยูง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ห่างจากสนามบินภูเก็ต 23.4 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 26 นาที โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ตลอดจนกระบวนการจัดตั้งท่าอากาศยาน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 ปี
ในส่วนภาคเหนือซึ่งมีผู้โดยสารหนาแน่นเช่นกัน AOT มีแผนจะเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานให้สามารถรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารได้มากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 วงเงินงบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ มีพื้นที่กว่า 95,000 ตารางเมตร
รวมทั้งจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ทำให้มีพื้นที่ให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 66,600 ตารางเมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของ ทชม.ในการรองรับผู้โดยสารได้เป็น 20 ล้านคนต่อปี โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปี 2569
สำหรับโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานล้านนา (สนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2) บนพื้นที่ 8,050 ไร่ งบประมาณลงทุนประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพื่อรองรับผู้โดยสาร 24 ล้านคนต่อปี ทางวิ่ง 2 เส้น สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 41 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และหลุมจอดอากาศยาน 38 หลุมจอดรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศได้ 32,000 ตัน
โดยคาดว่าจะตั้งอยู่ในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ซึ่งห่างจาก ทชม. 22 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 32 นาที โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ตลอดจนกระบวนการจัดตั้งท่าอากาศยาน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 ปี
ทางด้านการเข้าบริหารท่าอากาศยาน 3 แห่งของกรมท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 นั้น
เมื่อสามารถเข้าบริหารได้แล้ว AOT มีแผนจะพัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานีให้สามารถรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 3.4 ล้านคนต่อปี เพิ่มเป็น 6.5 ล้านคนต่อปี เที่ยวบินเพิ่มเป็น 20 เที่ยวบินต่อชั่วโมง มีวงเงินลงทุนประมาณ 3,500 ล้านบาท และจะพัฒนาท่าอากาศยานบุรีรัมย์ให้สามารถรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 780,000 คนต่อปี เพิ่มเป็น 2.8 ล้านคนต่อปี เที่ยวบินเพิ่มเป็น 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง วงเงินลงทุนประมาณ 460 ล้านบาท
สำหรับท่าอากาศยานกระบี่จะพัฒนาให้สามารถรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 4 ล้านคนต่อปี เพิ่มเป็น 12 ล้านคนต่อปี และเที่ยวบินเพิ่มเป็น 31 เที่ยวบินต่อชั่วโมง วงเงินลงทุน 6,500 ล้านบาท