จากกรณีที่ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน
โดยจะขอให้พิจารณาให้ทบทวนมติครม.ที่ให้ การบินไทย ดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เนื่องจากการบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อนำพื้นที่ไปเปิดประมูลเชิญชวนนักลงทุนที่สนใจจากทั่วโลก เข้ามาลง MRO
ต่อเรื่องนี้นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฯฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การบินไทย ยังยืนการลงทุนในโครงการศูนย์ซ่อม MRO ที่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเราเตรียมแผนไว้หมดแล้ว ซึ่งถ้า EEC เปิดประมูลการบินไทยก็มีความพร้อมในการเข้าไปลงทุน
ทั้งนี้ขณะนี้การบินไทยยังไม่ได้รับทราบเงื่อนไขที่ EEC จะชงเรื่องเข้าครม.ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้การบินไทย ดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance Repair and Overhaul : MRO)
เพราะจากการหารือล่าสุดก็มีการหารือร่วมกันใน 2 แนวทาง ได้แก่ 1. การดำเนินการในลักษณะการเช่าพื้นที่ และ 2.สิทธิที่การบินไทยเคยได้รับจากมติครม.ในการให้เข้าไปลงทุน ซึ่งอยู่ระหว่างการตีความ เนื่องจากการบินไทยพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจไปแล้ว
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวต่อว่า จากที่เคยตกลงกันก่อนหน้านี้การบินไทยก็ดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมอยู่ที่สนามบินอู่ตะเภาอยู่แล้ว ต่อมา EEC ขอให้การบินไทยย้ายออก เพื่อเปิดพื้นที่ในการก่อสร้างรันเวย์ 2 สนามบินอู่ตะเภา ที่ผ่านมาการบินไทยก็รื้อโรงซ่อมเครื่องบิน(แฮงการ์)ทิ้งไปนานแล้วและขายเป็นเศษเหล็กไปแล้ว และเราก็ได้รับสิทธิในการเป็นผู้ลงทุน MRO อู่ตะเภา ในพื้นที่ 210 ไร่ตามมติครม.เมื่อปี 2561
"แต่เมื่อ EEC จะมีนโยบายชงเรื่องให้รัฐบาลยกเลิกสิทธิของการบินไทย ก็คงต้องรอดูเงื่อนไขจาก EEC ก่อน แต่ยืนยันว่าถ้าเขาเปิดประมูลเราก็พร้อมลงทุน เพราะปัจจุบันการบินไทยมีกระแสเงินสดอยู่ 8 หมื่นล้านบาท เราไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ส่วนการชำระหนี้ก็เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งหนี้ได้ถูกยืดชำระหนี้ออกไปเป็นเวลา 12 ปี การลงทุน MRO จึงไม่มีปัญหาอยู่แล้ว" นายปิยสวัสดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การบินไทย สนใจที่จะลงทุน MRO อู่ตะเภา แต่ต้องขอดูเงื่อนไขจาก EEC ด้วย ซึ่งการทำธุรกิจศูนย์ซ่อม MRO ในไทย การบินไทยมีฝูงบินมากที่สุด ปัจจุบันอยู่ที่ 77 ลำ และในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเครื่องบินรวมกันเป็น 140-150 ลำ
ถ้าในพื้นที่อีอีซีไม่มีศูนย์ซ่อมของการบินไทย ผู้ประกอบการรายไหนจะมีขีดความสามารถในการดึงดีมานต์เครื่องบินเข้ามาซ่อมได้มากขนาดนี้ได้ทันทีเพราะธุรกิจ MRO นอกจากการซ่อมเครื่องของสายการบินเองเป็นหลัก และการซ่อมบำรุงเครื่องบินของลูกค้า ธุรกิจจึงไปได้ และ
อีกทั้งในทางกลับกันถ้าการบินไทยไม่มีศูนย์ซ่อม แปลว่าการบินไทยต้องนำเครื่องบินไปซ่อมที่ต่างประเทศ เงินตราจะไหลออกนอกประเทศหรือไม่
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการบินไทยได้หารือกับพันธมิตรหลายราย ซึ่งกันและกัน MRO มีหลายหลากมาก แต่คนก็จะมองว่าต้องเป็นแอร์บัส หรือ โบอิ้ง ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่ แต่ยังมีองค์ประกอบที่เกี่ยวเนื่องหลายด้าน อาทิ ผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ที่การบินไทยได้มีการหารือกับผู้ลงทุนแล้ว ซึ่งงบลงทุนยังไม่สามารถบอกได้ในขณะนี้