เปิดพอร์ต แรบบิท โฮลดิ้งส์ บีทีเอส รับซื้อหุ้น ชูบริการการเงินเรือธงธุรกิจ

06 ก.ย. 2567 | 22:00 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2567 | 02:14 น.

เปิดพอร์ตแรบบิท โฮลดิ้งส์ บีทีเอส ตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้น เพิ่มสัดส่วนจาก 47.7% คาดซื้อได้สูงสุด 90.4% กวิน กาญจนพาสน์ ปรับจากอสังหาสู่บริการการเงิน ดันเป็นเรือธง หลังขายโรงแรมยุโรป เหลือลงทุนโครงการค้างเดิม ทุ่ม 6 พันล้าน สร้างโรงแรมหรู เดอะแลงแฮม แบงค็อก โรงภาษีร้อยชักสาม

การจัดโครงสร้างของบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) จัดว่าเป็นกลยุทธ์การปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินธุรกิจในระยะยาว เพื่อมุ่งสู่การลงทุนในธุรกิจที่มีความหลากหลาย ซึ่งปรับเปลี่ยนจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียว ขยายไปสู่ธุรกิจบริการทางการเงิน

พร้อม Synergy ร่วมกับบริษัทต่าง ๆ ทั้งภายในกลุ่มบริษัทบีทีเอส ซึ่งเป็นโครงสร้างในการจัดพอร์ตธุรกิจที่ต่อเนื่อง หลังจากเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มบีทีเอส คือ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “แรบบิท โฮลดิ้งส์” 

โครงสร้างของแรบบิท โฮลดิ้งส์ จะดำเนินธุรกิจด้านการลงทุนที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะประกอบไปด้วย 5 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ประกันภัย, NPL & NPA (ธุรกิจบริหารหนี้), การบริหารสินทรัพย์ และธุรกิจโรงเรียน ภายใต้โรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ โดย บีทีเอส โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) จะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจาก 47.7% ได้สูงสุดถึง 90.4%

โดยขณะนี้บีทีเอส อยู่ระหว่างเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของแรบบิท จำนวน 5,481,004,623 หุ้น (ไม่รวมหุ้นสามัญ ที่บริษัทฯ ถืออยู่) คิดเป็น 17.23 % ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ แรบบิท และหุ้นบุริมสิทธิทั้งหมดของแรบบิท จำนวน 8,109,121,267 หุ้น (ไม่รวมหุ้นบุริมสิทธิที่บริษัทฯและบุคคลที่แสดงเจตนาไม่ขายหุ้นบุริมสิทธิในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ถืออยู่) คิดเป็น 25.49 % ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายทั้งหมดของแรบบิท ในราคาเสนอซื้อหุ้นละ 0.60 บาท คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 8,154,075,534 บาท

นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในขณะนี้บีทีเอส อยู่ระหว่างการทำ Tender Offer (ตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้น)ของแรบบิท โดยเป็นการซื้อหุ้นจากผู้ลงทุนในราคา 60 สตางค์ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในอีก 1-2 เดือนข้างหน้านี้

ส่งผลให้บีทีเอส ถือหุ้นในแรบบิท เพิ่มขึ้นมากกว่า 47.7% แต่จะซื้อได้เท่าไร่ คงต้องรอดำเนินการแล้วเสร็จเสียก่อน แต่ถ้าซื้อได้ครบก็น่าจะทำให้บีทีเอส ถือหุ้นในแรบบิท เพิ่มขึ้นได้สูงสุดถึง 90.4% เพราะหุ้นที่เหลืออีกราว 8-9 % ทางธนาคารกรุงเทพ ก็คงจะไม่ขาย 

กวิน กาญจนพาสน์

ทิศทางการดำเนินธุรกิจของแรบบิท โฮลดิ้งส์ ชัดเจนว่าเราจะไม่โฟกัสการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์อย่างเดียวเหมือนในอดีต เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากโควิด ธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ อาคารสำนักงาน ไม่ได้ดีมากเหมือนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

ทำให้ที่ผ่านมาเราจึงได้ปรับโครงสร้างไปเมื่อ 2 ปีก่อน โดยปรับเปลี่ยนจาก ยู ซิตี้ เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น แรบบิท โฮลดิ้งส์ และที่ผ่านมาได้ทยอยขายสินทรัพย์ด้านอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ออกไปแล้ว

อาทิ ขายโรงแรมอนันตรา เชียงใหม่ รีสอร์ท แอนด์ สปา  การขายหุ้นของบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจโรงแรมในยุโรป จำนวน 17-18 แห่งภายใต้แบรนด์เวียนนา เฮ้าส์ มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ที่เราได้เงินมัดจำแล้ว และอยู่ระหว่างทยอยรับเงินต่อเนื่อง รวมทั้งการขายที่ดินบางส่วน เพื่อนำเงินมาขยายธุรกิจบริการทางการเงิน

โดยได้ซื้อ แรบบิท ประกันชีวิต หรือ Rabbit Life  และทำเรื่อง NPL & NPA (ธุรกิจบริหารหนี้) ส่วนซิงเกอร์ เราได้ขายคืนให้เจมาร์ทไปแล้ว อีก 2 ปีจะได้รับเงินทั้งหมด ดังนั้นเราจะเน้นการสร้างรายได้จาก Rabbit Life และธุรกิจบริหารหนี้ ซึ่งเรามองว่าธุรกิจบริการทางการเงิน จะเป็นอีกหนึ่งเรือธงในธุรกิจของแรบบิท โฮลดิ้งส์

นายกวิน ยังกล่าวต่อว่า แม้เราจะขายอสังหาริมทรัพย์ไปหลายแห่ง แต่ปัจจุบันแรบบิท โฮลดิ้งส์ ก็ยังเป็นเจ้าของโรงแรมหลายแห่ง อาทิ โรงแรมยู สาทร กรุงเทพ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท

นอกจากนี้แรบบิท ยังจะดำเนินการลงทุนในอีก 2 โครงการซึ่งเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์เดิมที่ยังค้างอยู่ ได้แก่ โรงแรม เดอะแลงแฮม แบงค็อก ลงทุน 6 พันล้านบาท ในพื้นที่โรงภาษีร้อยชักสาม หรือ ศุลกสถาน (Customs House)ที่จะปรับให้กลายเป็นโรงแรมหรู 78 ห้อง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  เปิดให้บริการปลายปี 2569

โรงแรม เดอะแลงแฮม แบงค็อก

รวมถึงแรบบิท โฮลดิ้งส์ ยังอยู่ระหว่างการลงทุนโครงการเดอะ เรสซิเดนเซส 38 (THE RESIDENCES38) เรสซิเด้นท์หรู ย่านทองหล่อ โดยดึงพันธมิตรที่โดดเด่นทางกลยุทธ์ทั้งด้านแบรนด์และการตลาด

อย่างบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารโครงการตั้งแต่การก่อสร้าง การพัฒนาโครงการ การวางแผนการขายและการตลาด เพื่อ ขยายฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ จากเครือข่ายลูกค้าที่แข็งแกร่งและหลากหลายของอนันดาฯ

สำหรับธุรกิจบริการด้านการเงินของแรบบิท จะประกอบไปด้วย ธุรกิจประกันชีวิต หรือ แรบบิท ประกันชีวิต หรือ Rabbit Life นอกจากนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ครอบคลุมทุกเหตุกาณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นหลากหลายประเภท อาทิ การรับประกันชีวิตประเภทสามัญรายบุคคล และการรับประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล

โดยให้บริการผ่านหลายช่องทาง ทั้งตัวแทนและนายหน้า การตลาดทางโทรศัพท์ รวมถึงช่องทางการขายออนไลน์แล้ว แรบบิท ไลฟ์ ยังเป็นตัวแทนสนับสนุนการขายหน่วยลงทุนกองทุนรวม (LBDU : Limited Broker Dealer Underwriter) โดยผ่านกระบวนการวางแผนการเงินส่วนบุคคล ซึ่งเป็นบริการด้าน Wealth Management

ส่วนธุรกิจการบริหารหนี้ของแรบบิท ที่ก่อนหน้านี้ได้ลงทุนในบริษัทบริหารสินทรัพย์ ไพร์ม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทีมผู้บริหารมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารสินทรัพย์ประเภทสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดยเฉพาะสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (secured NPL) และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) มามากกว่า 20 ปี

หากนำโมเดลจากการบริหารธุรกิจประกันชีวิต (แรบบิท ไลฟ์) ที่ประสบความสำเร็จมาปรับใช้กับไพร์มโซน ด้วยเงินทุนและแพลตฟอร์ม 3M (MOVE, MIX และ MATCH) ที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ และกลุ่มบีทีเอส ประกอบกับความสามารถและประสบการณ์ของผู้บริหารจากไพร์มโซน คาดว่าจะสามารถสร้างการเติบโตที่ก้าวกระโดดให้กับแรบบิทได้ โดยตั้งเป้าพอร์ตหนี้เติบโตขึ้นไปแตะที่ระดับ 10,000 ล้านบาท ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า