การบินไทยประชุมเจ้าหนี้ 8 พ.ย.นี้ ลดพาร์ล้างขาดทุนสะสม 6 หมื่นล้าน จ่ายปันผล

01 ต.ค. 2567 | 06:29 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2567 | 06:55 น.

การบินไทยนัดประชุมเจ้าหนี้ 8 พ.ย.นี้ ขอโหวตแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ลดพาร์ ล้างขาดทุนสะสม 6 หมื่นล้าน กลับมาจ่ายปันผลดึงดูดนักลงทุน หลังกลับเข้าเทรดในตลาดหุ้น

ล่าสุดการบินไทยได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อปรับโครงสร้างทุน และเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน Preferential Public Offering (PPO) จำนวนประมาณ 9,800 ล้านหุ้น ในราคาเสนอไม่ต่ำกว่า 2.54 บาทต่อหุ้น มูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท เพื่อเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ

แผนปรับโครงสร้างทุน การบินไทย

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า การบินไทย กำหนดวันนัดประชุมเจ้าหนี้ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 เพื่อพิจารณาขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ที่จะขอลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) หรือลดพาร์ จากปัจจุบันที่หุ้นละ 10 บาท เพื่อนำมาเป็นวิธีใช้ล้างขาดทุนสะสมปัจจุบันที่มีประมาณ 6 หมื่นล้านบาท

หลังจากเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 การบินไทยได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี เพื่อขอลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) หรือลดพาร์ไปแล้ว

ชาย เอี่ยมศิริ
 
ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ในอนาคตสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น รวมถึงเจ้าหนี้ จากการแปลงหนี้เป็นทุน อีกทั้งยังเป็นการดึงดูดนักลงทุนให้เข้าลงทุนในหุ้นของบริษัท และพร้อมกลับมาจ่ายปันผลจากผลการดำเนินงานปี 2568 หลังกลับเข้าเทรดในตลาดหุ้น

อย่างไรก็ตามหากเจ้าหนี้มีมติเห็นชอบอนุมัติให้มีการลดพาร์แล้ว คาดว่าจะมีการดำเนินการประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2568 หลังงบการเงินปี 2567 ออกมา และดำเนินงานเพิ่มทุนเสร็จสิ้น

เพื่อรองรับแผนในการนำหุ้น บมจ.การบินไทย กลับเข้ามาซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงวดปี 2568 ให้กับผู้ถือหุ้นทุกรายได้ทันที โดยมีนโยบายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 25% ของกำไรสุทธิ

โดยหุ้นของ บมจ.การบินไทย หลังกลับมา Resume Trade ต้องการมีสัดส่วนของผู้ถือหุ้นที่มีส่วนผสมของผู้ถือหุ้นที่มีความสมดุล ทั้งจากนักลงทุนระยะยาว

เช่น กลุ่ม Investors Value เพื่อให้หุ้นไม่ผันผวนมากจนเกินไป รวมถึงมีนักลงทุนระยะสั้นมาถือเพื่อให้ราคาหุ้นสะท้อนกับการดำเนินการของบริษัท” ชายกล่าว

 


 

โดยราคาสุดท้ายที่จะมีการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวอยู่ระหว่างให้ที่ปรึกษาทางการเงิน คือบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นผู้กำหนด

ขณะที่คาดว่ากระบวนการใช้สิทธิและแจ้งเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมของเจ้าหนี้แต่ละกลุ่มน่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 และกระบวนการเสนอขายและจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนสำหรับผู้ถือหุ้นก่อนการปรับโครงสร้างทุน

ทั้งในส่วนของพนักงานบริษัทและนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement: PP) นั้นคาดว่าจะดำเนินการเสร็จภายในสิ้นปี 2567

ตอนนี้เริ่มคุยกับนักลงทุนต่างชาติที่มีความสนใจลงทุนในหุ้นของการบินไทยแล้ว มีจำนวนมากกว่า 5 ราย ทั้งกลุ่มกองทุนกับ Strategic Partner สายการบิน 

โดยหากมีหุ้นเพิ่มทุนในส่วนที่เหลือจากการขายผู้ถือหุ้นเดิมกับพนักงาน บริษัทก็จะจัดสรรขายให้กับนักลงทุนต่างชาติในรูปแบบการขายหุ้นเพิ่มทุน Private Placement ซึ่งกระบวนการเพิ่มทุนทั้งหมดจะจบภายในสิ้นปีนี้

นายชาย กล่าวต่อว่า การเพิ่มทุนดังกล่าวจะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกเสร็จสิ้นตามแผนในปี 2567 ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้บริษัทออกจากแผนฟื้นฟูกิจการตามแผนที่บริษัทตั้งไว้

นอกจากนี้ หลังจากงบการเงินปี 2567 ของบริษัทออกมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ขั้นตอนต่อไปบริษัทเตรียมจะนัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น (AGM) ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2568 เพื่อพิจารณาวาระการแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหม่ของบริษัท

อันเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขสำคัญและเป็นเงื่อนไขข้อสุดท้ายในการนำบริษัทออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ เพราะเงื่อนไขข้ออื่นๆ บริษัทได้ทยอยดำเนินการเสร็จสิ้นตามแผน โดยมีทั้งหมด 4 เงื่อนไข ได้แก่

  • การปรับโครงสร้างทุนแปลงหนี้เป็นทุนและการเพิ่มทุน
  • ทำส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัทกลับมาเป็นบวก
  • มี EBITDA จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบินเกิน 2 หมื่นล้านบาท ในรอบ 12 เดือน
  • แต่งตั้งกรรมการบริษัทชุดใหม่

โดยหลังจากได้บอร์ดชุดใหม่แล้วจะส่งผลให้บริษัทสามารถดำเนินการเงื่อนไขครบถ้วนทั้ง 4 ข้อข้างต้น ซึ่งบริษัทจะนำข้อมูลดังกล่าวไปรวมกับข้อมูลงบการเงินปี 2567 ของบริษัท และนำไปยื่นต่อศาลในเดือนเมษายน 2568

ทั้งนี้คาดว่าศาลจะมีคำสั่งให้บริษัทออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในเดือนพฤษภาคม 2568 จากนั้นบริษัทจะยื่นไฟลิ่งเพื่อขอนำหุ้นของ บมจ.การบินไทย กลับเข้ามาขาย (Resume Trade) ในเดือนมิถุนายน 2568 ตามแผนที่วางไว้