วันนี้ (วันที่ 3 ตุลาคม 2567) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศเส้นทางสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนภายใต้แนวคิด“Fly for The New Pride” สู่ขอบฟ้าใหม่แห่งความภูมิใจ เพื่อมุ่งสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจภายใต้การบริหารจัดการของทีมผู้บริหารมืออาชีพที่มากด้วยประสบการณ์ หลังจากได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและผลลัพธ์ในการฟื้นฟูกิจการอย่างแข็งขันมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการปรับโครงสร้างองค์กรสู่ก้าวใหม่ในฐานะบริษัทเอกชน
การปรับฝูงบินและเส้นทางการบิน การปรับปรุงการให้บริการและประสิทธิภาพการดำเนินงาน ตลอดจนการปรับโครงสร้างค่าตอบแทน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของพนักงาน เตรียมทะยานสู่ความสำเร็จในอุตสาหกรรมการบินครั้งใหม่ที่ต่างจากเดิม และร่วมส่งเสริมความแข็งแกร่งให้ตลาดทุนไทยด้วยการกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายในช่วงไตรมาส 2 ปี 2568
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา การบินไทยได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเคร่งครัด จนได้รับผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่คาดหวังเป็นอย่างดี
แผนฟื้นฟูกิจการนี้เปรียบเสมือนการพลิกโฉมองค์กรครั้งสำคัญ ทั้งในด้านการปรับโครงสร้างองค์กรที่พ้นจากสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ สู่ก้าวใหม่ในฐานะบริษัทเอกชนที่ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คล่องตัว และมีความโปร่งใส
โดยผลงานที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็น การปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อลดค่าใช้จ่าย การปรับกลยุทธ์ฝูงบินและเส้นทางการบินเพื่อเพิ่มรายได้และสร้างกำไรในทุกเส้นทางบิน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงาน
การปรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการคัดเลือกและประเมินบุคลากรที่โปร่งใส รวมถึงการปรับโครงสร้างทางการเงินอย่างเป็นระบบ โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม และเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของการบินไทย
การปรับโครงสร้างองค์กรของการบินไทยมีการดำเนินการที่สำคัญประกอบด้วย การปรับลดขนาดองค์กร โดยลดจำนวนพนักงานลง เหลือประมาณ 14,000 คนในปี 2565 การปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจจากไทยสมายล์ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เช่น แอปพลิเคชัน Thai Airways Mobile App เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสารและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานภายใน และระบบ HR Core Value มาใช้ในการคัดเลือกพนักงาน
การปรับโครงสร้างทางการเงิน ได้เจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้โดยไม่ตัดหนี้ (Hair Cut) แต่ปรับปรุงเงื่อนไขการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ บริหารจัดการทรัพย์สิน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน
วันนี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของกระบวนการออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการ หลังจากบรรลุเป้าหมายของแผนการดำเนินงานตามขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3.37 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565
การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจจนทำให้ EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน ตั้งแต่กรกฎาคม 2566 ถึงมิถุนายน 2567 เท่ากับ 29,292 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ที่ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง และการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยไม่เกิดเหตุผิดนัด
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินเฉพาะกิจการ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ยังคงติดลบ 40,427 ล้านบาท การบินไทยจึงเร่งดำเนินงานตามแผนปรับโครงสร้างทุนเพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของการบินไทยกลายเป็นบวก ผ่านการแปลงหนี้เป็นทุน 2 ส่วน คือ แปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้เป็นทุนภาคบังคับ และให้สิทธิแก่เจ้าหนี้เพื่อแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ
รวมถึงจะมีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลตามที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนด ได้แก่ ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของทุนให้กับการบินไทย และเตรียมความพร้อมสำหรับการนำหุ้นการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้ง
โดยภายหลังการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ คาดว่ากระทรวงการคลังจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่สัดส่วนการถือหุ้นจะลดลง เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนรายอื่น ๆ ซึ่งกระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามที่แผนนี้จะเสร็จสิ้นภายในปี 2567
ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ และคาดว่าการบินไทยจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและนำหุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในไตรมาส 2 ปี 2568 นายปิยสวัสดิ์กล่าวเสริม
ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่สำคัญ อาทิ ASK หรือ Available Seat Kilometers ซึ่งเป็นตัวชี้วัดปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร, Aircraft utilization
หรืออัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน, และ Cabin factor หรืออัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร ที่ล้วนแล้วแต่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความแข็งแกร่งของการบินไทยในการกลับมาให้บริการอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง
ความสำเร็จจากการปรับปรุงการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การปรับเส้นทางบินและความถี่ของเที่ยวบินให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร รวมถึงการยกระดับคุณภาพการบริการในทุก ๆ จุดสัมผัส
ทั้งหมดนี้ส่งผลให้การบินไทยมีจำนวนผู้โดยสาร ปริมาณการขนส่ง และรายได้เพิ่มขึ้น โดยในปี 2566 มีผู้โดยสารรวมประมาณ 13.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 9 ล้านคนในปี 2565 และมีรายได้รวมสูงถึง 165,491.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 105,212.3 ล้านบาทในปี 2565
วันนี้ การบินไทยพร้อมที่ก้าวสู่ขอบฟ้าใหม่แห่งความภูมิใจ “Fly for The New Pride” เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่จะนำพาการบินไทยให้ทะยานโลดแล่นบนท้องฟ้าได้ไกลกว่าเดิม มุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการปฏิวัติธุรกิจอย่างมืออาชีพ การสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง และการยกระดับมาตรฐานการบริการในทุกด้าน
เรามุ่งมั่นที่จะเชื่อมโยงความเป็นไทยสู่สากล พร้อมสร้างประสบการณ์ใหม่ที่น่าประทับใจให้กับผู้โดยสาร และเรียกความไว้วางใจจากคนไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติให้กลับคืนมาอีกครั้ง ด้วยความภาคภูมิใจที่เราจะสร้างขึ้นด้วยกัน นายชายเสริม
“ด้วยกลยุทธ์เหล่านี้ การบินไทยจะดำเนินงานได้อย่างคล่องตัว รับมือกับความท้าทาย และปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และสามารถพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด เพื่อการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต” นายชายเสริม
นางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เสริมว่า ผลประกอบการของบริษัทฯ ในปีที่ผ่านมา นับเป็นปีแห่งความสำเร็จ โดยเราสามารถสร้างผลกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 28,123.3 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการกิจการ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯ นอกจากนี้ ในครึ่งปีแรกของปี 2567 บริษัทฯ ยังคงมีผลกำไรต่อเนื่อง
แม้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจสายการบิน บริษัทฯ และบริษัทย่อยยังคงมีรายได้สำหรับงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2567 เพิ่มขึ้น 12,630.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักมาจากการกลับมาให้บริการเที่ยวบินประจำ
รวมถึงเปิดเส้นทางการบินใหม่เพิ่มขึ้น ภายหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คลี่คลายและการยกเลิกมาตรการการจำกัดการเดินทางของหลาย ๆ ประเทศ ทำให้มีผู้โดยสารรวมในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2567 จำนวน 7.68 ล้านคน และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 78.1%
แผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 กำหนดให้ในการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฯ บริษัทฯ ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อรองรับการแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฯ เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) จำนวนไม่เกิน 14,862,369,633 หุ้น ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
โดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 หรือกระทรวงการคลัง จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างเต็มจำนวนในสัดส่วนร้อยละ 100 ในขณะที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18 – 31 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างในอัตราร้อยละ 24.50 ของมูลหนี้เงินต้นคงค้างทั้งหมด
นอกจากนี้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ยังสามารถใช้สิทธิแปลงหนี้เงินต้นคงค้างเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้เพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) จำนวนไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น ได้ในสัดส่วนที่ต้องการแต่จะต้องไม่เกินภาระหนี้ตามแผนฯ ของตน
อีกทั้งเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ตามแผนฯ ยังได้รับสิทธิแปลงดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยความสมัครใจ จำนวนไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น โดยกำหนดให้ใช้สิทธิในการแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเต็มจำนวนของมูลหนี้เท่านั้น ไม่สามารถเลือกใช้สิทธิบางส่วนได้ ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น และเพื่อความสำเร็จของการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฯ
รวมทั้งเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคาหุ้นของการบินไทยภายหลังกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้บริหารแผนได้กำหนดมาตรการ Lock-up ห้ามเจ้าหนี้ที่ได้รับหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากการแปลงหนี้เป็นทุนขายหุ้นดังกล่าวจนกว่าจะครบระยะเวลา 1 ปีนับจากวันที่หุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยหลังจากวันที่ครบกำหนดระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่หุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงจะให้เจ้าหนี้ที่ได้รับหุ้นจากการแปลงหนี้เป็นทุนแต่ละรายสามารถขายหุ้นในส่วนดังกล่าวของตนได้จำนวนไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นที่ตนถูกห้ามขาย และสำหรับกระบวนการถัดไปในเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน
ประกอบด้วย การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 59.01 ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด รวมทั้งหุ้นที่เหลือจากกระบวนการ Voluntary Conversion (หากมี) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุน (โดยไม่จัดสรรและเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้การบินไทยมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ) พนักงานของการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ
โดยจะเสนอขายในราคาที่ผู้บริหารแผนเห็นสมควรแต่จะต้องไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น โดยได้มีการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567
ทั้งนี้คาดว่าจะมีการออกรายงานประเมินมูลค่ายุติธรรมโดยที่ปรึกษาทางการเงินอิสระในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2567 ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการใช้สิทธิของเจ้าหนี้ในการแปลงหนี้เป็นทุนในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในช่วงเดือนธันวาคม 2567 ต่อไป