กว่า 3 ปีที่การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ล่าสุดวันนี้เป็นก้าวใหม่ที่การบินไทย เตรียมจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ หลังการปรับโครงสร้างทุนที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะเกิดขึ้น
หลังจากก่อนหน้านี้การบินไทยบรรลุเป้าหมายการออกจากแผนฟื้นฟูแล้วหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3.37 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2565 การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจจนทำให้ EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน ตั้งแต่ ก.ค.2566 ถึง มิ.ย.2567 อยู่ที่ 29,292 ล้านบาท สูงกว่าที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ที่ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง และ การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยไม่เกิดเหตุผิดนัด
รวมถึงเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2567 การบินไทยยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี เพื่อขอลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้(พาร์)จากปัจจุบันที่หุ้นละ 10 บาท เพื่อนำมาล้างขาดทุนสะสม ที่มีอยู่ราว 60,000 ล้านบาท
โดยจะนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 8 พ.ย.2567นี้ หากเจ้าหนี้เห็นชอบอนุมัติให้ลดพาร์ก็จะดำเนินการในเดือน ก.พ.2568 หลังงบปี 2567 ออกและเพิ่มทุนเสร็จสิ้นรองรับแผนนำหุ้นกลับมาเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯและจะกลับมาจ่ายเงินปันผลได้
การปรับโครงสร้างทุนที่จะเกิดขึ้น นางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บมจ.การบินไทย (THAI) กล่าวว่า แผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 กำหนดให้ในการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฯ บริษัทต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อรองรับการแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฯ เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) จำนวนไม่เกิน 14,862,369,633 หุ้น ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 หรือ กระทรวงการคลัง จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างเต็มจำนวนในสัดส่วน 100% ในขณะที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 18 – 31 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างในอัตรา 24.50% ของมูลหนี้เงินต้นคงค้างทั้งหมด
นอกจากนี้ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ยังสามารถใช้สิทธิแปลงหนี้เงินต้นคงค้างเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้เพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) จำนวนไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น ได้ในสัดส่วนที่ต้องการแต่จะต้องไม่เกินภาระหนี้ตามแผนฯ ของตน
เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และ เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ตามแผนฯ ยังได้รับสิทธิแปลงดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยความสมัครใจ จำนวนไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น โดยกำหนดให้ใช้สิทธิในการแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเต็มจำนวนของมูลหนี้เท่านั้น ไม่สามารถเลือกใช้สิทธิบางส่วนได้ ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
อีกทั้งเพื่อความสำเร็จของการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฯ รวมทั้งเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคาหุ้นของการบินไทยภายหลังกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้บริหารแผนได้กำหนดมาตรการ Lock-up ห้ามเจ้าหนี้ที่ได้รับหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากการแปลงหนี้เป็นทุนขายหุ้นดังกล่าวจนกว่าจะครบระยะเวลา 1 ปีนับจากวันที่หุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
"หลังจากวันที่ครบกำหนดระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่หุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงจะให้เจ้าหนี้ที่ได้รับหุ้นจากการแปลงหนี้เป็นทุนแต่ละรายสามารถขายหุ้นในส่วนดังกล่าวของตนได้จำนวนไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นที่ตนถูกห้ามขาย"
สำหรับกระบวนการถัดไปในเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ประกอบด้วย การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 59.01% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด รวมทั้งหุ้นที่เหลือจากกระบวนการ Voluntary Conversion (หากมี) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม
ก่อนการปรับโครงสร้างทุน (โดยไม่จัดสรรและเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้การบินไทยมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ) พนักงานของการบินไทย และ บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ โดยจะเสนอขายในราคาที่ผู้บริหารแผนเห็นสมควรแต่จะต้องไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น
การบินไทยได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567
คาดว่าจะมีการออกรายงานประเมินมูลค่ายุติธรรม โดยที่ปรึกษาทางการเงินอิสระในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2567 ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการใช้สิทธิของเจ้าหนี้ในการแปลงหนี้เป็นทุนในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 และ เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในช่วงเดือนธันวาคม 2567 ต่อไป รวมถึงแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ และคาดว่าการบินไทยจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและนำหุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในไตรมาส 2 หรือเดือนมิถุนายนปี2568
หลังการปรับโครงสร้างทุนจะทำให้การบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่นั้น การบินไทยคาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการใช้สิทธิของเจ้าหนี้ในการแปลงหนี้เป็นทุนในช่วงเดือน พ.ย. 2567 และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในช่วงเดือน ธ.ค. 2567
ภายหลังการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ คาดว่ากระทรวงการคลังจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่สัดส่วนการถือหุ้นจะลดลง จากโครงสร้างเดิมสัดส่วน 47.9% จะเหลือสูงสุดราว 41.4% ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนรายอื่นๆ เข้ามาถือหุ้น
นายพรชัย ฐีระเวช คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ความกังวลว่าการกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นของ "การบินไทย" จะทำให้กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้งนั้น จากโครงสร้างผู้ถือหุ้นหลังจากที่มีการปรับโครงสร้างทุนได้แสดงเจตจำนงค์ในการแปลงหนี้เป็นทุน ขึ้นอยู่ว่าเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 นั่นก็คือกระทรวงการคลังถูกบังคับให้แปลงหนี้ 100%
ท้ายที่สุดเมื่อสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังและกองทุนรวมวายุภักษ์ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ถือหุ้นอื่นๆซึ่งมาจากการแปลงหนี้เป็นทุนแล้ว สัดส่วนเจ้าหนี้อื่นจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น "โอกาสที่การบินไทยจะกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจโดยโครงสร้างต่างๆน่าจะเป็นไปได้ยาก" นายพรชัย กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตามเมื่อดูตามโครงสร้างบริษัทของการบินไทย หลังการปรับโครงสร้างทุน การบินไทยก็จะยังคงไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ถ้าถามว่าในอนาคตหลังการบินไทย กลับเข้าไปเทรดในตลาดหุ้นแล้ว กระทรวงการคลังก็มีสิทธิมาซื้อหุ้นเพิ่มได้ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ถามว่าเป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาการบริหารจัดการของการบินไทยที่เป็นรัฐวิสาหกิจได้พิสูญจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าการกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในอนาคตการบินไทยจะกลับมาถูกแทรกแซงจากรัฐบาลอีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นอย่างกระทรวงการคลัง , เจ้าหนี้ที่จะแปลงหนี้เป็นทุน สถาบันการเงิน หุ้นกู้ที่จะแปลงหนี้เป็นทุน ฯลฯ ที่จะต้องเลือกกรรมการที่ดีเพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ในลักษณะที่คล้ายกับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความยั่งยืน อย่าให้มันกลับไปเป็นอย่างเดิม
เพราะสมัยก่อนต้องยอมรับว่ามันมีการลดระเบียบปฎิบัติเยอะแยะของภาครัฐต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุมัติต่างๆ การตัดสินใจทำได้ช้า และมีการแทรกแซงที่ปฏิเสธไม่ได้เลย มีการแทรกแซงโดยการโยกย้าย แต่งตั้งในโอกาสต่างๆ แต่ "การบินไทย" เป็นบริษัทที่แข่งขันสูงมาก ดังนั้นหากได้คนไม่ดีขึ้นมาบริหาร บริษัทไปไม่ได้แน่ ไปสู้กับคู่แข่งอื่นๆไม่ได้
แต่บริษัทอื่นที่รัฐถือหุ้น อาจมีการแทรกแซงบ้างหรืออาจจะให้คนไม่ดีขึ้นมาบริหารได้บ้าง เพราะเขามีกิจการที่ผูกขาด แต่ "การบินไทย" ไม่มีผูกขาดเลย โดยเฉพาะภายใต้นโยบายของรัฐที่เป็นน่านฟ้าเสรีมาเป็นเวลากว่า 20 ปี
แต่วันนี้เมื่อการบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจเราก็ทำได้ดี แม้ว่าคนชอบพูดเยอะมากว่าฟื้นฟูฯครั้งนี้ใครๆก็ทำได้เพราะมาจากการขายทรัพย์สินถึงได้เงินเยอะแยะ แต่เราพิสูญจน์แล้วว่าวันนี้เรามีเงินสด 82,000 ล้านบาท โดย 10,000 ล้านบาทมาจากการขายทรัพย์สินที่ไม่มีความจำเป็น และอีก 70,000 ล้านบาทที่อยู่ในบัญชีมาจากการประกอบการธุรกิจการบินและธุรกิจอื่นๆของบริษัท