บาทแข็ง หยวนอ่อนค่าไม่กระทบจีนเที่ยวไทย แต่ฉุดการใช้จ่ายลดลง

10 ต.ค. 2567 | 21:00 น.

เงินบาทแข็ง หยวนอ่อนค่า ไม่กระทบการตัดสินใจเดินทาง หรือยกเลิกแผนการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีน แต่ฉุดการใช้จ่ายในระหว่างการท่องเที่ยวลดลงในไทยเล็กน้อย

สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเงินหยวน เป็นผลมาจากหลายปัจจัย โดยในปีนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และเงินหยวนอ่อนค่า ค่าเงินหยวนได้รับแรงกดดันจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนกับเงินบาท ที่แข็งค่าขึ้นประมาณ 3.8% ตั้งแต่ต้นปี

 

การแข็งค่าของเงินบาท เมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างๆ

เงินบาทแข็งค่าส่งผลให้การส่งออกของไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบอย่างมาก นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการของไทยได้รับผลกระทบด้วย  โดยในช่วงปีนี้ ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าต่อหลายประเทศ โดยเฉพาะสกุลเงินที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับไทย

เงินหยวนของจีน : เงินหยวนอ่อนค่าลง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจในจีน เช่น การชะลอตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าต่อเงินหยวน

ดอลลาร์สหรัฐ : ค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ สืบเนื่องจากทิศทางการเงินโลกและความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงการคาดการณ์เรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ

เงินเยนของญี่ปุ่น : เงินบาทแข็งค่าต่อเยน เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัว และการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางญี่ปุ่น ทำให้เงินบาทได้รับแรงหนุนจากความแข็งแรงของเศรษฐกิจไทย

เงินยูโร : ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเงินยูโร เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่กำลังเผชิญกับการฟื้นตัวช้าหลังวิกฤติโควิด-19 และผลกระทบจากสงครามในยูเครน

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยว่า การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน โดยค่าเงินบาทแข็งตัวมากที่สุดเมื่อเทียบกับเยนญี่ปุ่น (8%) และหยวนจีน (7.48%) ซึ่งผลกระทบจากสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่า จะมีผลใน 3 เรื่อง ได้แก่

1. เงินบาทแข็งค่าต่อดอลลาร์มากกว่าหยวน : การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐมีผลกระทบอย่างชัดเจน เนื่องจากดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลักในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ การส่งออกที่ใช้ดอลลาร์จะได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะราคาสินค้าไทยสูงขึ้นในตลาดโลก ส่วนเงินหยวนของจีนซึ่งอ่อนค่าลงตามสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้เงินบาทแข็งค่าต่อหยวนน้อยกว่าสกุลอื่น

2. นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม FIT (Free Independent Travelers) และนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งมักวางแผนการเดินทางล่วงหน้าและจองการเดินทางเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว

ดังนั้น การแข็งค่าของเงินบาทจึงไม่มีผลกระทบมากต่อการตัดสินใจในการเดินทาง หรือการยกเลิกแผนการเดินทาง แต่จะกระทบต่อการใช้จ่ายในระหว่างการท่องเที่ยวเล็กน้อย เช่น การซื้อสินค้าหรือบริการในไทย

3. แม้ว่านักท่องเที่ยวจีนกลุ่มคุณภาพสูงจะไม่ได้รับผลกระทบมากจากการแข็งค่าของเงินบาท แต่กลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้ปานกลาง หรือนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ ที่เดินทางโดยใช้แพ็กเกจทัวร์ (Group Tours) อาจพิจารณาเรื่องการลดการใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อค่าเงินบาท ทำให้สินค้าและบริการในไทยแพงขึ้น

นางสาวฐาปนีย์ ยังกล่าวต่อว่า ททท.ยังมั่นใจถึงการขยายตัวของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวไทย อย่างล่าสุดในช่วงหยุดยาววันชาติจีน วันที่ 1-7 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่คนจีนนิยมเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ เดิมททท.คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเที่ยวไทย 1.32-1.83 แสนคน เพิ่มจากปี 2566 ที่อยู่ที่ 8.43 หมื่นล้านบาท

โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยรายวันมากกว่าช่วงปกติ 30 % (นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยเฉลี่ย 18,000 คน/วัน) สร้างรายได้ 3,710-5,180 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2566 ที่มีรายได้อยู่ที่ 2,343 ล้านบาท

จากแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยว Outbound จีนที่เดินทางไปต่างประเทศมีสัดส่วนฟื้นตัว 85 % จากปี 2562 และเที่ยวบินตรงเข้าไทยที่เพิ่มขึ้น 70 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 จากเที่ยวบินตรงจากจีนเข้าสู่เมืองหลักของไทย ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ สมุย และอุดรธานี รวมจำนวนที่นั่งบนเครื่องบิน 197,757 ที่นั่ง หรือ มีจำนวนเที่ยวบิน 1,097 เที่ยวบิน โดยมาจาก 43 เมืองของจีน 5 เมืองอันดับแรกที่มีเที่ยวบินเข้าไทยมากที่สุด คือ เซี่ยงไฮ้ 19 % กวางโจว 15 % เฉิงตู 8 % คุนหมิง 8 % และ ปักกิ่ง 7 %

แต่ปรากฏว่าพอถึงวันชาติจีนปีนี้ มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวไทยแตะ 3 หมื่นคนต่อวัน ทำให้ช่วง 7 วันดังกล่าวมีการเดินทางเข้าไทยมากกว่า 2 แสนคน ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ มีค่าใช้จ่ายต่อวันประมาณ 6,300 บาท ส่วนใหญ่พักเฉลี่ย 6 วัน/ทริป และภาคเอกชนยังสะท้อนตัวเลขมาว่ายอดจองช่วงวันชาติจีน บวกขึ้นสูงสุดถึง 200% ด้วย โดยในปีนี้ททท.ตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวเที่ยวไทย 7.3 ล้านคน สร้างรายได้ราว 3.83 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวจีนมีการจองล่วงหน้าก่อนการเดินทาง (Lead Time) สั้นลง โดยนิยมจองล่วงหน้าก่อนการเดินทางเพียง 8 วัน นักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่เดินทางเป็น Group ประมาณ 13 คน ปัจจัยบวกมาจากการยกเว้นการตรวจลงตราระหว่างไทย-จีน (วีซ่าฟรี)พำนักได้สูงสุด 30 วัน ซึ่งทำให้ช่วยลดเวลาในการเตรียมการเดินทาง อีกทั้งนักท่องเที่ยวสามารถตัดสินใจเดินทางได้ทันที โดยไม่ต้องขอวีซ่าเข้าไทย

ทั้งนี้จากการติดตามผลของมาตรการวีซ่าฟรี สำหรับนักท่องเที่ยวตลาดจีน ตั้งแต่ 1 มกราคม -6 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยรวมไม่ต่ำกว่า 5.38 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 122 %เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2566 นอกจาก นี้ททท.ยังเดินหน้ากระตุ้นตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง

อาทิ การร่วมมือกับ 5 แพลตฟอร์มออนไลน์ของจีน Ctrip Meituan Tongcheng Fliggy และ Unionpay ควบกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว KOLs MEGA FAM Trip แฟนมีต พร้อมดึง China-Thailand Cultural Friendship Ambassador (Luo Yunxi) เพิ่มแรงกระตุ้นนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทย รวมถึงกระตุ้นการใช้จ่ายระหว่างการท่องเที่ยว ตลอดช่วงก.ย. – ต.ค.นี้

การร่วมมือกับพันธมิตรกลุ่ม ชอปปิงมอลล์ ดิวตี้ฟรี สปา ร้านอาหาร และบริการด้านการเดินทาง จัดกิจกรรม Chinese Passport Special Deals มอบสิทธิพิเศษและโปรโมชันให้กับนักท่องเที่ยวจีนเพียงโชว์พำสปอร์ตแก่ร้านค้าพันธมิตรที่มีโลโก้ Nihao Month สามารถรับส่วนลดและของที่ระลึกมากมาย ตั้งแต่วันที่ 19ก.ย.– 31 ต.ค. 2567

การร่วมกับอาโปและน้องหมีเนย จัดกิจกรรมเอาใจแฟนคลับนักท่องเที่ยวจีนให้เดินทางตามรอยเส้นทางท่องเที่ยว การเจาะกลุ่มพื้นที่ใหม่ (New First Tier Cites) ในพื้นที่ เมืองฉางซา ซีอาน และเจิ้งโจว โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยว Segment ใหม่ (กลุ่ม Incentive, Fan Meeting, Family Across Generation และ Summer Camp) เป็นต้น

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,035 วันที่ 13 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2567