นางสาวสมฤดี จิตรจง อดีตรองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่าจากกรณีที่นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กำลังจะนำโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน มาปัดฝุ่นนำกลับมาดำเนินการ เราเที่ยวด้วยกัน เฟสใหม่อีกครั้ง ที่ผ่านมาโครงการเราเที่ยวด้วยกัน แม้จะช่วยกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศได้จริง
แต่มองว่าเป็นมาตรการยาแรงที่เหมาะกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจท่องเที่ยวทรุดมากกว่า หากรัฐบาลตัดสินใจฟื้นโครงการนี้อีกครั้ง จะต้องดำเนินการให้รอบคอบ ดูระบบเพื่อป้องกันให้ดี มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบให้เพียงพอเพื่อรองรับการดำเนินโครงการ
เพราะที่ผ่านมาโครงการเราเที่ยวด้วยกัน มีทั้งหมด 5 เฟส แต่พบว่า เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 1-2 พบการทุจริต มีการดำเนินคดีประมาณ 1,400 คดี โดยในแต่ละคดีมีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 1 ล้านบาท
ดังนั้นความเสียหายที่เกิดจากการทุจริต ประเมินว่าน่าจะมากกว่า 1,400 ล้านบาท และที่ต้องให้มีการวางระบบและมีเจ้าหน้าที่เพียงพอ เพราะบางคดีแค่คดีเดียวมีผู้เกี่ยวข้องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องสอบปากคำมากถึง 7,000-8,000 คน ทำให้จนถึงปัจจุบันมีจำนวนคดีที่ปิดคดีได้เพียง 10 คดีเท่านั้น
สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวภายในประเทศของไทยปี 2567 จากสถิติในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ามีรายรับจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ 581,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.4% จากจำนวนคนไทยเดินทางเที่ยวในประเทศ 160 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 8.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ดังนั้นททท.ยังมั่นใจว่าคนไทยจะเดินทางเที่ยวในประเทศ จำนวน 200 ล้านคน-ครั้ง แต่ในส่วนของรายได้คาดว่าจะอยู่ที่ 965,000 ล้านบาท จากเป้าหมายเดิมที่ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ประมาณ 4%
เนื่องจากสภาพของเศรษฐกิจไทย แม้คนยังออกเดินทางเที่ยวอยู่ แต่การใช้จ่ายระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวน้อยลง รวมถึงยังมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ อย่าง สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดในช่วงนี้ การระมัดระวังในการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว อาจส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทาง
วันนี้เราจะเห็นว่าการช้อปปิ้งของนักท่องเที่ยวในพื้นที่ท่องเที่ยวลดลง เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลง อาจไปเห็นของจริงแล้วกลับมาสั่งซื้อผ่านอนไลน์ จึงทำให้รายได้ส่วนนี้ไม่ได้นับรวมกับการจับจ่ายในพื้นที่นั้นๆ
รวมทั้งต้องยอมรับว่าสินค้าหลายอย่าง และชุมชนหลายแห่งตั้งแต่หลังสถานการณ์โควิดระบาดกลับไม่ได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้นในหลายๆ ด้าน อาทิ บรรจุภัณฑ์ การบริการ หรืออื่นๆ
ดังนั้นจึงอาจไม่จูงใจนักท่องเที่ยวให้ใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเข้าไปช่วยสนับสนุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดรองรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที
ส่วนกลไกการตลาดท่องเที่ยวจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น และส่งผลดีต่อผู้บริโภค เช่น ถ้ามีการปรับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวคนไทยให้วางแผนระยะยาวมากขึ้น บริหารจัดการเวลา และราคาให้เหมาะสม เช่นการจองล่วงหน้าเพียงไม่กี่วัน ราคาจะสูงกว่าปกติอย่างแน่นอน ก็ควรจองล่วงหนา รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันธรรมดาที่จะช่วยกระจายจำนวนของนักท่องเที่ยวที่ไม่ไปอัดแน่นวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นต้น
การกระตุ้นตลาดในประเทศของททท.จะเน้นกระจายรายได้สู่จังหวัดท่องเที่ยวทั้งเมืองหลัก และเมืองรอง ด้วยการนำเสนอประสบการณ์ในท้องถิ่น ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่และส่งเสริมภาพลักษณ์ของแต่ละจังหวัดหรือพื้นที่ พร้อมกับการรักษาธรรมชาติ สนับสนุนการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยว ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งมีการปรับภาพลักษณ์อุตสาหกรรมท่องเที่ยว กระตุ้นการใช้จ่าย และขยายฐานตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายสูงและกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะ โดยมุ่งเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังอุตสาหกรรมบริการที่มีคุณภาพสูง ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ
ดังนั้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของ ปี 2567 ทาง ททท.มีแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศไว้อย่างต่อเนื่อง หลังจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีการปรับแผนรองรับสถานการณ์ท่องเที่ยวในแต่ละช่วงฤดูกาลไว้ อาทิ ช่วงหน้าฝน โดยสั่งการให้สำนักงาน ททท.ทุกภาคปรับแผนเตรียมไว้ จึงเห็นการเดินทางเที่ยวได้อย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะเดือนก.ย.ที่ผ่านมา มีแคมเปญร่วมกับสายการบินในประเทศ 6 สายการบิน ได้แก่ การบินไทย แอร์เอเชีย บางกอกแอร์เวย์ส ไทยเวียตเจ็ท ไทยไลอ้อนแอร์ นกแอร์ เป็นซูเปอร์ดีลในวันที่ 9 เดือน 9 ทำราคาขายแบบพิเศษ เน้นเที่ยววันธรรมดา เดินทางได้ถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2567 เพื่อดึงให้เกิดการเดินทางในช่วงวันธรรมดามากขึ้น
เนื่องจากไตรมาส 4 มักเป็นช่วงที่สร้างรายได้สูงสุด คิดเป็น 35% ของรายได้ทั้งปี ททท. จึงหวังเร่งรัดรายจ่ายท้องถิ่นให้เข้าใกล้เป้าหมายหลัก 1 ล้านล้านบาท แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดในช่วงนี้ อาจส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางและการใช้จ่ายระหว่างการเดินทาง