ตอกเสาเข็มอู่ตะเภา ต้นปี 68 เฟสแรก 1 แสนล้าน จ่อตัดอุโมงค์ไฮสปีดให้รัฐสร้าง

15 ต.ค. 2567 | 21:29 น.

เร่งเครื่องตอกเสาเข็มสนามบินอู่ตะเภา ต้นปี 68 UTA แจงครบ 5 ปีตามสัญญาต้องลงทุน เปิดเฟสแรก 1 แสนล้านบาท อีอีซี หารือรฟท.-เอเชีย เอรา วัน ตัดเนื้องานสร้างอุโมงค์ลอดใต้รันเวย์เข้าอาคารผู้โดยสาร ออกจากสัญญาร่วมทุน ให้รัฐสร้างเอง หากรถไฟความเร็วสูงยังไม่ชัดเจนในสิ้นปีนี้

เร่งเครื่องอู่ตะเภาตอกเสาเข็ม ต้นปี 2568

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในพันธมิตรผู้คว้าประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการลงทุนในโครงการสนามบินอู่ตะเภา ของบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในต้นปี 2568

เพราะจะครบข้อตกลง 5 ปี ตามสัญญากับภาครัฐ ที่กำหนดให้ UTA จะต้องเริ่มลงทุน ซึ่งบริษัทได้เพิ่มทุนจาก 4,500 ล้านบาท เป็น 15,000 ล้านบาทครบแล้ว เพียงพอสำหรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในเฟสแรก ขณะนี้เหลือรอการสรุปของการรถไฟ เรื่องสถานีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่จะเชื่อมต่อเข้ามาในอาคารผู้โดยสารด้วย เพราะเป็นเงื่อนไขเดียวที่ยังเหลืออยู่

สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

ทั้งนี้ UTA ได้เตรียมการลงทุนไว้หมดแล้ว โดยจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ที่จะขยายออกเป็น 6 เฟส ซึ่งที่ผ่านมา UTA มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นไปแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท หลักๆเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการ เช่น ค่าที่ปรึกษา การทำแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) การออกแบบสนามบิน

ดึงเอกชนร่วมลงทุนเมืองการบินอู่ตะเภา

การลงทุนในโครงการนี้นอกจากจะมีการสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ โดยเฟสแรก จะรองรับผู้โดยสารได้ 12 ล้านคนต่อปี ยังจะมีการลงทุนในช่วงของพื้นที่เชิงพาณิชย์ หรือ Airport City ที่จะประกอบไปด้วย โรงแรม, ศูนย์การค้า, MICE, Indoor Arena, สนามแข่งรถ ซึ่งสามารถรองรับการแข่งขันฟอร์มูลาวัน, ร้านอาหาร, Medical Tourism Hub,ดิวตี้ฟรี,อาคารสำนักงาน

สนามบินอุ่ตะเภา

การเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนในกิจกรรมต่างๆเหล่านี้ UTA จะทยอยคัดเลือกผู้สนใจเข้าลงทุน อาทิ ศูนย์การค้า ช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ โรงแรม อาจจะเป็นการหาพาร์ทเนอร์มาเช่าพื้นที่ เพื่อดำเนินการ ส่วนกิจกรรมอื่นๆ หากพันธมิตรในกลุ่ม UTA สนใจในกิจกรรมไหนก็อาจจะเข้าไปร่วมลงทุนด้วยก็ได้ ซึ่งการคัดเลือกเอกชนเข้ามาดำเนินการ ก็คงจะทยอยดำเนินการไปพร้อมๆกับการสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ และสิทธิใช้พื้นที่ก็เป็นไปตามอายุที่ใช้ 30 ปี

ในส่วนของเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ที่มีกาสิโน คงอยู่ที่ความชัดเจนของรัฐบาลว่าจะเปิดให้มีการลงทุนในพื้นที่ไหนบ้าง ถ้ามีในพื้นที่อีอีซี เราในฐานะแลนด์ลอร์ดในพื้นที่เมืองการบินอู่ตะเภา ก็ต้องมาพิจารณาว่าควรจะมีในเรื่องนี้ไหม จะให้เช่า หรือพาร์ทเนอร์ใน UTA จะสนใจหรือไม่ แต่สำหรับบางกอกแอร์เวย์สคงไม่ลงทุนในส่วนนี้ ซึ่งในแง่ของพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ปิดมีขอบเขต ถ้ามองในแง่เอ็กคลูซีฟหรือการกำกับดูแล ก็จะง่ายกว่าที่อื่นที่ไม่มีขอบเขตเรื่องของพื้นที่ นายพุฒิพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ

 

เปิดเฟสแรก ลงทุน 1 แสนล้านบาท

สำหรับแผนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก จะใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี บนพื้นที่รวม 6,500 ไร่ ประกอบไปด้วย 3 โครงการ คือ 1. Airport Terminal พื้นที่ 1,482 ไร่ 2. Air Cargo & Logistics พื้นที่ 348 ไร่ 3. Airport City พื้นที่ 1,058 ไร่ มูลค่าลงทุนรวม 320,000 ล้านบาท โดยคาดว่าเฟสแรกลงทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท

  • ส่วนของสนามบินประมาณ 40,000 ล้านบาท
  • ส่วน Airport City ลงทุนประมาณ 60,000-80,000 ล้านบาท

การพัฒนาจะแบ่งเป็น 6 เฟส แฟสแรก รองรับผู้โดยสาร 12 ล้านคน เปิดให้บริการปี 2571 และเฟสสุดท้ายรองรับ เป็น 60 ล้านคน

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกว่า ภายในปีนี้จะเริ่มก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 2 และทางขับ (แท็กซี่เวย์) ที่กองทัพเรือ (ทร.) รับผิดชอบได้ และในต้นปี 2568 คาดว่า UTA ผู้รับสัมปทาน จะเริ่มก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

ส่วนการก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่จะต้องลอดใต้รันเวย์นั้น มีการประสานแบบและแผนการก่อสร้างไว้แล้ว โดยสัญญาก่อสร้างรันเวย์มีระยะเวลา 36 เดือน ซึ่งช่วงแรกจะก่อสร้างรันเวย์จากจุดอื่นก่อน ขณะที่ตามสัญญากำหนดว่ากองทัพเรือจะต้องส่งมอบพื้นที่รันเวย์บริเวณที่มีอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงลอดผ่านด้านใต้ให้ผู้รับเหมาในเดือนที่ 18 หมายความว่า อุโมงค์รถไฟความเร็วสูงต้องก่อสร้างเสร็จแล้วภายใน 18 เดือน (นับจากสัญญารันเวย์ระหว่างกองทัพเรือ กับ ITD เริ่มต้น)

ตอกเสาเข็มอู่ตะเภา ต้นปี 68 เฟสแรก 1 แสนล้าน จ่อตัดอุโมงค์ไฮสปีดให้รัฐสร้าง

 

จ่อตั้งอุโมงค์ไฮสปีดลอดอาคารผู้โดยสารให้รัฐลงทุน

ด้านนายธาริศร์ อิสสระยั่งยืน รองเลขาธิการอีอีซี สายงานโครงสร้างพื้นฐาน กล่าวว่า อีอีซีได้หารือกับกองทัพเรือ กรณีที่ไม่สามารถก่อสร้างอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงลอดรันเวย์เสร็จภายใน 18 เดือน โดยสิ้นปี 2567 หรือไม่เกินต้นปี 2568 หากโครงการรถไฟความเร็วสูงยังไม่มีความชัดเจน เรื่องการก่อสร้าง จะมีการเสนอขอตัดเนื้องานและเงินลงทุนค่าก่อสร้างอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงออกจากสัญญาร่วมทุนฯกับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.)

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการจัดจ้างก่อสร้างอุโมงค์รถไฟเอง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบต่อการก่อสร้างรันเวย์ของสนามบิน โดยเรื่องนี้แจ้งข้อมูลกับ รฟท.และ ซี.พี.แล้ว ทุกฝ่ายรับทราบทางออกแล้ว โดยช่วงที่เป็นอุโมงค์รถไฟความเร็วสูง ลอดใต้รันเวย์เข้าสู่อาคารผู้โดยสารมีระยะทางประมาณ 3-4 กม. ค่าก่อสร้างประมาณ 10,000 ล้านบาท