เปิดโรดแม็ป ‘AOT - UTA -ทย.’ ผุด 9 สนามบินใหม่ 4.9 แสนล้าน

03 พ.ย. 2567 | 21:28 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ย. 2567 | 07:52 น.

เปิดโรดแม็ป 'AOT - UTA -ทย.’ ผุด 9 สนามบินใหม่ มูลค่าการลงทุนกว่า 4.9 แสนล้านบาท ดันไทยฮับการบิน รับผู้โดยสารพุ่ง

เปิดโรดแมปสร้างสนามบินใหม่ทั่วไทย ลงทุนกว่า 4.9 แสนล้านบาท

ในช่วง 5-10 ปีนี้จะเกิดการขยายศักยภาพของสนามบินที่มีอยู่ให้รองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการสร้างสนามบินใหม่ ที่จะเกิดขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วไทย รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 4.9 แสนล้านบาท

เปิดแผนสร้างสนามบินใหม่ทั่วไทย

 

โดยเป็นการลงทุนของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT ซึ่งครองส่วนแบ่งกว่า 86.7% ของผู้ใช้บริการสนามบินทั้งหมดในไทย ด้วยเงินลงทุนกว่า 1.5 แสนล้านบาท ในการสร้างสนามบินใหม่ในภาคใต้และภาคเหนือ อย่าง ท่าอากาศยานอันดามัน และ ท่าอากาศยานล้านนา

ตามมาด้วยโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่เป็นโครงการ PPP ระหว่างรัฐ-UTA มูลค่าการลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท และการสร้างสนามบินใหม่ 6 แห่ง ของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) 2.16 หมื่นล้านบาท

AOT ทุ่ม 1.5 หมื่นล้านบาท สร้าง 2 สนามบินใหม่ ล้านนา-อันดามัน

สำหรับความคืบหน้าในการก่อสร้าง 2 สนามบินแห่งใหม่ในภาคใต้และภาคเหนือของ AOT นาย กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) AOT หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ทอท.ได้ลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในการลงทุนโครงการเบื้องต้น (Preliminary Feasibility Study) ในโครงการสร้าง 2 สนามบินใหม่

กีรติ กิจมานะวัฒน์

ได้แก่ ท่าอากาศยานล้านนา และท่าอากาศยานอันดามัน โดยได้จ้างที่ปรึกษาไปแล้วเมื่อเดือนก.ย. 2567 ที่ผ่านมา วงเงินจ้างสัญญาละ 20 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาศึกษา 6 เดือน

ทั้งนี้ในการศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในการลงทุนฯ นี้ จะมีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ด้วย หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการศึกษาออกแบบรายละเอียด (Detail & Design) และการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อไป โดยตามแผนงาน จะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2570

สำหรับแผนพัฒนาท่าอากาศยานอันดามัน มีพื้นที่ 7,300 ไร่ ที่ตั้งในต.โคกกลอย และต.หล่อยูง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ห่างจากสนามบินภูเก็ต 23.4 กิโลเมตร ประเมินวงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท มี ทางวิ่ง 2 เส้นรองรับ 43 เที่ยวบินต่อชั่วโมง รองรับผู้โดยสาร 22.5 ล้านคนต่อปี มี 44 หลุมจอด 

ท่าอากาศยานอันดามัน

ส่วนโครงการท่าอากาศยานล้านนา มีพื้นที่ 8,050 ไร่ ที่ตั้ง อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ห่างจากสนามบินเชียงใหม่ 22 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 70,000 ล้านบาท มี 2 ทางวิ่ง รองรับ 41 เที่ยวบินต่อชั่วโมง รองรับผู้โดยสาร 21 ล้านคนต่อปี สามารถขยายได้ถึง 24 ล้านคนต่อปี คาดเสนอครม.ขออนุมติก่อสร้างในช่วงไตรมาส 3 ปี 2570 เปิดประมูลช่วงไตรมาส4 ปี 2570 ดำเนินการก่อสร้าง 42 เดือน (ปี 2571-2574)

ท่าอากาศยานล้านนา

UTA ลงทุนสนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบิน เฟสแรก 1 แสนล้าน

อีกหนึ่งบิ๊กโปรเจ็กต์สนามบินใหม่ คือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ของกลุ่มบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ซึ่งในปี 2568 ตามสัญญาที่ UTA ตกลงกับภาครัฐ จะต้องมีการส่งมอบพื้นที่ให้ UTA เข้าลงทุน โดยการลงทุนจะแบ่งออกเป็น 6 เฟส แต่เฟสแรก จะลงสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 รองรับได้ 12 ล้านคนต่อปี  

สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

แผนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก จะใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี บนพื้นที่รวม 6,500 ไร่ ประกอบไปด้วย 3 โครงการ คือ 1. Airport Terminal พื้นที่ 1,482 ไร่ 2. Air Cargo & Logistics พื้นที่ 348 ไร่ 3. Airport City พื้นที่ 1,058 ไร่ ที่จะประกอบไปด้วย โรงแรม, ศูนย์การค้า, MICE, Indoor Arena, สนามแข่งรถ ซึ่งสามารถรองรับการแข่งขันฟอร์มูลาวัน, ร้านอาหาร, Medical Tourism Hub,ดิวตี้ฟรี,อาคารสำนักงาน มูลค่าลงทุนรวม 320,000 ล้านบาท

โดยคาดว่าเฟสแรกลงทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท ส่วนของสนามบินประมาณ 40,000 ล้านบาท ส่วน Airport City ลงทุนประมาณ 60,000-80,000 ล้านบาท การพัฒนาจะแบ่งเป็น 6 เฟส แฟสแรก รองรับผู้โดยสาร 12 ล้านคน เปิดให้บริการปี 2571 และเฟสสุดท้ายรองรับ เป็น 60 ล้านคน

Airport City เมืองการบินอู่ตะเภา

ทย.จ่อสร้าง 6 สนามบินใหม่ 2.16 หมื่นล้าน

ในส่วนของรัฐบาลเอง ก็มองการลงทุนสร้างสนามบินภูมิภาคเพิ่มเติมอีก 6 สนามบินเช่นกัน โดยนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจการขนส่งทางอากาศ ที่คาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ปริมาณผู้โดยสารจากทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ซึ่งต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

เราจึงสนับสนุนให้ ทย. พิจารณาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานท่าอากาศยานอย่างยั่งยืนและครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค เพื่อเตรียมการรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ทั้งโครงการเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยาน และโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานใหม่ ทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานมุกดาหาร บึงกาฬ สตูล พะเยา กาฬสินธุ์ และพัทลุง   

มนพร เจริญศรี

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวว่า การสร้างสนามบินใหม่ของทย.ภายใต้การสนับสนุนงบลงทุนจากรัฐบาล มีสนามบินที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ ที่จะก่อสร้างในอนาคต 6 แห่ง โดยก่อนหน้านี้เคยมีการประมาณการณ์มูลค่าการลงทุนเบื้องต้นรวม 2.16 หมื่นล้านบาท

โดยตัดสนามบินนครปฐม ที่เคยมีแผนจะสร้างออกไป เนื่องจากถูกคัดค้านและมีปัญหาเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ดังนั้นความเป็นไปได้ในการสร้างสนามบินใหม่ของทย.จึงอยู่ที่ 6 สนามบิน ประกอบไปด้วย

สนามบินมุกดาหาร ต.คำป่าหลาย อ.เมือง พื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ วงเงินลงทุน 5,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างอยู่ในขั้นตอนออกแบบและจัดทำ EIA

สนามบินบึงกาฬ ต.โป่งเปือย และ ต.วิศิษฐ์ อ.เมือง พื้นที่ราว 2,500 ไร่ ลงทุน 3,100 ล้านบาท อยู่ระหว่างอยู่ในขั้นตอนออกแบบและจัดทำ EIA

สนามบินพัทลุง บริเวณศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง (ควนพร้าว) ริมทะเลสาบสงขลา พื้นที่ 1,496 ไร่ ศึกษาความเหมาะสมแล้ว ลงทุน 3,075 ล้านบาท ขณะนี้มีแผนในการขอรับการจัดสรรงบปี 2569 สำหรับจ้างออกแบบทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน

สนามบินสารสินธุ์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ รอยต่อ จ.มหาสารคาม พื้นที่ 1,648 ไร่ ลงทุน 2,000 ล้านบาท ขณะนี้มีแผนในการขอรับการจัดสรรงบปี 2569 สำหรับจ้างออกแบบทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบินและองค์ประกอบอื่นๆพร้อมจัดทำรายงาน EIA

สนามบินสตูล ต.เจ๊ะบิลัง อ.เมือง พื้นที่ 2,797 ไร่ ลงทุน 4,100 ล้านบาท อยู่ระหว่างจ้างออกแบบทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบินและองค์ประกอบอื่นๆพร้อมจัดทำรายงาน EIA

สนามบินพะเยา ต.ดอนศรีชุม ต.สันโค้ง อ.ดอกคำใต้ พื้นที่ 2,812 ไร่ ลงทุน 4,421 ล้านบาท คาดหมายของบปี 68 ออกแบบรายละเอียดและศึกษา EIA ขณะนี้ได้รับการจัดสรรร่างพ.ร.บ.ประมาณในปี 2568 สำหรับจ้างออกแบบทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบินและองค์ประกอบอื่นๆพร้อมจัดทำรายงาน EIA

ทั้งหมดล้วนเป็นโรดแมปของการแจ้งเกิดสนามบินใหม่ทั่วไทยที่จะเกิดขึ้น

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,040 วันที่ 31 ต.ค. - 2 พ.ย. พ.ศ. 2567