รัฐบาลมีเป้าหมายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค โดยอุตสาหกรรมการบินเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งไทยมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่โดดเด่น และนับได้ว่าเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว (Tourism Destination) ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
การขับเคลื่อนฮับการบินในมุมมองของภาครัฐ จะเดินหน้าอย่างไร “ฐานเศรษฐกิจ” ได้จับประเด็นที่น่าสนใจในงานสัมมนาอุตสาหกรรมการบินประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “Navigating the Future: Embarking to the Hub of Aviation” เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค มานำเสนอ
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลเล็งเห็นว่าประเทศไทยมีประชากรเพียง 70 ล้านคน ทำให้มีความจำเป็นต้องเปิดประตูสู่การทำธุรกิจกับต่างประเทศที่มีประชากรโลกมากถึง 7,000 ล้านคน
อุตสาหกรรมการบิน จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเปิดประตูให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ไทย และเป็น Gateway สำคัญในการเดินทางของประชากรจากทั่วโลก ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งท่าอากาศยาน สายการบิน การควบคุมการจราจรทางอากาศ เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก
รวมไปถึงการบำรุงรักษาเครื่องบิน ผู้ประกอบการบริการ และหน่วยงานกำกับดูแลที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย (Safety and Security) ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากเช่นกัน
ในปี 2566 ที่ผ่านมา จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางทางอากาศ กลับมาเพิ่มสูงขึ้นถึง 122 ล้านคน รวม 792,000 เที่ยวบิน คิดเป็นกว่า 74% เมื่อเทียบกับก่อนเกิดโควิด-19 การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมการบิน
รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม มุ่งขับเคลื่อนนโยบายศูนย์กลางการบิน และสนับสนุนให้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ติดใน 20 อันดับแรก ของท่าอากาศยานที่ดีที่สุดของโลกภายใน 5 ปี โดยแบ่งระยะของนโยบายออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
เน้นอำนวยความสะดวก และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้บริการ เชื่อมต่อการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ และเป็นที่ยอมรับเรื่องมาตรฐานในระดับสากล
เน้นเพิ่มขีดความสามารถการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินของท่าอากาศยานหลักของประเทศ
เน้นการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ คือ ท่าอากาศยานอันดามัน และท่าอากาศยานล้านนา รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยานและกิจกรรมเกี่ยวเนื่อง เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในอนาคต
ด้านนายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. กล่าวถึง หมุดหมายการผลักดันไทยให้กลายเป็น Aviation Hub เราต้องโฟกัสที่โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งระบบการบินของไทยประสบปัญหาในการรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้น
เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามบินและระบบการควบคุมการจราจรทางอากาศ ไม่สามารถรองรับการเติบโตนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักท่องเที่ยวไม่ชอบรอ จากการชอบถามความคิดเห็นของนักเที่ยว สิ่งที่เขาไม่ชอบคือการล่าช้า
อย่างไรก็ดีแนวทางแก้ไข คือ เรื่องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ควรมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามบินและระบบการควบคุมการจราจรทางอากาศ เพื่อรองรับการเติบโตของปริมาณการจราจร ผ่านการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการควบคุมการจราจรทางอากาศ
เช่น ระบบการจัดการข้อมูลที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเที่ยวบิน รวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ลดความล่าช้าที่เกิดขึ้น การแก้ไขปัญหาเหล่านี้จะช่วยให้ระบบการบินของไทยสามารถรองรับการเติบโตในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดปัญหาที่เกิดขึ้น
ปัจจุบันการเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมการบินไทย ให้เป็น Aviation Hub การพัฒนาอุตสาหกรรมการบินในไทย เน้นถึงความสำคัญของการบูรณาการระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยและการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้โดยสาร
การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เช่น สายการบิน สนามบิน และหน่วยงานรัฐ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการที่เกี่ยวข้องกับการบินดันการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในอุตสาหกรรมการบินเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่สามารถละทิ้งได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้โดยสารและส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรม
ทั้งยังต้องให้ความสำคัญของการสร้างโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะในด้านการเชื่อมโยงการบินระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง
พร้อมทั้งผลักดันแนวทางการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel - SAF) ซึ่ง CAAT อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมออกกฏให้สายการบินที่ทำการบินออกจากประเทศไทย ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ SAF เริ่มต้นในสัดส่วน 1% ในปี 2569 และค่อยๆ เพิ่มเป็น 3-5% ในปีถัดไป ภายในระยะเวลา 3 ปี
การจัดการกับคาร์บอนเครดิตในอุตสาหกรรมการบินมีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
แนวทางการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงยั่งยืน (SAF) สามารถผลิตจากวัตถุดิบที่มีความยั่งยืน เช่น น้ำมันพืชที่ใช้แล้ว ขยะชีวภาพ และวัสดุอื่นๆ ที่ไม่แข่งขันกับการผลิตอาหาร ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ
การพัฒนา SAF ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐในรูปแบบของนโยบายและมาตรการที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของ SAF เมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วไป
อย่างไรก็ดีเกี่ยวข้องกับเป้าหมายคาร์บอนเครดิตเป็นกลไกที่ช่วยให้บริษัทสามารถซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสามารถใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซที่เกิดจากการดำเนินงานของตนเอง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการบินที่มีการปล่อยก๊าซสูง
สำหรับประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายว่า ภายในปี 2030 จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 30%-40% จากการดำเนินการตามปกติ จะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065
การกำหนดมาตรฐานและกฎระเบียบที่ชัดเจนเกี่ยวกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจะช่วยให้เกิดความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในตลาดคาร์บอนเครดิต การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงยั่งยืนและการจัดการกับคาร์บอนเครดิตจึงเป็นแนวทางที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินให้มีความยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,036 วันที่ 17 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2567