บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT หรือ ทอท.เป็นผู้ให้บริการท่าอากาศยานหลัก 6 แห่งของประเทศไทย ครองส่วนแบ่งมากกว่า 86.7% ของผู้ใช้บริการท่าอากาศยานทั้งหมดในไทย AOT มุ่งมั่นที่จะพัฒนา รวมถึงเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับประสบการณ์การเดินทางของผู้โดยสารและพัฒนาคุณภาพการบริการของท่าอากาศยานให้ได้มาตรฐานสากลและก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค สร้างโอกาส สร้างอนาคต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
AOT มุ่งมั่นผลักดันให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก ภายใน 5 ปี จากการจัดอันดับของ SKYTRAX World’s Top 100 Airport Ranking จากปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 58 ของโลก โดยในปี 2568 ตั้งเป้าติดอันดับ 1 ใน 50 อันดับแรกของโลก ขณะเดียวกันยังมีแผนจะพัฒนาศักยภาพของท่าอากาศยานดอนเมือง ให้เป็นศูนย์กลางของสายการบินต้นทุนต่ำ (Low-Cost Airline)
ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT กล่าวว่า AOT ได้วางเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ของ AOT ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 250 ล้านคนขึ้นไปต่อปี เนื่องจากในแต่ละสนามบินมีอัตลักษณ์หรือมีความดึงดูดในเรื่องของการเดินทางที่แตกต่างกัน
AOT ได้มีเป้าหมายผลักดันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้ติดอันดับ 1 ใน 20 ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในโลก ปัจจุบันอยู่ระหว่างทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สอดคล้องและพร้อมรองรับการเดินทางในอนาคตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน คาดว่าจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2568
AOT มีแผนพัฒนา “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” อย่างต่อเนื่องจนถึง Ultimate Phase เพิ่มการรองรับผู้โดยสารจาก 40 ล้านคนต่อปี เป็น 150 ล้านคนต่อปี
ปัจจุบัน AOT เปิดให้บริการ “อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านคนต่อปี ซึ่งประกอบไปด้วย พื้นที่ลานจอดอากาศยาน 960,000 ตารางเมตร สะพานเทียบเครื่องบิน 64 สะพาน และหลุมจอดอากาศยาน 28 หลุมจอด
ขณะนี้มีสายการบินใช้บริการรวมทั้งหมด 60 สายการบิน เฉลี่ย 150 เที่ยวบินต่อวัน และขณะนี้ AOT อยู่ระหว่างการปรับพื้นที่ส่วนหนึ่งบริเวณ ชั้น 3 ของอาคาร SAT-1 เพื่อขยายพื้นที่นั่งพักคอยของผู้โดยสาร และพื้นที่ Co-Working Space เพิ่มเติมจากที่มีพื้นที่ Game Zone คิดส์คลับ เลาจน์ และพื้นที่ Relaxing ที่จะมีเปียโน มีโปรแกรมการโชว์เปียโน เพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลายให้แก่ผู้โดยสารระหว่างรอขึ้นเครื่อง
นอกจากนี้ AOT เตรียมจะเปิดให้บริการทางวิ่งเส้นที่ 3 (รันเวย์ 3) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินเพิ่มจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง รันเวย์ 3 มีความยาว 4,000 เมตร กว้าง 60 เมตร การเปิดให้บริการรันเวย์ 3 จะช่วยลดปัญหาการรอคิวนำเครื่องขึ้นและลงของอากาศยานได้
สำหรับการลงทุนใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเฟสต่างๆ จะประกอบไปด้วย “โครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก” (East Expansion) วงเงินลงทุน 12,000 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารได้อีก 81,000 ตารางเมตร คาดจะเปิดประมูลในเดือนธันวาคม 2567 ดำเนินการแล้วเสร็จปี 2571
“โครงการขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันตก” (West Expansion) จะต้องรอการทบทวนแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเสร็จก่อน จากนั้นจะมีการออกแบบรายละเอียด เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทที่ทบทวนใหม่ คาดว่าจะใช้เวลาออกแบบประมาณ 8 เดือน
ไฮไลต์ของการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งเป็นโครงการที่มีนัยสำคัญ คือ “การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้” (South Terminal) วงเงินลงทุน 120,000 ล้านบาท (ปีงบประมาณ 2568-2573) เพิ่มพื้นที่ 512,000 ตารางเมตร ซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่าอาคารผู้โดยสารหลัก(Main Terminal)
ทั้งยังเป็นการเพิ่มการเดินทางเข้าท่าอากาศยานด้านทิศใต้จากถนนบางนา-ตราด และจะมีการต่อเชื่อมทางพิเศษบางนา-ชลบุรี เข้าสู่อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ด้านทิศใต้เพื่อความสะดวก โดยโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทางด้านทิศใต้ ประกอบไปด้วย 9 กลุ่มงานหลัก ได้แก่
ทั้งนี้การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ด้านทิศใต้คาดว่าจะออกแบบก่อสร้างได้ในปี 2568-2569 จัดหาผู้ก่อสร้างได้ในปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปีครึ่ง แล้วเสร็จเปิดให้บริการปลายปี 2574 รองรับผู้โดยสาร 70 ล้านคนต่อปี ซึ่งมีขนาดพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมที่เคยวางแผนไว้
ล่าสุด AOT มีแผนที่จะยกเลิกโครงการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (SAT-2) โดยปรับพื้นที่ตรงนี้เป็น Air to Air Cargo แทน เพื่อนำไปทุ่มกับการลงทุนใน South Terminal ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับความต้องการในการเดินทางในทุกรูปแบบ
ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางบินระหว่างประเทศ และเส้นทางบินในประเทศ รวมไปถึงรองรับการเดินทางเปลี่ยนถ่ายเครื่องบินของสายการบินในกลุ่มพันธมิตรการบินต่างๆ ซึ่งในการออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังนี้ก็จะมีการหารือร่วมกับกลุ่มพันธมิตรต่างๆ อาทิ สตาร์อัลไลแอนซ์ และวันเวิลด์
นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้าง “ทางวิ่งเส้นที่ 4” (รันเวย์ 4) ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะใช้ระยะเวลาออกแบบรายละเอียดประมาณ 10 เดือน คาดเปิดประมูลในต้นปี 2570 ใกล้เคียงกับอาคารผู้โดยสารด้านใต้ ประมาณการวงเงินลงทุน 20,000 ล้านบาท เนื่องจากมีงานปรับปรุงคุณภาพดิน (Ground Improvement) ใช้เวลาประมาณ 8 เดือน คาดเปิดประมูลก่อสร้างได้ในต้นปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2573
สำหรับ “แผนพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3” วงเงินงบประมาณ 36,000 หมื่นล้านบาท เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี จะมีการก่อสร้าง อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (อาคาร 3)
โดยจะเป็น “อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลัง” พื้นที่ให้บริการกว่า 166,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้ 18 ล้านคนต่อปี เปิดให้บริการในปี 2571 อีกทั้งยังจะเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟสายสีแดง (สถานีดอนเมือง) เข้าถึงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3
จากนั้นจะปรับปรุง “อาคารผู้โดยสารอาคาร 1” เพื่อขยายพื้นที่ให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศ ร่วมกับ “อาคารผู้โดยสารอาคาร 2” สามารถรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ 22 ล้านคนต่อปี
รวมพื้นที่ใช้สอย 210,800 ตารางเมตร เปิดให้บริการปี 2573 จะทำให้ท่าอากาศยานดอนเมืองมีพื้นที่รองรับผู้โดยสารรวมกว่า 400,000 ตารางเมตร และมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการบิน เพื่อรองรับการเดินทางภายในประเทศได้อย่างเต็มรูปแบบ
นอกจากนี้ AOT มีแผนจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร General Aviation : GA บริเวณด้านทิศใต้ของสนามบิน เพิ่มพื้นที่ 21,000 ตารางเมตร เพื่อพัฒนาเป็นอาคารรับรองพิเศษสำหรับเครื่องบินส่วนบุคคล (Private Jet Terminal)
AOT ได้ปรับแผนลงทุน โดยเปิด Public Private Partnerships หรือ PPP ดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งจะเป็นพื้นที่ไพรเวท เจ็ท เทอร์มินัล แห่งใหม่ จะตั้งอยู่บนพื้นที่บริเวณคลังสินค้า 4 ภายในท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อดึงดูดตลาดไพรเวท เจ็ท ที่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงเดินทางเข้าไทย และให้บริการด้านการซ่อมบำรุงเครื่องบินส่วนบุคคลที่จะมาใช้บริการด้วย
รวมทั้ง AOT ยังมีแผนจะเปิด PPP ในโครงการ Junction Terminal (อาคารพื้นที่เชิงพาณิชย์) ในท่าอากาศยานดอนเมือง คาดว่ามูลค่าการลงทุนอยู่ที่ราว 2,500 ล้านบาท
ทั้งยังมีโครงการการปรับปรุงอาคารคลังสินค้า 1 และ 2 เพื่อรองรับคาร์โก้ ใต้ท้องเครื่องบิน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับสินค้าได้ 5 แสนตันต่อปี การก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์เพิ่มอีก 4,000 คัน เพิ่มพื้นที่จอดรถขึ้น 3 เท่าตัว จากปัจจุบันให้บริการอยู่ 2,000 คัน การปรับปรุงถนนภายในสนามบินให้เป็น 8 ช่องทางจราจร
AOT วางเป้าหมายท่าอากาศยานดอนเมืองไว้ให้เป็นสนามบินที่มีความสะดวกสบาย รองรับการให้บริการแบบ Point To Point ทั้งเที่ยวบินในประเทศ และเที่ยวบินระหว่างประเทศ ซึ่งแตกต่างจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่เน้นการเชื่อมต่อเที่ยวบิน (Connecting Flight)