นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าล่าสุดผมได้มีโอกาสหารือกับดร.ไต้ ปิง ประธานสภาวิจัยท่องเที่ยวจีน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในมุมมองของการนำงานวิจัยไปสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ทำให้ทราบข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการส่งเสริมและการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศจีนว่า ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ได้ประชุมผู้บริหารระดับสูงภาคการท่องเที่ยวจีน ครั้งแรก และให้นโยบาย ประเทศจีนจะต้องเป็นผู้นำโลกภาคการท่องเที่ยว ผ่านการทำงานยกระดับมาตรฐานด้านคุณภาพในทุกมิติ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวต้องสร้างคุณภาพชีวิตให้คนจีน
นั่นหมายถึงการท่องเที่ยวไม่ได้ดูแค่รายได้เชิงเศรษฐกิจเท่านั้น งานวิจัยหรืองานวิชาการของจีน ต้องสามารถนำมาใช้งาน และสร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศ โดยมีผลทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน มิใช่เป็นเพียงแต่ผลงานทางวิชาการที่มองแค่เรื่องการตีพิมพ์ หรือ มาตรฐานในทางการศึกษา และ ทฤษฎี ที่นักวิจัยไว้ใช้งานและ ภูมิใจกันเองเท่านั้น
สภาวิจัยท่องเที่ยวจีน ต้องทำหน้าที่ นำผลวิจัยที่แม่นยำถูกต้อง มีประสิทธิภาพ มีผลต่อภาคการปฏิบัตินั่นหมายถึง งานวิจัยที่เน้นการมีส่วนร่วมของ End Users และ เป็น Action Research ที่คนทั่วไปจับต้องได้ใช้งาน ผลวิจัยต้องรวดเร็วทันเหตุการณ์ ดังนั้น สภาวิจัยท่องเที่ยวจีน ต้องทำงานร่วมกับ หน่วยงานทั้งภาครัฐ และ เอกชน ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย นำผลวิจัย ส่งตรงต่อผู้นำ และ ฝ่ายบริหารระดับสูงของรัฐบาลตรง จึงมีความรับผิดชอบสูงมาก ซึ่งสภามีบุคลากร นักวิจัย ระดับ ปริญญาเอก ทำงานเต็มเวลา 62 คน มีงบประมาณปีละ 45 ล้านหยวนในการบริหารหน่วยงาน ทำสรุปรายงานตรงกับรัฐบาล
โดยดร.ไต้ ปิง ดำรงตำแหน่งประธานสภาวิจัยท่องเที่ยวจีนมา 16 ปีตั้งแต่ก่อนตั้งถึง ปัจจุบัน เป็นข้าราชประจำเทียบเท่าระดับ อธิบดี และท่านจะเอ่ยถึงพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยือนจีน ในปีนี้เป็นครั้งที่ 51 ซึ่งมีความหมายต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทย และ จีน ทำให้รัฐบาลจีน ให้ความสำคัญและ สนับสนุนประเทศไทยอย่างดีเสมอมา และตลอดไป
นายอดิษฐ์ ยังกล่าวต่อว่า ด้วยความที่จีนมุ่งเป้ายกระดับสู่ศูนย์กลางการท่องเที่ยวของโลก โดยจะยกระดับมาตรฐานในทุกมิติ แต่ยังขาดแคลนบุคคลากรรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับอาชีพอื่นๆมากกว่าการท่องเที่ยว ดร.ไต้ ปิง จึงได้เสนอไอเดีย สร้างทีมนักวิจัยท่องเที่ยว ASEANTA+China 100 คน โดยแต่ละประเทศส่งนักวิจัยเข้าร่วม ทำงานนี้ใช้เวลา 1 ปี มาร่วมทำงานและนำผลวิจัย ส่งต่อรัฐบาลของแต่ละประเทศเพื่อไปทำเป็นนโยบาย ร่วมมือส่งเสริม พัฒนาการท่องเที่ยวระหว่างกัน ทำให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนจีน และ อาเซียนร่วมกัน
ทั้งนี้ในสัปดาห์หน้า จะมีการยกร่างแผนงานความร่วมมือ “การพัฒนาการท่องเที่ยวจีน และ อาเซียน” โดยให้ไทยเป็นศูนย์กลางการดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับให้ จีน+อาเซียน เป็นตลาดการท่องเที่ยวโลก ที่มีประสิทธิภาพ ด้วยขนาดประชากรรวมกันกว่า 2,000 ล้านคน โดยจีนอยู่ที่ 1,400 ล้านคน และอาเซียนอยู่ที่ 600 ล้านคน และได้ประโยชน์ร่วมกัน เสมอภาคและเป็นธรรมจากความร่วมมือกัน
หลังวางกรอบแผนงานเสร็จ จะนำยกร่างส่งขออนุมัติจากรัฐบาลจีน และ “หัน จื้อ เฉียง” เอกอัครราชทูตจีนประเทศไทยจะประสานรัฐบาลไทย เพื่อวางร่าง MOU โดยเชิญผู้นำระดับสูงของจีน และ รัฐบาลไทยร่วมเป็นสักขีพยานลงนามความร่วมมือ ในแผนการเฉลิมฉลองครบรอบ ความสัมพันธ์ไทย-จีน 50 ปี ในปีหน้านี้
อย่างไรก็ตามการให้“ไทย”เป็นศูนย์การท่องเที่ยวของโครงการนี้มาจากเหตุผลหลัก ความสัมพันธ์อันดีของรัฐบาลและประชาชนของ 2 ประเทศ ที่ลึกซึ้ง ความน่าเชื่อถือและการยอมรับของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยในเวทีโลก ลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศ ความโดดเด่น และ เชี่ยวชาญภาคการท่องเที่ยวไทย และไทย มีความสามารถในการสื่อสาร และ สร้างความร่วมมือกับ ภูมิภาคอาเซียนได้ดี
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,042 วันที่ 7 - 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567