เริ่ม ก.ค. 68 “ขสมก.” อัดงบ 1.5 หมื่นล้าน ลุยเช่ารถโดยสารอีวี ยาว 7 ปี

07 พ.ย. 2567 | 09:28 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ย. 2567 | 09:32 น.

“ขสมก.” ทะลวงงบ 1.5 หมื่นล้านบาท เร่งจัดหารถโดยสารอีวี 1.5 พันคัน เฟสแรก เตรียมเช่ายาว 7 ปี ลดต้นทุนเชื้อเพลิง-ซ่อมบำรุง 2.5 พันล้านบาท คาดได้รับมอบรถภายในเดือน กค.-ส.ค.68

นายสุรพงษ์  ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าในการจัดหารถโดยสารปรับอากาศขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นั้น เบื้องต้นตามแผนในระยะที่ 1 ขสมก.จะดำเนินการจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (อีวี) จำนวน 1,520 คัน วงเงิน 15,000 ล้านบาท ระยะเวลาการเช่า 7 ปี 

ทั้งนี้ปัจจุบันการจัดหารถระยะแรกได้บรรจุอยู่ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แล้ว

ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หากงบประมาณปี 2568 มีผลบังคับใช้ หลังจากนั้น ขสมก.จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป 

นอกจากนี้ ขสมก.ได้มีการตั้งคณะกรรมการร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จะซื้อหรือจ้าง (TOR) แล้ว ซึ่งต้องเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบโครงการ
 

นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า การจัดหารถโดยสารปรับอากาศ ระยะแรก จำนวน 1,520 คัน ตามแผนจะเริ่มดำเนินการรับมอบรถได้ภายในเดือน ก.ค.-ส.ค. 2568 ซึ่งแบ่งการส่งมอบออกเป็น 3 ระยะ 

สำหรับแผนการจัดหารถโดยสารใหม่เป็นรถปรับอากาศพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนของ ขสมก.ลงได้มาก โดยเฉพาะต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนจากน้ำมันเป็นไฟฟ้า และรถใหม่จะประหยัดค่าใช้จ่ายด้านซ่อมบำรุงลง 

ขณะเดียวกันในปีแรกที่มีรถใหม่เข้ามาให้บริการจะสามารถลดต้นทุนในการดำเนินงานได้ถึง 2,530 ล้านบาท ยังไม่รวมที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีผลทำให้ลด PM 2.5
 

ส่วนรายได้รถโดยสารใหม่ปรับอากาศ ทำให้สามารถจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราที่ 15-20-25 บาทตามระยะทาง ตามมติคณะ กรรมการขนส่งทางบกกลาง (ขบ.) โดยเชื่อว่าผลการดำเนินงานของ ขสมก.จะมี EBITDA (กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) เป็นศูนย์จากเดิมที่ติดลบตลอด ในปี 2569-2570 

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันผู้โดยสารรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีประมาณ 1 ล้านคนต่อวัน โดย ขสมก.มีสัดส่วนประมาณ 70% ซึ่งในอนาคตที่มีระบบรถไฟครอบคลุมทั่วพื้นที่และรัฐบาลมีแนวทางในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดก็คาดว่าจะมีประชาชนหันมาใช้รถโดยสารประจำทางเดินทางมากขึ้น