กรมชลฯ คุมเข้มแผนจัดสรรน้ำเมืองโคราช น้ำไหลเข้าอ่างฯ น้อยกว่าเกณฑ์

07 พ.ย. 2567 | 09:10 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ย. 2567 | 09:13 น.

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ จ.นครราชสีมา หลังสิ้นสุดการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2567 พบว่าภาพรวมปีนี้ปริมาณน้ำต้นทุนน้อยกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้องวางแผนจัดสรรน้ำอย่างรอบคอบและรัดกุม

ปัจจุบัน (7 พ.ย. 67) ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 8 ในเขตพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีน้ำต้นทุนอยู่ประมาณ 634 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือ 52% ของความจุอ่างรวมกัน โดยอ่างเก็บน้ำหลักที่ใช้ในการสนับสนุนทุกกิจกรรมการใช้น้ำอย่างอ่างเก็บน้ำลำตะคอง มีปริมาณน้ำอยู่ประมาณ 106 ล้าน ลบ.ม. หรือเพียง 33% ของความจุอ่าง อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง มีปริมาณน้ำอยู่ประมาณ 93 ล้าน ลบ.ม. หรือ 60% ของความจุอ่าง อ่างเก็บน้ำมูลบน มีปริมาณน้ำอยู่ประมาณ 84 ล้าน ลบ.ม. หรือ 59% ของความจุอ่าง ขณะที่อ่างเก็บน้ำลำแชะ มีน้ำอยู่ 154 ล้าน ลบ.ม. หรือ 56% ของความจุอ่าง

ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 8 ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2567/68 รวมทุกกิจกรรมการใช้น้ำ จะอยู่ที่ประมาณ 229 ล้าน ลบ.ม. โดยจะจัดสรรตามลำดับความสำคัญของการใช้น้ำ ประกอบด้วย การอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การเกษตร และการอุตสาหกรรม

 

กรมชลฯ คุมเข้มแผนจัดสรรน้ำเมืองโคราช น้ำไหลเข้าอ่างฯ น้อยกว่าเกณฑ์

 

ในส่วนของแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขต จ.นครราชสีมา ในปีนี้ ได้จัดสรรน้ำสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกรวมทั้งสิ้น 37,373 ไร่ ตามศักยภาพน้ำต้นทุนในแต่ละพื้นที่ ประกอบไปด้วย ข้าวนาปรัง พืชไร่ พืชผัก ผลไม้ และไม้ยืนต้น รวมทั้งยังได้สนับสนุนการทำบ่อปลาและบ่อกุ้งด้วย

ทั้งนี้ การจัดสรรน้ำดังกล่าว สำนักงานชลประทานที่ 8 ได้ดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี2567/2568 ที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัดและจัดสรรน้ำอย่างประณีต เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอใช้เป็นไปตามแผนที่วางไว้และหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม อ่างเก็บน้ำบางแห่งที่อยู่ใน จ.นครราชสีมา ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวังและไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนการทำนาปรัง ต้องขอความร่วมมือให้เกษตรกร งดการปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่บางส่วน เพื่อสงวนน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคและบริโภคเป็นหลัก เพราะมีความเสี่ยงสูงที่ผลผลิตจะขาดน้ำและได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง