จับตาประชุมเจ้าหนี้ "การบินไทย" วันนี้ ค้านคลังชงตั้ง 2 ผู้บริหารแผนฟื้นฟู

28 พ.ย. 2567 | 19:02 น.

จับตาประชุมเจ้าหนี้ "การบินไทย"วันนี้ สหภาพการบินไทย รวมถึงเจ้าหนี้บางส่วน ค้านโหวตกระทรวงการคลัง ยื่นแก้แผนฟื้นฟูกิจการฉบับ 3 เพิ่มผู้บริหารแผน 2 ราย ตัวแทนจากกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม

วันนี้ (วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567) การบินไทย มีกำหนดการจัดประชุมเจ้าหนี้ ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อชี้แจงความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างทุน รวมถึงขอมติที่ประชุม โหวตเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งทางกระทรวงการคลัง ได้เสนอ ขอเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ 2 ราย จากกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ได้แก่ 1.นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม และ 2.นายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่ 3 ของการบินไทย

การบินไทย

หลังจากก่อนนี้ในการประชุมผู้ถือหุ้นการบินไทยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติโหวตให้เลื่อนการประชุมเจ้าหนี้ ออกไปเป็นวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 นี้ เนื่องจากวาระที่มีการเสนอให้พิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารแผนเพิ่ม 2 คน ที่เป็นตัวแทนจากระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม ทางเจ้าหนี้มองว่าเป็นการแจ้งกระชั้นชิดเกินไป โดยแจ้งล่วงหน้าเพียง 3 วัน ทางเจ้าหนี้ในแต่ละกลุ่มต้องใช้เวลาในการหารือ จึงขอหารือให้มีการโหวตเลื่อนการประชุมเจ้าหนี้ออกไปก่อน ด้วยมติเสียง 56 : 43  โดยในการประชุมผู้ถือหุ้นวันนั้น มีเจ้าหนี้เข้ารวมประชุมหลักร้อยกว่าราย รวมมูลค่าหนี้ 8 หมื่นกว่าล้านบาท จากจำนวนเจ้าหนี้ทั้งหมด 1.3 แสนล้านบาท

การประชุมผู้ถือหุ้นการบินในวันนี้ มีวาระพิจารณาใน 3 วาระ ได้แก่

 1.วาระขอลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อล้างผลขาดทุนสะสมหลักทรัพย์ที่มีประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยวาระนี้เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ทราบว่าขั้นตอนดังกล่าวเป็นกระบวนการทางบัญชี เพื่อประโยชน์ต่อการปรับโครงสร้างทุน จะทำให้ส่วนทุนเป็นบวก และไม่ได้กระทบต่อการชำระหนี้ จึงคาดการณ์ว่าวาระพิจารณาที่ 1 จะผ่านการเห็นชอบจากเจ้าหนี้

2.วาระขอพิจารณาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟู โดยการบินไทยจะเสนอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนกำหนด เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าจำนวนเงินปันผลที่จะมีการเสนอจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนั้นๆ ซึ่งวาระพิจารณานี้เป็นประโยชน์ต่อเจ้าหนี้ จึงคาดว่าจะผ่านการเห็นชอบ

กระทรวงการคลังชงเพิ่ม 2 ผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย

3.วาระขอพิจารณาเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟู 2 คน ประกอบด้วย นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่ง และจราจร กระทรวงคมนาคม และนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง โดยวาระนี้มีกระแสต้านทั้งจากเจ้าหนี้กลุ่มอื่นๆ รวมถึงสหภาพแรงงานการบินไทย เนื่องจากมองว่าเป็นการแทรกแซงทางการเมือง

ทั้งนี้กระทรวงการคลัง ระบุเหตุผลของการเสนอวาระพิจารณาการเพิ่ม 2 ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวว่าการบินไทยอยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ประกอบกับภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่ศาลเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 กำหนดให้มีผู้บริหารแผนจำนวน 5 ราย ขณะที่การดำเนินงานปัจจุบันคงเหลือผู้บริหารแผน จำนวน 3 ราย และในช่วงเวลาที่เหลือก่อนออกจากแผนฟื้นฟู การบินไทยมีเรื่องต้องตัดสินใจสำคัญหลายเรื่อง จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยพิจารณา และเชื่อมโยงผู้ถือหุ้น

ดังนั้นในวันนี้ผลโหวตในเรื่องนี้จึงเป็นที่จับตามอง โดยทางเจ้าหนี้กลุ่มต่างๆกับเจ้าหนี้ฝั่งกระทรวงการคลังและภาครัฐ จะต้องแข่งขันโหวต ซึ่งทางเจ้าหนี้บางกลุ่ม และสหภาพแรงงานการบินไทย ได้ออกมาเรียกร้องให้เจ้าหนี้โหวตไม่เห็นชอบ หรือโหวด NO เพื่อไม่ผ่านวาระดังกล่าว ซึ่งนอกจากการประชุมผู้ถือหุ้นในวันนี้ ก่อนหน้านี้การบินไทยก็ได้อำนวยความสะดวกเพิ่มทางเลือกในการลงทะเบียนประชุมเจ้าหนี้และลงมติล่วงหน้า ในการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เพื่อพิจารณาคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าหากมีการพิจารณาโหวตผ่านวาระ 3 เรื่องการเพิ่มผู้บริหารแผน 2 คน ก็เชื่อว่าการทำงานของคณะผู้บริหารแผนจะยุ่งยากขึ้น เพราะเดิมทำงานในคณะรวม 3 คน ย่อมบริหารจัดการได้ง่ายกว่า 5 คนอยู่แล้ว การตัดสินใจบริหารงานจะทำได้เร็วกว่า แต่ท้ายที่สุดการพิจารณาเพิ่มผู้บริหารแผนหรือไม่นั้น ถือเป็นอำนาจของเจ้าหนี้ที่จะพิจารณา

จับตาประชุมเจ้าหนี้ \"การบินไทย\" วันนี้ ค้านคลังชงตั้ง 2 ผู้บริหารแผนฟื้นฟู

แต่หากวาระนี้ไม่ผ่านการพิจารณาอีกไม่นานก็จะเข้าสู่ช่วงตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหม่ ภายหลังการบินไทยออกจากแผนฟื้นฟู ซึ่งในขณะนั้นก็ต้องมีตัวแทนจากภาครัฐในฐานะผู้ถือหุ้นเข้ามาอยู่แล้ว ซึ่งจากสัดส่วนการปรับโครงสร้างทุน ภาครัฐจะถือหุ้นรวมประมาณ 44% ก็จะสามารถส่งตัวแทนมาเป็นบอร์ดการบินไทยได้ตามสัดส่วนหุ้น

“รายชื่อบอร์ดจะต้องผ่านการพิจารณาจากผู้ถือหุ้น ดังนั้นผู้ถือหุ้นทั้งหมดต้องช่วยกันพิจารณาเพื่อประโยชน์สูงสุด แต่ถ้ารัฐมีอำนาจควบคุมมาก แม้ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ ก็คงทำงานยาก ก็ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นที่จะโหวตรายชื่อบอร์ดกัน” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเด็นของการนัดประชุมเจ้าหนี้ 29 พ.ย.นี้ มองว่า 2 วาระแรกของการพิจารณา เรื่องการลดพาร์เพื่อล้างขาดทุนสะสม และขอจ่ายเงินปันผล เป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์ต่อเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นในอนาคต เนื่องจากจะทำให้การบินไทยสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนได้

จับตาประชุมเจ้าหนี้ \"การบินไทย\" วันนี้ ค้านคลังชงตั้ง 2 ผู้บริหารแผนฟื้นฟู

ส่วนวาระ 3 เรื่องการพิจารณาเพิ่มผู้บริหารแผน ถือเป็นอำนาจการตัดสินใจของเจ้าหนี้ทั้งหมด ที่จะพิจารณาความเหมาะสม และต้องคิดถึงประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ในฐานะผู้แทนจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเพิ่มผู้บริหารแผน 2 คน อยู่ที่ฉันทานุมัติของเจ้าหนี้ในการพิจารณา แต่ยืนยันได้ว่าการเสนอเพิ่มผู้บริหารแผนนั้น ภาครัฐมีเป้าหมายเพื่อมีส่วนร่วมในการพิจารณาแนวทาง และนโยบายของรัฐบาล ผลักดันการบินไทยให้มีส่วนร่วมในการยกระดับไทยเป็น Aviation Hub นโยบายเหล่านี้เกี่ยวเนื่องกับด้านคมนาคม การใช้เส้นทาง และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ดังนั้นจึงอยากวางแผนการทำงานร่วมกัน

จับตาประชุมเจ้าหนี้ \"การบินไทย\" วันนี้ ค้านคลังชงตั้ง 2 ผู้บริหารแผนฟื้นฟู

ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับการเข้ามาของผู้บริหารแผน จะมีผลต่อการเสนอรายชื่อบอร์ดการบินไทยหลังจากออกแผนฟื้นฟูกิจการนั้น ชี้แจงว่ากระบวนการคัดเลือกผู้เข้ามาเป็นกรรมการการบินไทยนั้น ไม่ได้มีสิทธิเฉพาะภาครัฐอย่างเดียว เพราะเมื่อมีการปรับโครงสร้างทุนแล้วเสร็จ เจ้าหนี้ที่แปลงหนี้เป็นทุนก็คิดเป็นสัดส่วนกว่า 44% ซึ่งใกล้เคียงกับการถือหุ้นของภาครัฐ ดังนั้นมีสิทธิเสนอชื่อผู้เป็นการบินไทยเช่นเดียวกัน และเชื่อว่าโครงสร้างกรรมการนี้จะก่อให้เกิด Balance ในกลุ่มผู้ถือหุ้น