โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ เพราะยังเหลือเพียงเงื่อนไขเดียว คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระหว่าง บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป
ประกอบกับในช่วงกลางปีหน้า จะครบข้อตกลง 5 ปี ตามสัญญากับภาครัฐ ซึ่ง บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA จะต้องเริ่มลงทุน หรือ จะไม่ลงทุน “พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หนึ่งในพันธมิตรผู้คว้าประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก มีคำตอบ
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าการลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท นับจากวันที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ลงนามกับ บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563 จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ เนื่องจากอีอีซี ยังไม่ได้ออกหนังสือแจ้งให้เอกชนเริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) ได้
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หนึ่งในพันธมิตรผู้คว้าประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ระบุว่า ปัจจุบันการที่อีอีซี ยังไม่สามารถส่งมอบหนังสือแจ้งให้ UTA เริ่มงาน (NTP) ได้
เนื่องจากยังติดในเงื่อนไขเดียว ที่ภาครัฐกำหนดขึ้น คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือ ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน ที่จะต้องหารือร่วมกันถึงการวางตำแหน่ง และบริหารสถานีรถไฟเชื่อมต่อ สอดคล้องกับอาคารผู้โดยสาร และทำแผนตารางเดินรถไฟให้สอดคล้องกับสนามบิน
แต่ในขณะนี้เรื่องการลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินยังไม่ได้ข้อสรุป ขณะที่เงื่อนไขอื่นๆ ได้ข้อยุติไปแล้ว อาทิ การก่อสร้างรันเวย์ 2 ของกองทัพเรือ (ทร.) ,มอเตอร์เวย์ M7 เชื่อมสนามบิน, ระบบไฟฟ้า ประปา สาธารณูปโภค
ดังนั้นเมื่อไฮสปีดเทรน 3 สนามบินยังไม่ชัดเจน ในขณะนี้เราก็ต้องเริ่มทำแผนสำรอง กรณีหากรถไฟความเร็วสูงไม่มา สนามบินจะทำอย่างไร เพราะโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และรถไฟความเร็วสูง มีความสัมพันธ์กัน เป็นปัจจัยสำคัญในการนำคนเข้า-ออกพื้นที่ และจะทำให้เกิดการขยายตัวของเมืองการบิน จากการขนส่งผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่
ประกอบกับที่ผ่านมา UTA มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการนี้ไปแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการ เช่น ทำแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) เราก็อยากจะลงทุนให้ได้เร็วที่สุด เพราะนั่นหมายถึงจะมีรายได้เข้ามาต่อไป
ตอนนี้เราอาจจะไม่ต้องรอความชัดเจนเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ให้ออกมาก่อน เพราะหากรอขนาดนั้นแล้วไม่มีออกมา รอไปอีก 10 ปี เราก็ไม่ได้สร้างสักที ทำให้ต้องมาปรึกษาภายในของเราเองว่า จะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อหารือกับอีอีซีในการขอปรับแก้เงื่อนไขสัญญาในการลงทุนใหม่อีกครั้ง เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่มาก งบประมาณของโครงการก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะพันธมิตรทางการเงินของเรา ก็ต้องทำให้เขาเชื่อมั่นว่าไปด้วยกันได้
อย่างไรก็ตามการขอปรับแก้เงื่อนไขสัญญาการลงทุนใหม่ ก็เพื่อให้ธุรกิจเดินได้ และการปรับแก้เงื่อนไขเป็นสิ่งที่รัฐบาลรับได้ ซึ่งก็ต้องมาหารือร่วมกันอีกครั้ง เช่น ล่าสุดการลงทุนในเฟสแรก จากที่กำหนดให้รองรับผู้โดยสารที่ 12 ล้านคนต่อปี ก็อาจจะเหลือ 8-10 ล้านคนต่อปี ให้สอดรับกับจำนวนผู้ใช้บริการสนามบิน
เมื่อผู้โดยสารใช้บริการเริ่มเต็มก็จะขยายไปลงทุนต่อในเฟสอื่นๆ เพื่อรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคน ในช่วงการลงทุนราว 50 ปีเป็นไปตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรก ขณะที่เมืองการบินก็จะมีการพัฒนาเป็นเฟสๆ ให้โตไปตามขนาดของสนามบิน ซึ่งก่อนเกิดโควิดสนามบินอู่ตะเภา มีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ 2 ล้านคนต่อปี
“เราหวังว่าการหารือร่วมกับอีอีซี จะได้ข้อสรุปในไตรมาส 1 ปีหน้า ซึ่งบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายแล้วว่า ไม่ว่าจะเกิดหรือไม่เกิดรถไฟความเร็วสูงฯ บริษัทฯ จะเดินหน้าโครงการต่อไป จะเริ่มก่อสร้างไม่ให้เกินกลางปี 2568 เพื่อเปิดให้บริการเฟสแรกได้ในปี 2572 เพราะหากนับถึงกลางปี 68 เวลาก็ล่วงเลยมาแล้วประมาณ 5 ปี เพื่อจะได้เข้าไปเริ่มลงทุนเพราะถ้ารถไฟฟ้าไม่มา ก็จะกระทบต่อกิจกรรมต่างๆทั้งในสนามบินและเมืองการบินด้วย”
นายพุฒิพงศ์ ยังกล่าวต่อว่า การลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก นอกจากการพัฒนาสนามบินเพื่อรองรับผู้โดยสาร ซึ่งในเฟสแรก จะสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ขึ้นมา ในส่วนของเมืองการบิน เราก็มองว่าจะเป็นการลงทุนเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ ซึ่งตอนที่วางไว้ไม่มีเรื่องของกาสิโน เพราะภาพแรก คือเราคิดว่าต้องสร้างแม็กเน็ตดึงคนมาใช้สนามบิน นอกเหนือจากผู้โดยสารเดินทางมาใช้บริการในสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินอยู่แล้ว
เราจะทำที่นี่ให้เป็นเมืองที่น่าสนใจ น่าท่องเที่ยว เป็นเมืองที่คนมาใช้มากิน มาช้อป มาดูก็จะมีเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ต่างๆที่เรามองว่าเป็นไปได้และเป็นสิ่งที่น่าสนใจ จะเป็นพวกร้านอาหารดีๆในบริเวณนี้ การจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าในดิวตี้ฟรี มีการสร้างสเตเดี้ยมหรืออารีน่า เป็นจุดการแสดงที่ดึงเอาการแสดงระดับโลกเข้ามา
การทำให้เป็นพื้นที่ปลอดอากรได้ตามแนวทางสนามบิน ก็จะมีบริการอื่นๆเรื่องการนำเข้า กระบวนการสินค้า ส่งออก โดยไม่เสียภาษีก็จะเป็นการอำนวยความสะดวกเหมือนที่ฮ่องกง หรือสิงคโปร์มี โดยกิจกรรมเชิงพาณิชย์เหล่านี้ก็สามารถเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุนได้
ส่วนในขณะนี้ที่รัฐบาลมีแผนจะผลักดันให้เกิดการลงทุนเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ ที่มีกาสิโนอยู่ส่วนหนึ่ง รัฐบาลก็คงต้องดูว่าจะสนับสนุนในพื้นที่ไหน จะมีในพิ้นที่อีอีซีหรือไม่ ถ้ามีก็มองว่ามีโอกาสที่ดึงให้เอกชนที่สนใจเข้ามาเช่าพื้นที่ในส่วนของเมืองการบินได้เช่นกัน