เปิดไทม์ไลน์ไทย-เทศ คิกออฟบังคับสายการบิน เติมน้ำมัน SAF

29 ธ.ค. 2567 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ธ.ค. 2567 | 10:53 น.

เปิดไทม์ไลน์ไทย-เทศ คิกออฟบังคับสายการบิน เติมน้ำมัน SAF หลัง ICAO กำหนดเป้าหมายให้สายการบินทั่วโลกเติม เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน ไว้ที่ 5% ภายในปี 2573 ดังนั้นนับจากนี้แต่ละประเทศจะมีมาตรการอย่างไร เช็คที่นี่

อุตสาหกรรมการบินของโลก มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นสัดส่วนประมาณ 2-2.5% ของโลก และตั้งแต่ปี 2533-2562 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 2.3% ต่อปี กระทั่งเกิดวิกฤติโควิด 19 ส่งผลให้การเดินทางทั่วโลกหยุดชะงัก ทำให้มีการปล่อย CO2 จากภาคการบินลดลงไปด้วย จากในปี 2562 ปล่อยสูงสุดมากกว่า 1 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และในปี 2563 ลดลงมาเป็น 600 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์

แต่ในปี 2564 กลับมาเพิ่มขึ้นมาเป็นประมาณ 720 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกินระดับที่ปลดปล่อยสูงสุดเมื่อปี 2562ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติที่กำกับดูแลการบินทั่วโลก คาดว่า ในปี 2593 อุตสาหกรรมการบินของโลกจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เติบโต 3 เท่าจากที่ปล่อยในปีนี้ ดังนั้นเพื่อสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ที่วางแผนให้ภาคพลังงานทั่วโลกปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ NetZero ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050)

เปิดไทม์ไลน์ไทย-เทศ คิกออฟบังคับสายการบิน เติมน้ำมัน SAF

ICAO จึงมีเป้าหมายระยะยาว ที่จะทำให้การบินระหว่างประเทศ ตั้งเป้าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ให้เกินระดับที่เคยปล่อยในปี 2562 และมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593 โดย ICAO ได้กำหนดเป้าหมายให้สายการบินทั่วโลกเติมน้ำมันเชื้อเพลิงทางเลือก สำหรับการบินและพลังงานสะอาดอื่นๆ หรือ เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel:SAF) ไว้ที่ 5% ภายในปี 2573 

จึงเป็นที่มาซึ่งทำให้ประเทศต่างๆ และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เริ่มปรับเปลี่ยนจากการเปิดให้สายการบินที่บินเข้า-ออกประเทศ ในเส้นทางบินระหว่างประเทศ เติมน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF) โดยสมัครใจ เป็นมาตราการบังคับ ที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2569 ซึ่งต้องดำเนินการเติม SAF ในแบบค่อยเป็นค่อยไป ดังนี้

เปิดไทม์ไลน์ไทย-เทศ บังคับสายการบิน เติมน้ำมัน SAF

  • ประเทศสิงคโปร์ 

จะบังคับให้สายการบินเติม ออกประกาศว่าเครื่องบินขาออกทั้งหมด จะใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ตั้งแต่ปี 2569 โดยสิงคโปร์ตั้งเป้าใช้เชื้อเพลิง SAF คิดเป็น 1% ของเชื้อเพลิงเครื่องบินทั้งหมดที่ใช้ที่สนามบินชางงี และสนามบินเซเลตาร์ภายในปีดังกล่าว และเพิ่มเป็น 3-5% ภายในปี 2573 

  • ประเทศอินโดนีเซีย

ตั้งเป้าให้สายการบินระหว่างประเทศ เติม SAF เริ่มต้นที่ 1 % ในปี 2570 และเพิ่มเป็น 2.5% ในปี 2573 สำหรับประเทศไทย จะกำหนดให้สายการบินที่ทำการบินออกจากประเทศไทย ต้องเติมน้ำมัน SAF เริ่มต้นที่ 1% ในปี 2569 และจะทยอยเพิ่มเป็น 3 % ในปี 2573

  • ประเทศอินเดีย

ตั้งเป้าให้สายการบินเติมน้ำมัน SAF คิดเป็นสัดส่วนเริ่มต้นที่ 1 % ในปี 2570 และเพิ่มเป็น 5% ในปี 2573

  • สหภาพยุโรป 

ตั้งเป้าให้สายการบินเติมน้ำมัน SAF เริ่มต้นที่ 2 % ในปี 2569 และจะเพิ่มเป็น 6% ในปี 2573 

  • สหราชอาณาจักร

กำหนดให้สายการบินเติมน้ำมัน SAF เริ่มต้นที่ 2 % ในปี 2569 และจะขยายเพิ่มเป็น 10% ในปี 2573

การบังคับให้สายการบินต้องเติมน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF) แบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นเพราะความท้าทายในปัจจุบันสำหรับผู้ประกอบการสายการบิน คือ SAF มีราคาสูงกว่าน้ำมันเครื่องบิน A-1 ถึง 3-4 เท่า และยิ่งใช้ SAF มากเท่าไหร่ก็จะกระทบต่อกำไรของสายการบินที่ลดลง

เปิดไทม์ไลน์ไทย-เทศ คิกออฟบังคับสายการบิน เติมน้ำมัน SAF

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า การใช้น้ำมัน SAF 1% อาจส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของสายการบินได้ถึง 5% แต่สายการบินจะรับภาระต้นทุนนี้เอง

 

โดยไม่ส่งต่อภาระนี้ไปยังผู้โดยสารเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อความต้องการในการเดินทางของผู้โดยสาร และมองว่ารัฐบาลควรพิจารณาแรงจูงใจหรือเงินอุดหนุนสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเพื่อปฏิบัติตามนโยบายในระยะยาว

Yap Mun Ching หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืนของ Capital A Berhad กล่าวว่า โครงการชดเชยและลดคาร์บอนสำหรับการบินระหว่างประเทศ (CORSIA) ของ ICAO ซึ่งเป็นมาตรการตามกลไกตลาดระดับโลกเพื่อแก้ไขปัญหาการปล่อยคาร์บอนจากการบินระหว่างประเทศ 

ในช่วงแรกของ CORSIA ระหว่างปี 2567-2569 อุตสาหกรรมการบินของไทยจำเป็นต้องลดการปล่อยคาร์บอน 3.3 ล้านตัน ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับเครดิตคาร์บอน และ 87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับ SAF รวมเป็นกว่า 166 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับช่วงที่สองของ CORSIA ระหว่างปี 2570-2572 ประเทศไทยควรลดการปล่อยคาร์บอน 8.2 ล้านตัน โดยแบ่งเป็น 323 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับเครดิตคาร์บอน และ 554 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับ SAF รวมเป็น 877 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อกำไรของสายการบิน

เช่น หากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกบังคับใช้กฎหมาย SAF 1% ค่าใช้จ่ายจะสูงถึง 1.90 ดอลลาร์ต่อผู้โดยสาร และอาจจะส่งผลกระทบต่อแผนปฏิบัติการและการขยายตัวของสายการบิน รวมถึงการเติบโตของทั้งอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว

แต่อย่างไรก็ตามการบังคับให้สายการบินเติมน้ำมัน SAF หรือชดเชยคาร์บอน เครดิต ก็คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะการบังคับสายการบินเติมน้ำมัน SAF กระจายไปในหลายประเทศและหลายภูมิภาค อย่างในปี 2569 ถ้าการบินไทยไม่เติมน้ำมัน SAF ตามสัดส่วนที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้ ก็ไม่สามารถบินเข้ายุโรปได้ ประเทศไทย จึงต้องเดินเรื่องนี้ไปพร้อมๆกับประเทศอื่น

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT กล่าวว่าปัจจุบัน กพท.อยู่ระหว่างทำกฎระเบียบข้อบังคับที่จะใช้ในอุตสาหกรรมการบิน เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จมีผลบังคับใช้ในปี 2569 

โดยระยะแรกจะกำหนดให้สายการบินใช้น้ำมัน SAF 1% และหลังจากนั้นจะเพิ่มสัดส่วนอย่างต่อเนื่องในปี 2570 เป็น 2% โดยสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องดูที่ผู้ผลิตอาจมีซัพพลายไม่เพียงพอในการผลิตน้ำมัน SAF จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล

นอกจากนี้ปัจจุบันทาง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท. หรือ AOT ก็อยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมในการให้บริการเติมน้ำมัน SAF ให้กับสายการบินต่างๆที่มาใช้บริการสนามบิน โดยได้ร่วมทุน EA จัดตั้งบริษัท ท่าอากาศยาน พลังงานบริสุทธิ์ ปูทางสู่กระบวนการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF 

โดยเร่งศึกษารูปแบบการลงทุนแทงค์ฟาร์ม ระบบการผสมเชื้อเพลิง SAF ลงทุนกว่า 3 พันล้านบาท เพื่อผลักดันไทยเป็นศูนย์การผลิตและการจำหน่าย เพื่อใช้ในภูมิภาคนี้ พร้อมรองรับกพท.เตรียมออกให้กฏสายการบินออกจากไทยต้องใช้น้ำมัน SAF เช่นกัน

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,054 วันที่ 19 - 21 ธันวาคม พ.ศ. 2567