วิกฤติยูเครน ดันราคาน้ำตาลโลก พุ่งสูงสุดรอบ 5 ปี ไทยรับอานิสงส์

31 มี.ค. 2565 | 03:12 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2565 | 10:31 น.

ต้องจับตาสถานการณ์น้ำตาลโลกปี 2564/65 ให้ดี จากตั้งแต่วิกฤติโควิด ลากยาวมาถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีตัวแปรเกิดขึ้นหลายอย่างที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

วิกฤติยูเครน  ดันราคาน้ำตาลโลก พุ่งสูงสุดรอบ  5  ปี ไทยรับอานิสงส์

 

นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลผลิตน้ำตาลโลก ผลต่อเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำตาลดิบ รวมถึงภาระต้นทุนทั้งพลังงานและปุ๋ยเคมีที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยหลัก ๆ เหล่านี้จะมีผลต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลไทยอย่างไร น่าติดตาม

 

น้ำตาลโลกยังขาด

นายภิรมย์ศักดิ์ กล่าวว่า ยังต้องจับตาผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกที่มีการขาดแคลนลดลง ล่าสุดองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (ISO) คาดว่าจะขาดประมาณ 1.93 ล้านตัน จากประมาณการครั้งก่อนเมื่อเดือน พ.ย.64 คาดจะขาดประมาณ 2.55 ล้านตัน ทั้งนี้ คาดว่าบราซิลกลาง-ใต้ จะผลิตได้ลดลงเหลือประมาณ 32.1 ล้านตัน ขณะที่ไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 10 ล้านตัน และอินเดียน่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 33.3 - 33.5 ล้านตัน  ส่วนจีน ผลผลิตน้ำตาลน่าจะลดลงเหลือประมาณ 10 ล้านตัน ต่ำกว่าปกติ เนื่องจากผลผลิตน้ำตาลจากบี๊ทได้รับความเสียหายมาก

 

ภิรมย์ศักดิ์  สาสุนีย์

 

สงครามดันน้ำตาลราคาพุ่ง

ส่วนสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มีผลทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ปรับตัวสูงขึ้น ระดับ 100 ดอลลาร์ถึง 130.50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ถือเป็นระดับสูงสุดรอบ 13 ปีครึ่ง ส่งผลกระทบให้ราคาน้ำตาลทรายดิบปรับตัวสูงขึ้น จากระดับต่ำสุดประมาณ 17.50 เซนต์ต่อปอนด์ กระทั่งถึงระดับสูงสุดเกือบ 20 เซนต์ต่อปอนด์ และขณะนี้อ่อนตัวลงมาอยู่ในช่วง 19-19.65 เซนต์ต่อปอนด์ ตามการอ่อนตัวของราคาน้ำมันดิบ

 

“ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดน้ำตาลนิวยอร์ค ได้ปรับตัวสูงขึ้นเกือบถึงระดับสูงสุดในรอบ 5 ปีเศษ ที่ระดับเกือบ 20 เซนต์ต่อปอนด์ หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ได้ปรับตัวสูงขึ้นถึงระดับสูงสุดที่ 20.94 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งถือว่าสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 ที่ปรับตัวสูงขึ้นไปสูงสุดเหนือ 24 เซนต์ต่อปอนด์”

 

นอกจากนี้ผลที่เกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้การนำเข้าน้ำตาลทรายดิบมายังประเทศอดีตสหภาพโซเวียตผ่านทางทะเลดำประมาณปีละ 1.2 ล้านตัน ไม่สามารถทำได้ ในขณะที่การปรับตัวสูงขึ้นมากของราคาน้ำมัน จะจูงใจให้บราซิลใช้อ้อยในการผลิตเอทานอลมากกว่าน้ำตาล

 

 

วิกฤติยูเครน  ดันราคาน้ำตาลโลก พุ่งสูงสุดรอบ  5  ปี ไทยรับอานิสงส์

 

นายภิรมย์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน มีผลต่อการส่งออกน้ำตาลของไทยอย่างไรนั้น ส่วนตัวมองว่าผู้ส่งออกน้ำตาลไทยไม่น่าได้รับผลกระทบ เนื่องจากรัสเซียไม่ได้เป็นผู้นำเข้าน้ำตาลจากไทยมานานมากแล้ว โดยในช่วง 2 เดือนแรกปี 2565 พบว่าไทยส่งออกน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นถึง 170% โดยการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (กราฟิกประกอบ) ผู้นำเข้าน้ำตาลจากไทยรายใหญ่ยังเป็นอินโดนีเซีย กัมพูชา และเกาหลีใต้ จากอัตราค่าขนส่งที่ต่ำกว่าประเทศผู้ส่งออกรายอื่น 

 

ขณะเดียวกันมองว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน น่าจะสร้างปัญหาให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมากกว่าวิกฤติโควิด จากมีผลต่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมีผลต่อต้นทุนการผลิตของชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน รวมถึงผลต่อราคาปุ๋ย จากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ของโลกและระงับส่งออก

 

สถานการณ์อ้อยและแนวโน้ม

ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด ยังกล่าวถึง สถานการณ์อ้อยของไทยและแนวโน้มว่า หลังผลผลิตได้รับความเสียหายจากภัยแล้งช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในปีนี้ (ปีการผลิต 2564/65) คาดผลผลิตอ้อยของไทยอาจเพิ่มขึ้นเป็น 91-92 ล้านตันจะผลิตเป็นน้ำตาลได้ประมาณ 10 ล้านตันจากปีก่อนมีผลผลิต 66.7 ล้านตัน  และในฤดูการผลิตปีหน้า (ปี 2565/66) เชื่อว่าผลผลิตอ้อยน่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับเกิน 100 ล้านตัน จากราคาจูงใจและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย

 

“ราคาอ้อยจูงใจให้ชาวไร่ปลูกอ้อยอย่างต่อเนื่อง โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศได้ประกาศประกันราคารับซื้ออ้อยในอัตราตันละ 1,200 บาท เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2565/66 เป็นต้นไป  ส่วนความกังวลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในเวลานี้คือ ผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะทำให้เกิดปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นายภิรมย์ศักดิ์ กล่าว

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3770 วันที่ 31 มีนาคม -2 เมษายน 2565