แหล่งข่าวจากแกนนำชาวไร่อ้อย เผยว่า ตามที่ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล ได้ให้ข่าวเกี่ยวกับการเปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายในฤดูการผลิตปี 2565 / 2566 โดยจะให้ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาไปยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กำหนดวันเปิดหีบอ้อยในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 เบื้องต้นโรงงานได้กำหนดราคาอ้อยที่ 10 ซี.ซี.เอส. ที่ 1,040 บาทต่อตันนั้น
เรื่องนี้ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศไม่สามารถรับข้อเสนอนี้ได้ เพราะเป็นการดำเนินการของฝ่ายโรงงานน้ำตาลเอง และไม่มีหลักประกันใด ๆ ให้กับชาวไร่อ้อยเลย และปัญหาในปัจจุบันเรื่องการเปิดหีบอ้อยก็เกิดจากการที่โรงงานน้ำตาลลาออกจากคณะกรรมการไม่ใช่ปัญหาเกิดจากชาวไร่อ้อย และส่วนราชการ
ชาวไร่อ้อยเห็นว่าโรงงานน้ำตาลควรกลับเข้ามาเป็นคณะกรรมการและดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย และราคาอ้อยที่โรงงานเสนอมานั้นก็เป็นราคาที่ต่ำเมื่อเทียบกับการคำนวณราคาอ้อยในระบบปีนี้ ซึ่งมีบางเขตที่คำนวณแล้วราคาอ้อยได้มากกว่า 1,100 บาทต่อตัน ที่ความหวาน 10 ซี.ซี.เอส.
ประกอบกับที่ผ่านมาคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้มีแนวทางในการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในการตัดอ้อยสดส่งโรงงานตันละไม่ต่ำกว่า 120 บาท และมีการพิจารณาราคาอ้อยขั้นสุดท้ายเพิ่มให้กับชาวไร่อ้อยทุกปี และขณะนี้ราคาน้ำตาลในประเทศและราคาตลาดโลกอยู่ในระดับที่สูงขึ้น ถ้ามีคณะกรรมการเข้ามาพิจารณาก็จะทำให้รายได้ของระบบมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
การดำเนินการโดยฝ่ายโรงงานฝ่ายเดียวเท่ากับเป็นการล้มระบบ และเลิกกฎหมายอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งชาวไร่อ้อยทั่วประเทศไม่สามารถรับได้ และในปัจจุบันการจำหน่ายน้ำตาลภายในประทศและการส่งออกน้ำตาลทรายไปยังต่างประเทศเป็นระบบเสรีอยู่แล้ว ไม่มีข้อขัดแย้งกับองค์การการค้าโลก(WTO) แต่อย่างใด
ปัญหาของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่โรงงานน้ำตาลพยามทําอยู่นั้นคือ วัตถุประสงค์ต้องการล้มระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 โดยใช้วิธีการให้กรรมการฝ่ายโรงงานลาออก จากกรรมการทุกคณะตามพระราชบัญญัติอ้อยน้ำตาลทราย ซึ่งทําให้คณะกรรมการคณะต่าง ๆ ไม่สามารถจัดประชุมได้ตามปกติ เนื่องจากขาดองค์ประกอบคือตัวแทนของโรงงานน้ำตาล และก็วางแผนที่จะร้องศาลปกครองเพื่อขอเปิดหีบ และโรงงานก็จะเป็นผู้กําหนดราคาอ้อยที่จะรับซื้อจากชาวไร่อ้อยเอง โดยไม่ต้องฟังเสียงของทางราชการและชาวไร่อ้อย นี่คือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโรงงานที่สร้างความวุ่นวายอยู่ในขณะนี้ และไปออกข่าวจะให้ราคาอ้อยตันละ 1,040 บาท ซึ่งตามความเป็นจริงในระบบราคาอ้อยจะต้องได้มากกว่าตันละ 1,040 บาท
ดังนั้นขอให้ชาวไร่อ้อยรอฟังข่าวสารจากส่วนราชการ ซึ่งมีแนวทางในการดําเนินการแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว การให้ข่าวของฝ่ายโรงงานเป็นเพียงการสร้างสถานการณ์ เพื่อล้มพระราชบัญญัติอ้อย และน้ำตาลทราย (พ.ร.บ.) เท่านั้น ซึ่งไม่มีชาวไร่อ้อยคนใดเห็นด้วย
ด้านแหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาล กล่าวว่า ปัจจุบัน การซื้อขายอ้อย ถูกกำหนดให้ซื้ออ้อยจากค่าความหวาน (CCS) ในอัตราส่วนที่ 60% และอีกส่วนเป็นการซื้ออ้อยแบบน้ำหนักที่ 40% หมายความว่าอย่างไร นั่นก็คือ โรงงานซื้อสารความหวานในต้นอ้อย ในอัตรา 60% ส่วนน้ำหนักคือโรงงานซื้อสิ่งที่เป็นชานอ้อย สิ่งเจือปนที่มาจากอ้อยทั้งหมด (กาบใบ ดิน ทราย ที่ติดมากับอ้อย)ในอัตรา 40% ในส่วนนี้ไม่สามารถผลิตเป็นน้ำตาลได้ แต่ได้คิดราคากับโรงงานไปแล้ว
ดังนั้น การนำเอากากอ้อยหรือชานอ้อยมาคิดราคาอีก เป็นการคิดราคาที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ และความเป็นธรรมในระบบอยู่ที่ไหนในการคิดราคาอ้อย ต้องแก้ไขตรงนี้ก่อนที่จะไปคิดระบบส่วนแบ่ง 70:30
ทั้งนี้เนื่องระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30 (ชาวไร่อ้อย 70 โรงงานน้ำตาล 30 )มีการพูดคุยตกลงกันระหว่างชาวไร่และโรงงานไปก่อนแล้ว ในเรื่องโมลาส และขยะสิ่งเจือปนที่มาอ้อย จึงได้ตกลงในระบบ 70:30
แต่มาปัจจุบันชาวไร่อ้อยไม่ได้มาพูดคุยตกลงกันว่าจะทำอย่างไร ถ้าจะเอากากอ้อย กลับมาคิดเป็นรายได้ค่าอ้อย แต่ใช้วิธียื่นแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยฯ ร่วมกับนักการเมือง ฝ่ายราชการ เสนอแก้ไขเอากากอ้อยมาเป็นรายได้ โดยไม่ฟังเสียงโรงงานเลย จึงเป็นที่มาของเรื่องวุ่นวายในระบบอุตสาหกรรมอ้อยขณะนี้
“ดังนั้นต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนระบบกันใหม่ หากต้องการใช้ทุกส่วนของต้นอ้อยเป็นของชาวไร่ ก็จะต้องคิดต้นทุนในทุกกิจกรรม จะยกเว้นไม่คิดต้นทุนใด ๆ แต่จะเอาเพียงรายได้อย่างเดียว ย่อมไม่ได้ ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมในระบบให้ได้ แม้จะไม่ได้ 100% ก็ขอให้ใกล้เคียง” แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาล กล่าว และว่า
เป็นเรื่องน่าคิดที่โรงงานน้ำตาล มีหน้าที่สกัดความหวานจากต้นอ้อยมาทำน้ำตาล โรงงานน้ำตาลไม่สามารถสกัดสิ่งเจือปน อิฐ หิน ดินทราย กาบใบอ้อยมาเป็นน้ำตาลได้ แต่ต้องแบกภาระต้นทุนเรื่องนี้ไว้ ดังนั้นหากชาวไร่ต้องการให้นำกากอ้อยมาคิดเป็นรายได้ ก็ต้องเลิกคิดเรื่องน้ำหนัก ให้โรงงานซื้อค่าความหวานเต็ม 100 % จากนั้นสิ่งเจือปนต่างเป็นเรื่องที่ชาวไร่ต้องมีต้นทุนภาระในการจัดการ จะทิ้งให้โรงงานจัดการ ให้เป็นค่าใช้จ่ายแก่โรงงานได้อย่างไร ต้องมีการพูดคุยตกลงกันก่อนจึงจะเหมาะควร ตรงกันข้ามที่ทำไปโดยการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยฯ แล้วคงระบบเดิมทั้งหมด จึงทำให้ฝ่ายโรงงานรับไม่ได้