กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมวิชาการเกษตรครบรอบปีที่ 50 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา มีนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน
ไฮไลท์สำคัญได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ด้านการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก และ MOU ระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการวิจัยและพัฒนากัญชา กัญชง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ครบวงจร
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม MOU ครั้งนี้ กล่าวว่า การลงนามกับ อบก.เพื่อร่วมมือและดำเนินการประเมินคาร์บอนเครดิตในภาคเกษตร การสร้างความรู้ความเข้าใจและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย
ทั้งนี้จะสอดคล้องกับนโยบายผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ของรัฐบาลให้เป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะนำไปสู่การพัฒนาระบบการปลูกพืชและการผลิตสินค้าเกษตร และการจัดระเบียบวิธีในการประเมินโครงการในการที่จะเข้าร่วมประเมินคาร์บอนเครดิต
ขณะที่ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึง MOU กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า เพื่อร่วมกันวิจัย พัฒนา และทดสอบสายพันธุ์กัญชา สายพันธุ์ “เพชรชมพู 1-5” ซึ่งทั้ง 5 สายพันธุ์มีลักษณะที่ดีมีสาร THC ที่โดดเด่น ง่ายต่อการสกัดและการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีการปลูก การควบคุมป้องกันการกำจัดแมลงศัตรูพืชด้วยชีวภัณฑ์ เพื่อให้ได้ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สำหรับใช้ทางการแพทย์ รวมทั้งการยกระดับการพัฒนาพืชกัญชา กัญชง ให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่และต่อยอดเชิงพาณิชย์ครบวงจรเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ประชาชนทั่วไป และภาคธุรกิจ รวมถึงประเทศในภาพรวม
อย่างไรก็ดีในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรมีผลงานที่สำคัญมากมาย ทั้งการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช เครื่องจักรและเทคโนโลยี ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตเกษตรกร, แก้ปัญหาโรคแมลงศัตรูพืช, ควบคุมดูแลคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรส่งออก-นำเข้า, การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ใช้สารชีวภัณฑ์แทนสารเคมี และการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากกว่า 250 โครงการ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยที่โดดเด่นที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรจำนวนมาก เช่น การพัฒนาและขยายผลปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์เพื่อการผลิตพืชอินทรีย์อย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการศูนย์การศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพจากหอมแดง, การเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบและรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับลำไยสดส่งออกไปจีน, การค้นหาและพัฒนาเครื่องหมายสนิปส์ใหม่เพื่อร่นระยะเวลาการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังให้มีไซยาไนด์ตํ่าต้านทานโรครากปมและโรคในด่างมันสำปะหลัง, ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3, เครื่องพ่นสารป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดแบบอุโมงค์ลม และแอพพลิเคชั่นวินิจฉัยโรคบนใบมันสำปะหลัง เป็นต้น