“จุรินทร์” ลุยนครสวรรค์ เดินหน้าประกันรายได้ปี 4

08 ต.ค. 2565 | 10:17 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ต.ค. 2565 | 17:23 น.

“จุรินทร์” ลุยนครสวรรค์ เดินหน้าประกันรายได้ปี 4  พร้อมมอบโฉนดกองทุนฟื้นฟูฯ เตรียมงบกลางอีกกว่า 1,000 ลบ. แก้ปัญหาให้เกษตรกร

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าโครงการประกันรายได้เกษตรกรเป็นนโยบายที่รัฐบาล ต้องการผลักดันราคาพืชผลการเกษตรให้ดีที่สุดซึ่งที่ผ่านมาราคาพืชผลการเกษตรมีโอกาสอยู่ในช่วงราคาดีและตกต่ำได้ เพราะขึ้นกับสถานการณ์ที่เรียกว่ากลไกตลาด  แต่วันนี้ราคาพืชเกษตรสำคัญดีขึ้นมากเกือบทุกตัว

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

แต่บางช่วงถ้าเกิดวิกฤติราคาพืชเกษตรตกลงมา ก็ยังมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ให้อย่างน้อยมีรายได้เท่ากับรายได้ที่ประกัน โอนเงินเข้าบัญชี ธ.ก.ส.โดยตรง ให้มีหลักประกันในเรื่องของรายได้  ทำมาตลอด 3 ปีครึ่งที่ผ่านมา และปี 4 ซึ่งอยู่ระหว่างการเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรอการพิจารณาต่อไป

“จุรินทร์” ลุยนครสวรรค์ เดินหน้าประกันรายได้ปี 4

ส่วนโครงการไร่ละ 1,000 อนุกรรมการนโยบายข้าวให้ความเห็นชอบแล้ว ซึ่งหน่วยงานราชการและคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาต่อไป และโครงการประกันรายได้ข้าว เตรียมงบประมาณไว้ 130,000 ล้านบาทโดยประมาณ ซึ่งที่นาที่โดนน้ำท่วมจะได้รับเงินชดเชยในส่วนน้ำท่วมของกระทรวงมหาดไทย และเงินส่วนต่างจากโครงการประกันรายได้ในที่นาที่น้ำท่วม เพราะถือว่าได้ปลูกจดแจ้งทะเบียนไว้กับ ธ.ก.ส. แล้วมีสิทธิได้รับเงินส่วนต่าง ซึ่งเป็นข้อดีของโครงการประกันรายได้

“จุรินทร์” ลุยนครสวรรค์ เดินหน้าประกันรายได้ปี 4

สำหรับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นนโยบายที่เริ่มต้นในสมัยรัฐบาลชวนสอง(นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง) เป็นกองทุนฟื้นฟูฯจะดูแลพี่น้องครบวงจรตั้งแต่แก้ปัญหาหนี้และฟื้นฟูชีวิตเกษตรกรที่เป็นสมาชิก กองทุนฯวันนี้มีสมาชิก 5,600,000 คน ซึ่งเกือบ  20 ปีได้งบมา 6,000 ล้านบาท แต่ 2 ปีนี้ได้มา 2,500 ล้านบาทแล้ว ใช้ไปแล้ว 1,500 ล้านบาท ยังเหลืออีก 1,000 ล้านบาทที่จะมาแก้ปัญหาให้พี่น้องต่อไป

ทั้งนี้รัฐบาลเข้าสู่ปีสุดท้าย ปีที่ 4 ของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ถ้าอยู่ครบเทอมจะหมดวาระวันที่ 24 มีนาคม 2566  สำหรับจังหวัดนครสวรรค์โครงการประกันรายได้ เฉพาะข้าว 3 ปี จ่ายเงินเกษตรกรส่วนต่าง เฉลี่ย รายละ 69,000 บาท ยางพาราเฉลี่ยรายละ 16,444 บาท มันสำปะหลังเฉลี่ยรายละ 25,696 บาท ข้าวโพดเฉลี่ยรายละ 8,652 บาท ปาล์มน้ำมันเฉลี่ยรายละ 15,219 บาท