คณะกรรมการนโยบาย และแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ใช้แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการด้านอาหารของประเทศไทย (พ.ศ.2566-2570) ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคงอาหาร เป็นแผนขับเคลื่อนประเด็นความมั่นคงทางอาหาร แทนแผนปฏิบัติการด้านความมั่นคงทางอาหาร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พ.ศ. 2563-2565) ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2565
ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการนำเสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ.2566 - 2570) ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พิจารณากลั่นกรองข้อมูล และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สาระสำคัญของร่างแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2566-2570 มีวิสัยทัศน์เกษตรไทยมุ่งสู่เกษตรมูลค่าสูง เกษตรกรมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ ภาคเกษตรเติบโตอย่างยั่งยืน มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรมืออาชีพ
สามารถยกระดับผลิตภาพการผลิตภาคเกษตรให้สูงขึ้น สินค้าเกษตรไทยแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ และมีการพัฒนางานวิจัย ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ควบคู่ไปกับภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถใช้ประโยชน์/ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง และยกระดับรายได้เงินสดสุทธิครัวเรือนเกษตรไม่ต่ำกว่า 537,000 บาทต่อครัวเรือน รวมทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 12% ต่อปี ภายในปี 2570 (กราฟิกประกอบ)
สำหรับหนึ่งในนโยบายสำคัญคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคเกษตรตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) และเป้าหมายยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (LT-LEDS) ตามที่นายกรัฐมนตรีของไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) เมื่อเดือน พ.ย. 2564 ที่สกอตแลนด์ว่า ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065
ในส่วนของภาคเกษตรนั้น มีรายงานผลการศึกษาโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่า ในปี พ.ศ.2557 กระบวนการทำนาของประเทศไทยมีสถิติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 4 ของโลก และมากเป็นอันดับ 1 ของภาคเกษตรของประเทศ ซึ่งแนวทางการดำเนินโครงการนี้จะมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และขณะเดียวกันก็สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย ซึ่งจะช่วยนำไปสู่การผลิตข้าวตามมาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืนต่อไป โดยจะดำเนินการในพื้นที่เขตชลประทานภาคกลาง 6 จังหวัด ประกอบด้วย ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ โดยได้รับเงินทุนจาก NAMA Facility จำนวน 14.9 ล้านยูโร เพื่อเป็นการแสวงหาแนวทางในการสนับสนุนให้ไทยสามารถบรรลุวัตถุประสงค์กรณีการเข้าร่วมกับประชาคมโลกเป็นรัฐภาคีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีพันธกรณีในการดำเนินงานด้านการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตร
สำหรับผลการดำเนินงานเพื่อให้มีมาตรการจูงใจที่สนับสนุนภาคการผลิตข้าวทั้งระบบ ระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี (ส.ค.2561 - ส.ค. 2566) พื้นที่เป้าหมาย 6 จังหวัดข้างต้น ครอบคลุมเกษตรกร 1 แสนครัวเรือน พื้นที่ 2.8 ล้านไร่ จะสามารถลดก๊าซฯ ได้ 1.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ผลการดำเนินงานตาม (ร่าง) รายงานแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (Forth National Communication) ซึ่งในปี 2564 สามารถลดก๊าซฯ ได้ 1.6 แสนตันฯ ต่ำกว่าเป้าหมาย ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วม
แหล่งข่าวกล่าวว่า ร่างตามแผนยุทธศาสตร์ ปี 2566-2571 เป้าลดภาวะโลกร้อน เกษตรกรเป้าหมายจำนวน 2.5 แสนราย ใน 15 จังหวัด จาก 3 ภูมิภาค ระยะเวลาการดำเนินงาน และคาดหมายว่าโครงการฯ จะมีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวอย่างน้อย 4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และเพิ่มศักยภาพการผลิตและรายได้ให้กับเกษตรกร 20% ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาข้อเสนอของโครงการฯ และแนวทางการดำเนินงาน เพื่อยื่นข้อเสนอต่อ กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund :GCF)
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ร่างแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2566-2570 อยู่ระหว่างเตรียมเสนอแผนฯ ต่อสภาพัฒน์เพื่อทราบ และนำเข้าสู่ระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ต่อไป