ตามสถิติของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรายงานว่า ในปีพ.ศ. 2561 จีดีพี(GDP : GROSSDomestic Product) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติมีมูลค่า 15 ล้านล้านบาท ส่วนในภาคเกษตรกรรมมีมูลค่าเพียง 7 แสนล้านบาท เท่านั้น
โดยกิจกรรมเกษตรในภาพรวมของประเทศไทยกระจุกตัวในพืชเศรษฐกิจหลักเพียงไม่กี่ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย แต่ตั้งแต่ช่วงปีพ.ศ. 2558 สัดส่วนเนื้อที่ของการเพาะปลูกไม้ผล พืชผัก และสมุนไพร มีแนวโน้มขยายตัวเข้าไปทดแทนเนื้อที่พืชอื่นๆเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวตามลำดับ
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายและเปิดตัวแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ ปี พ.ศ. 2565 – 2566 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านระบบการประชุมทางไกล (zoom meeting) จากห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า จากนโยบาย Thailand 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล
ได้กำหนดให้มีแผนแม่บทด้านการเกษตรและแผนย่อยเกษตรอัจฉริยะ ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายการขับเคลื่อนงานด้านเกษตรอัจฉริยะ ที่มุ่งหวังยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร ปรับรูปแบบการเกษตรในปัจจุบันให้มุ่งสู่เกษตร 4.0
โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาสู่การเกษตรอัจฉริยะแห่งอนาคต มีเป้าหมายสำคัญที่มุ่งเน้นให้เกิดการทำเกษตรแบบทำน้อยได้มาก ใช้ทรัพยากรในการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีการลดต้นทุน ลดการสูญเสีย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มากขึ้น ลดความเหนื่อยยากของการใช้แรงงานในภาคการเกษตร มีการนำเอาเครื่องมือจักรกลและเครื่องมือทันสมัย โดยเฉพาะการนำเกษตรดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตและการแข่งขันของภาคการเกษตรไทยในตลาดโลก
สำหรับแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะที่จัดทำขึ้นนี้ จะเป็นแผนปฏิบัติการที่ช่วยกำหนดทิศทางการเกษตรอัจฉริยะและเป็นการวางรากฐานการเกษตรอัจฉริยะของประเทศอย่างเป็นระบบ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร สามารถนำกรอบข้อเสนอโครงการที่จัดทำไว้ ภายใต้แผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะฉบับนี้ไปปรับใช้เป็นข้อเสนอโครงการในหน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนการเกษตรอัจฉริยะของประเทศ นอกจากนี้ ยังเร่งพัฒนาบุคลากรในหน่วยงาน
ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคให้มีความพร้อมทั้งด้านวิจัยและพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐและเกษตรกร สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และช่วยเป็นครูผู้ฝึกหรือเทรนเนอร์ ให้แก่เกษตรกร โดยมุ่งเน้นทั้ง Smart Farmer และ Young Smart Farmer ตลอดจนผู้นำเกษตรกรของ ศพก. และแปลงใหญ่ ทั้งนี้ มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาแปลงใหญ่เกษตรอัจฉริยะให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในทุก ๆ จังหวัดของประเทศ และให้เข้าถึงทุกอำเภอภายใน 3 ปี เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติด้านการเกษตรต่อไป
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า อยากจะฝากเจ้าหน้าที่ ข้าราชการในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งผู้บริหาร อธิบดี ทุกกรม ถึงระดับภูมิภาคทุกหน่วยงาน ให้นำแผนปฏิบัติไปขับเคลื่อนตามแนวทางที่คณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการได้กำหนดเพื่อที่จะนำไปสู่เป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ได้เขียนไว้ พร้อมกับให้ปลัดเกษตร แต่งตั้งคณะกรรมการกำกำกับและติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ เพื่อที่จะบรรจุโครงการสำคัญ
“การทำงานหากไม่มีงบประมาณการขับเคลื่อนจะเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นในการจัดเตรียมงบประมาณ ปี2566 ขอให้ฝ่ายทำแผนช่วยบรรจุในส่วนของการจัดสรรงบประมาณในการที่จะดำเนินการขับเคลื่อน “เกษตรอัจฉริยะ” เป็นโครงการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติอยู่แล้ว เพื่อที่จะให้สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณา ซึ่งจะทำให้คณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาสามารถทำงานได้อย่างแท้จริง สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดจะเป็นไปตามเป้าหมาย ก็ทุกฝ่ายร่วมมือกันทำ ช่วยกันทำ ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน”
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 กล่าวว่า ภายใต้นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศไทย ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ขึ้น
มีองค์ประกอบอนุกรรมการ 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech 2) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ 3) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-commerce และ 4) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยอาศัยเทคโนโลยี นวัตกรรม และการตลาด เข้ามาช่วยขับเคลื่อนดำเนินการมุ่งสู่เกษตร 4.0
ด้าน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สานต่อการทำงานด้านเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิเช่น การขับเคลื่อนการจัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ การพัฒนา IoTs Platform การรวบรวม Innovation list ด้านเทคโนโลยี/องค์ความรู้ จากศูนย์ AIC 76 แห่งทั่วประเทศ เพื่อจัดทำ Innovation Catalog
หนึ่งในภารกิจสำคัญ คือ การจัดทำแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี พ.ศ. 2565 - 2566 โดยกระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับผู้แทนของหน่วยงานภายนอกกว่า 200 คน ทั้งจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ศูนย์ AIC ศูนย์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร Smart Farmer และ Young Smart Farmer ร่วมระดมสมองในการจัดทำแผนปฏิบัติการและร่วมจัดทำกรอบข้อเสนอโครงการ ปี พ.ศ. 2565 - 2566 จำนวน 63 โครงการ ภายใต้ 18 แผนงาน 6 ยุทธศาสตร์
ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างการรับรู้ เข้าถึง ใช้ประโยชน์ และการส่งเสริมขยายผลเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ แปลงใหญ่เกษตรอัจฉริยะ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาการแปรรูปและการตลาดเกษตรอัจฉริยะ ยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการบริหารจัดการเกษตรอัจฉริยะ และ ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาบุคลากรและเครือข่ายเกษตรอัจฉริยะ
“กระทรวงเกษตรฯ พร้อมขานรับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยจะมีการติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านคณะกรรมการบริหารการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญ และการแก้ไขภาคการเกษตร”
ดร.ทองเปลว กล่าวว่า แผนที่วางไว้ในปี 2565-2566 ดำเนินแผนเกษตรอัจฉริยะมีเป้าหมาย มูลค่าผลผลิตการเกษตรที่จะเพิ่มขึ้น 3% ผลผลิต “ 1 อำเภอ 1 แปลงเกษตรอัจฉริยะ” ตั้งเป้าหมาย 10% เพื่อเดินตามนโยบาย มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน งบประมาณ ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ปี2566 ส่วนในปี2565 ได้สั่งให้หน่วยงานทุกกรมให้ดึงงบประมาณที่เกี่ยวกับ 6 แผนย่อยทางเกษตรอัจฉริยะนำมาขับเคลื่อนตามรัฐมนตรีได้สั่งการรับนโยบายตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน
ในตัวชี้วัดของเกษตรมีอยู่ 4 ตัว และหวังในจีดีพีเกษตร เพิ่มขึ้น 3.8% คาดประสิทธิภาพผลผลิตทางเกษตรเพิ่มขึ้น 1.2% ส่วนเส้นความยากจนให้ให้ภาคเกษตรลดเฉลี่ยปีละ 10% อย่างไรก็ตามความยากจน มีปัจจัยอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ดีความยากจนนี้ก็ยังมีส่วนนอกภาคเกษตรด้วย ก็ต้องพิจารณาในภาพรวมด้วย
“เกษตรอัจฉริยะ” ไม่ใช่จะส่งเสริมให้เฉพาะเกษตรกรที่มีฐานะเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาภาครัฐมีการให้อุดหนุนโครงการเงินกู้ แปลงใหญ่ หรือวิสาหกิจชุมชน เพราะฉะนั้นเป็นการบ้านของกระทรวงที่จะพัฒนาบุคลากร สร้างการรับรู้ แปลงสาธิต ทุกคนทุกมิติสามารถที่จะเข้าถึงได้ เป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายจะไปต่อยอดกับแปลงใหญ่ทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการ กว่า 3,800 แปลง ไปซื้อเครื่องจักร เครื่องมือเทคโนโลยี
แต่ถ้าเกษตรกรรายใหม่เลยที่จะก้าวเข้าสู่เกษตรอัจฉริยะ จะบรรจุไว้ในปี 2566 “ 1 อำเภอ 1 แปลงเกษตรอัจฉริยะ” จะเพิ่มมากขึ้น หากทำแล้วเชื่อมั่นว่าเกษตรกรจะดำรงชีพอยู่ได้แล้วภูมิใจในอาชีพเกษตรกรรม และในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “next normal 2022” จะเป็นกระทรวงแรกที่จะเปิดตัว