ปกติในทุกปีจะมีการประชุมกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลโลกเพื่อการปฏิรูปและการเปิดเสรีการค้าน้ำตาล หรือ GSA ที่มีสมาชิก 13 ประเทศ แต่จะมีผู้เข้าร่วมจริง 7-8 ประเทศ ที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก อาทิ บราซิล อินเดีย ไทย ออสเตรเลีย กัวเตมาลา โคลัมเบีย แคนาดา ฮอนดูรัส แต่การประชุมกลุ่มนี้ได้ว่างเว้นมา 2 ปี จากสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด
นายรังสิต เฮียงราช ผู้อำนวยการ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) ในนามผู้อำนวยการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การประชุมกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลโลกฯในปีนี้จะกลับมาอีกครั้งหลังโควิดคลี่คลาย โดยปีนี้มีออสเตรเลีย เป็นประธาน ซึ่งจะจัดขึ้น ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษในวันที่ 23-24 พฤศจิกายน
ทั้งนี้การประชุมดังกล่าว เป็นเวทีการประชุมของภาคเอกชน โดยในส่วนของไทยจะมีผู้บริหาร และกรรมการของบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) รวมถึงประธาน และผู้อำนวยการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายเข้าร่วม
โดยในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ กลุ่มพันธมิตรน้ำตาลโลกจะมีการหารือวาระการประชุม โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญที่คาดจะมีการประชุมกันในครั้งนี้ (24 พ.ย.) คือ ความคืบหน้ากรณีที่บราซิล ออสเตรเลีย และกัวเตมาลาได้ยื่นฟ้องอินเดียต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เรื่องการอุดหนุนผู้ผลิตอ้อยภายใน และอุดหนุนการส่งออกน้ำตาล (ในเบื้องต้นคณะผู้พิจารณาคดี (Panel) ของ WTO แจ้งผลตัดสินว่าขัดกับความตกลง WTO แต่อินเดียได้ยื่นอุทธรณ์ )
ส่วนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไทย คาดในที่ประชุมบราซิลจะมีการสอบถามถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของไทยหลังบราซิลฟ้องต่อ WTO ว่ารัฐบาลไทยให้การอุดหนุนภายในและอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลมาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งไทยได้รับปากจะแก้ไขตามข้อเรียกร้องของบราซิลให้สอดคล้องกับกติกาและข้อผูกพันที่ให้ไว้ใน WTO ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐของไทยได้เจรจาและรายงานความคืบหน้าแก่บราซิลเป็นระยะ
“หากทางบราซิลสอบถามเราในการประชุมครั้งนี้ ประเด็นไฮไลท์ที่ผู้แทนเอกชนฝ่ายไทยจะช่วยกันชี้แจงเพื่อแก้ต่าง อาทิ เวลานี้ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ของไทยมีความคืบหน้าโดยได้ผ่านความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาแล้ว รอเพียงขั้นตอนของการประกาศใช้เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการยกเลิกโควตาน้ำตาลที่แบ่งเป็นโควตา ก. ข. และ ค. แล้ว ราคาน้ำตาลทรายในประเทศก็ปล่อยลอยตัวแล้ว ขณะที่ราคาส่งออกน้ำตาลก็ปล่อยตามราคาตลาดแล้ว”
ขณะเดียวกันในเรื่องกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายใน พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับเดิม (ปี 2527) ที่กำหนดให้การกู้เงินของกองทุนฯเพื่อมาชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาอ้อยขั้นสุดท้ายกับราคาอ้อยขั้นต้นให้กับโรงงาน กรณีโรงงานจ่ายราคาอ้อยขั้นต้นไปแล้ว แต่ราคาขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาขั้นต้น กองทุนฯ ต้องชดเชยส่วนต่างให้กับโรงงาน โดยหากกองทุนฯไม่มีเงินอาจต้องกู้ยืมจากสถาบันการเงินมาจ่าย แต่ภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยฯเดิมกำหนดให้ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ในพ.ร.บ. อ้อยฯ ฉบับใหม่ได้ตัดคำว่า “โดยการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี” ที่ถูกมองว่ารัฐเข้ามาแทรกแซง หรือค้ำประกันโดยรัฐออกไปแล้ว
ทั้งนี้แนวทางคำตอบของฝ่ายไทยจะเป็นพอใจทางบราซิลหรือไม่ ยังไม่สามารถคาเดาได้ คงต้องติดตามต่อไป หากพอใจอาจนำไปสู่การเจรจาเพื่อยุติการฟ้องร้องไทย แต่หากยังไม่เป็นที่พอใจก็อาจนำไปสู่การร้องให้ WTO ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทมาตัดสินคดีกับไทยได้เช่นกัน
ด้าน นายนพพร ว่องวัฒนะสิน ประธานกรรมการฝ่ายปฏิบัติการ กลุ่มน้ำตาลไทย กล่าวว่า จาก พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่แก้ไขเพิ่มเติม ที่เตรียมประกาศใช้ แม้ภายนอกจะดูสอดคล้องกับข้อเสนอของบราซิลในการยกเลิกการอุดหนุน แต่ที่ห่วงคือระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ภายใต้ พ.ร.บ.ระบุที่ให้ปฏิบัติตามยังเข้าข่ายเป็นการอุดหนุนโดยรัฐบาลซ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก
โดยจากที่คณะวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ได้เปิดเผยในรายละเอียดของผลศึกษาในแต่มาตราของ พ.ร.บ.ออกมาแล้ว โดยได้แสดงความกังวลว่า ยังมีการอุดหนุนไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก และความเห็นต่าง ๆ ของคณะผู้วิจัย ก็ได้นำเผยแพร่ต่อสาธารณะทางเว็บไซต์แล้ว หากบราซิลใช้ข้อมูลนี้ฟ้องไทย เพื่อให้ WTO ตั้งกรรมการขึ้นมาตัดสินคดี เรื่องจะยืดเยื้อ และอาจนำไปสู่การตอบโต้ทางการค้าจากบราซิลในที่สุดได้ ดังนั้นทางผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายขอให้มีการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อตกลงการค้าภายใต้กรอบกติกาของ WTO เพื่อนำสู่ระบบเสรีจะปลอดภัยที่สุด