วันที่ 30 กันยายน 2565 สำนักงบประมาณได้ส่งหนังสือยืนยันถึง นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ให้เร่งรัดการจ่ายเงินในโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเข้าบัญชีให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรโดยตรง โดยไม่ผ่านศูนย์ข้าวชุมชน งบ 1.5 หมื่นล้านบาท คิดเฉลี่ยจากจำนวนชาวนา 4.6 ล้านครัวเรือน จากงบประมาณไร่ละ 700 บาท ไม่เกิน 5 ไร่ รับสูงสุด 3,500 บาทนั้น (คลิกอ่าน)
นายจารึก กมลอินทร์ ประธานคณะกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากสำนักงบประมาณยืนยันให้กรมการข้าว จ่ายวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท มองว่าหากได้เงินก้อนนี้จะทำให้ชาวนาไม่ได้รับเงินจากโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2565/66 โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท วงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท จากอาจถูกมองว่ามีความซ้ำซ้อน เรื่องนี้คิดว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลัง
“อยากให้สำนักงบประมาณทบทวนคำสั่ง จะไปฟังแค่บางสมาคมไม่ได้ ต้องฟังคนเป็นกลุ่มเกษตรกรด้วยสิ่งที่กรมการข้าว กับกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนมองเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ไม่อยากให้รัฐบาลต้องทำอย่างนี้ตลอดไป เพราะจะทำให้เกษตรกรพึ่งพาตัวเองไม่ได้ ซึ่งในกลุ่มเกษตรกรมีการก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2543 ทุกคนไม่รู้ข้อมูลของศูนย์ข้าวชุมชน คิดว่าได้งบประมาณทุกปีแต่ไม่ใช่ เพราะตั้งแต่จัดตั้งมาเพิ่งมีครั้งนี้ที่กรมการข้าวตั้งงบประมาณ 1.5 หมื่นล้านจัดสรรมาให้เพื่อมาดูแลศูนย์ข้าวชุมชนให้มีเครื่องไม้เครื่องมือ"
ที่ผ่านมากรมเป็นคนจัดซื้อ พอจัดซื้อให้ก็เกิดปัญหาทุจริต เครื่องคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ข้าวเงิน 1,600 ล้านบาท ในขณะนั้นกรมขอรับเงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด-19 กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท (คลิกอ่าน) แต่ครั้งนี้จะจัดซื้ออะไรก็ให้เป็นความคิดของศูนย์ข้าวชุมชน หรือวิสาหกิจชุมชนก็ได้ ก็ให้กรมส่งเสริมการเกษตรไปจัดสรรให้ มองว่าการสร้างอาชีพจะยั่งยืนกว่า”
นายจารึก กล่าวอีกว่า ไม่อยากเห็นชาวนาเหมือนเดิม ต้องรอเงินทุกปี หากไม่มีนโยบายมา เชื่อว่าบางกลุ่มอยู่เบื้องหลัง เป็นระดับรัฐมนตรี อยากให้มาฟังมุมของกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนบ้าง และอยากให้สำนักงบประมาณทบทวนเรื่องนี้ใหม่
ด้านนายสุเทพ คงมาก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒินโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) และที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว ด้านเกษตรอินทรีย์ กล่าวว่า กรมการข้าวกำลังชี้แจงเรื่อง การเปลี่ยนแปลงในการขอใช้งบประมาณ หรือจะให้จ่ายผ่านศูนย์ข้าวชุมชน หรือถ้าไม่คืนงบก็ให้ไปจ่ายอย่างอื่น เพื่อให้ชาวนาได้ไร่ละ 1,000 บาท เพราะไม่อย่างนั้นจะเป็นการจ่ายซ้ำซ้อน ใน 1 ปี จะไปจ่าย 2 อย่างได้อย่างไร
“เป็นเรื่องที่พวกเราหาเรื่องกันเอง เพราะสำนักงบฯ ไม่มีเงิน ก็ยังเกลี่ยเรื่องประกันรายได้ข้าว และโครงการคู่ขนานกันอยู่เลยที่ยังไม่สามารถเข้า ครม.ได้ในตอนนี้ เพราะความจริงสมควรที่จะเข้า ครม.แล้ว ผมก็ไปคุยกับ ธ.ก.ส. ก็บอกว่าเราไปหลงกล เข้าทางกับสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ก็ช่วยไม่ได้แล้ว ที่ผ่านมาพยายามเลี่ยงที่จะไม่จ่ายไร่ละ 1,000 บาทอยู่แล้ว สมาคมชาวนาฯ อ่านเกมไม่ทัน แต่ถ้าอยากจะได้แค่นี้ก็เอาแค่นี้”
ขณะที่นายวิชัย ชิตยวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมชาวนาไทย กล่าวว่า สมาชิกชาวนาได้โทรศัพท์เข้ามายังสมาคมจำนวนมาก เพื่อสอบถามว่า เงินในโครงการประกันรายได้ข้าว ที่จะจ่ายงวดแรกวันที่19 ตุลาคมนี้จะเข้าจริงหรือไม่ แล้วเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท ธ.ก.ส.จะโอนให้เมื่อไร ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแล้วหรือยัง และเงิน 700 บาท จะเริ่มจ่ายวันไหน ตอนนี้ก็ตอบไม่ถูก เป็นเรื่องที่รัฐบาลไปรับปากไว้ทั้งนั้น ก็อยากจะฝากให้รัฐบาลเร่งทำตามสัญญา
ด้านเฟซบุ๊ก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ชี้แจงหลังชาวนาถามว่าเมื่อไร “โครงการประกันรายได้ข้าว พ่วงคู่ขนานและเงินช่วยเหลือชาวนา” วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท จะเข้า ครม.เมื่อไรเจอปัญหาทั้งน้ำท่วมและราคา โดยนายจุรินทร์ระบุว่า ได้เสนอไปแล้ว รอความเห็นหน่วยงานเพื่อบรรจุวาระ
ผู้สื่อข่าว “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สอบถามไปยังทีมพรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงว่า เรื่องยังไม่เอา เข้าครม. เพราะรอกระทรวงการคลังสรุป เรื่องกรอบวงเงินไม่ให้เกิดเพดานหนี้สาธารณะ โดย ณ วันที่ 11 ต.ค. 65 ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ส่วนต้นทุนการผลิตข้าวในปี 2565 ทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่าต้นทุนการผลิตภาพรวมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 939 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 11.9% เพื่อให้เป็นไปตามกรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เห็นควรคงราคาเป้าหมายประกันรายได้เช่นเดียวกับปี 2562/63 - ปี 2564/65 (ปี 1 - ปี 3) เนื่องจากราคาประกันยังสูงกว่าต้นทุน ซึ่งเกษตรกรยังมีหลักประกันรายได้ครอบคลุมต้นทุนการเพาะปลูก
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,827 วันที่ 16-19 ตุลาคม พ.ศ. 2565