นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากรายงานข่าวจากกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2565 ว่ากระทรวงสาธารณสุขเวียดนามออกแถลงการณ์ยืนยันการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิด A สายพันธุ์ H5 โดยผู้ป่วยเป็นเด็กหญิงวัย 5 ปี อาศัยอยู่ในจังหวัดฟู้เถาะ มีประวัติการรับประทานเนื้อไก่ และแสดงอาการประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนเข้ารับการรักษาที่โรงพยายบาล ซึ่งขณะนี้อาการยังอยู่ในขั้นวิกฤติ อนึ่ง เวียดนามมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกรวมอย่างน้อย 128 คน นับตั้งแต่ปี 2546 ทุกรายติดเชื้อไข้หวัดนก H5N1 เสียชีวิตรวม 64 ราย
อย่างไรก็ตามแม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบรายงานการเกิดโรคไข้หวัดนกมาแล้วเป็นระยะเวลา 14 ปี แต่กรมปศุสัตว์ก็ยังคงเตรียมความพร้อม และป้องกันโรคไข้หวัดนกเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยได้ สั่งการเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังโรคสัตว์ตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด สุ่มเก็บตัวอย่างสัตว์ปีกในพื้นที่เสี่ยง เช่น พื้นที่ตามแนวชายแดน พื้นที่นกอพยพ พื้นที่นกวางไข่ พื้นที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกหนาแน่น ฝูงเป็ดไล่ทุ่ง เป็นต้น เข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ปีกภายในประเทศ ชะลอการนำเข้าสัตว์และซากสัตว์ปีกจากประเทศที่เกิดโรคไข้หวัดนก
ส่วนสัตว์ปีกเลี้ยงในระบบฟาร์มให้เข้มงวดความปลอดภัยทางชีวภาพขั้นสูงสุด เช่น การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในโรงเรือนและบริเวณโดยรอบ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มเข้มงวดเรื่องระบบความปลอดภัยภายในฟาร์ม ควบคุมการเข้า-ออกฟาร์ม ให้ฉีดพ่นยานพาหนะทุกคัน เป็นต้น
รณรงค์ทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ได้แก่ พื้นที่นกอพยพอาศัยอยู่ พื้นที่ตามแนวชายแดน พื้นที่เลี้ยงสัตว์ปีกหนาแน่นเป็นต้น ตลอดจนผลักดันระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกให้เข้าระบบมาตรฐาน GAP หรือ GFM รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตลอดจนหน่วยงานระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกสังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ อย่านำสัตว์ปีกไปจำหน่ายจ่ายแจก หรือนำไปประกอบอาหารโดยเด็ดขาด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที
เพื่อเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินมาตรการ ควบคุมโรคทันที หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร. 063-225-6888 หรือแจ้งผ่าน Application : DLD 4.0 ได้ตลอดเวลารองอธิบดีกรมปศุสัตว์ฯ กล่าวในที่สุด