ส่งออกสินค้าเกษตรโตยกแผง นับถอยหลังสิ้นปี “ฉลองใหญ่”

24 ต.ค. 2565 | 05:58 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2565 | 13:15 น.

แม้ภาคการส่งออกของไทยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัว จากสถานการณ์เงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหลายครั้งเพื่อสกัด ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเสี่ยงชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะจีน อีกหนึ่งคู่ค้าหลักที่เศรษฐกิจยังชะลอตัวจากนโยบาย Zero Covid ผลกระทบจากราคาพลังงานทรงตัวระดับสูง ส่งผลค่าไฟฟ้า ต้นทุนการผลิตของผู้ส่งออกปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เหล็ก วัตถุดิบอาหารสัตว์ ปุ๋ย เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดีจากปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้นในภาพรวมยังไม่กระทบการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมของไทยมากนักจากเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก และยังได้รับอานิสงส์จากวิกฤติขาดแคลนอาหารของโลกจากผลพวงสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ รวมถึงเงินบาทที่อ่อนค่ามากสุดรอบ 16 ปี แตะที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในเวลานี้ ช่วยเพิ่มความสามารถในแข่งขันด้านราคาเพิ่มขึ้น

 

สะท้อนได้จากตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมของไทยช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ขยายตัวได้ในอัตราสูง โดยข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร สินค้าเกษตรส่งออกได้รวม 6.35 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรส่งออกได้ 5.41 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 42%

 

แยกย่อยลงไปในกลุ่มสินค้าเกษตรหลัก ยางพารา ส่งออกแล้ว 1.27 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 15%, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 1.04 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 28%, ข้าว 8.36 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 40%, ไก่ 8.99 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 34%

 

ส่วนสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมหลัก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ส่งออกแล้ว 8.63 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 25%, น้ำตาลทราย 8.59 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 180%, อาหารสัตว์เลี้ยง 6.66 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 36%, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 4.71 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 28%, ผักกระป๋องและผักแปรรูป 1.08 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% และสิ่งปรุงรสอาหาร 2.15 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 14%  ซึ่งโดยภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมถือว่าโตยกแผง สวนกระแสเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ท่ามกลางภาวะค่าครองชีพและเงินเฟ้อสูงที่เป็นแรงกดดันทั่วโลก

 

ส่งออกสินค้าเกษตรโตยกแผง นับถอยหลังสิ้นปี “ฉลองใหญ่”

 

สำหรับทิศทางการส่งออกทั้งปีนี้ ในส่วนของสินค้าข้าว ทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดจะส่งออกได้แตะ 8 ล้านตัน ขยายตัวได้ 20-25% เมื่อเทียบกับปีก่อน ปัจจัยจากอินเดียผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกเกิดวิกฤติภัยแล้ง และมีการปรับขึ้นภาษีขาออกข้าวขาวเพิ่มขึ้น 20% ทำให้ราคาข้าวไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น และผลพวงจากอิรักได้กลับมาซื้อข้าวไทยในรอบ 7 ปี คาดเฉพาะอิรักตลาดเดียวในปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน

 

ส่งออกสินค้าเกษตรโตยกแผง นับถอยหลังสิ้นปี “ฉลองใหญ่”

 

ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากอานิสงส์วิกฤติอาหารโลกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ และสภาพอากาศที่แปรปรวนในหลายประเทศ ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทยของประเทศผู้นำเข้าหลักได้แก่ จีน เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น ยังมีต่อเนื่อง

 

น้ำตาลทราย จากวิกฤติภัยแล้งในบราซิลที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 1 ของโลกทำให้ซัพพลายสินค้าเข้าสู่ตลาดน้อยลง และจากเงินบาทที่อ่อนค่าทำให้ราคาน้ำตาลทรายของไทยมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

 

ส่งออกสินค้าเกษตรโตยกแผง นับถอยหลังสิ้นปี “ฉลองใหญ่”

 

ไก่ จากหลายตลาดมีความต้องการสินค้าไก่เพิ่ม เช่น ยุโรป มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมถึงตลาดใหม่ เช่น ซาอุดีอาระเบีย ที่ล่าสุดองค์การอาหารและยา หรือ อย. ของซาอุฯได้แก้ไขข้อมูลบนเว็บไซต์ อนุญาตให้โรงงานไก่ไทย 11 โรง สามารถส่งออกไก่สด ไก่แปรรูป ไก่ปรุงสุก เข้าประเทศได้อย่างครบถ้วนทุกชนิด และทุกด่านทั่วประเทศแล้ว ล่าสุดไทยยังได้ยื่นรายชื่อโรงงานชำแหละเนื้อไก่อีก 27 โรงงาน ให้ทางการซาอุฯเร่งรัดการตรวจรับรอง หากได้รับไฟเขียวจะช่วยเพิ่มการส่งออกสินค้าไก่ไทยไปตลาดซาอุฯได้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต 

 

ขณะที่สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมดาวรุ่งดวงใหม่คือ อาหารสัตว์เลี้ยง การส่งออกได้วิ่งแซงทูน่ากระป๋องที่เป็นอาหารคนไปแล้ว โดยสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทยเผยว่า ตัวเลขการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงได้โตระดับตัวเลข 2 หลัก ติดต่อกันมานานกว่า 35 เดือน หรือเกือบ 3 ปีต่อเนื่องแล้ว จากผลพวงโควิด-19 ระบาด ทำให้คนอยู่กับบ้านมากขึ้น และมีการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเช่น สุนัข แมว เป็นเพื่อน หรือเป็นส่วนหนึ่งในสมาชิกครอบครัวเพิ่มขึ้น ส่งผลอาหารสัตว์เลี้ยงขายดีตามไปด้วย

 

ส่งออกสินค้าเกษตรโตยกแผง นับถอยหลังสิ้นปี “ฉลองใหญ่”

 

จากสินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมหลักข้างต้น ที่ปีนี้กลับมาขยายตัวในระดับตัวเลขสองหลักเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหมายถึงรายได้ และกำไรของผู้ส่งออกที่เพิ่มขึ้น และอานิสงส์ส่วนหนึ่งยังตกถึงมือเกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น ดังนั้นฟันธงได้ว่า ถึงสิ้นปีนี้ผู้ส่งออกจะได้เฮ และฉลองใหญ่กันอย่างแน่นอน