เศรษฐกิจไทยเข้าสู่โค้งสุดท้ายของปีท่ามกลางปัจจัยบวกที่ยังพอมีให้เห็น ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยลบจากภายในและนอกประเทศยังมีอยู่มาก ตัวเลขเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญชี้อนาคต ภาคการค้าช่วง 7 เดือนแรก ส่งออกแล้ว 172,814 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (5.7 ล้านล้านบาท) ขยายตัว 11.5% ภาคการลงทุน 6 เดือนแรกมีคำขอรับการส่งเสริม 219,710 ล้านบาท ลดลง 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนภาคการท่องเที่ยว 8 เดือนแรก ตัวเลขสะสมมีต่างชาติมาเที่ยวไทยแล้ว 4.63 ล้านคน จากทั้งปีนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดจะเข้ามา 10 ล้านคน ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปซึ่งบ่งชี้ถึงกำลังซื้อของผู้บริโภค เดือน ส.ค.พุ่งสูงสุดที่ 7.86% และภาพรวม 8 เดือนแรก เพิ่มขึ้น 6.14% ผลพวงจากทิศทางราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาพรวมผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ในครึ่งแรกของปีนี้ขยายที่ 2.4% แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก แต่ผู้นำภาคธุรกิจเอกชน ยังเห็นพ้องกันว่า ปีนี้จีดีพีไทยจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3.5%
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มองครึ่งหลังของปีนี้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว และขยายตัวได้ที่ 3.8-4.0% บนพื้นฐานสถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่ชะลอตัวมาก รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และจีน-ไต้หวัน และเงินเฟ้อของสหรัฐฯไม่รุนแรง จะทำให้ภาพรวมการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะอยู่ในกรอบ 3.0-3.5%
ปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวชัดขึ้น แรงกดดันจากราคาน้ำมันที่สูงในไตรมาส 2 เริ่มลดลง รัฐบาลมีนโยบายตรึงราคาดีเซล และมีมาตรการลดภาระค่าไฟฟ้า ทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อน่าจะดีขึ้น ไตรมาสนี้และไตรมาสสุดท้าย การท่องเที่ยวจะดีขึ้นต่อเนื่องจากการเปิดประเทศ ทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 8-10 ล้านคน ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนที่รัฐบาลออกมาเช่น คนละครึ่งเฟส 5 ทำให้กำลังซื้อในประเทศตอนนี้ไม่ตกลงแม้จะมีสถานการณ์เงินเฟ้อก็ตาม
“การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในเดือนตุลาคมนี้จะเป็นอีกตัวช่วยในเรื่องค่าครองชีพ ทำให้ลูกจ้างมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อและราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น และคาดจะช่วยให้จีดีพีไทยเพิ่มขึ้นได้อีก 0.1-0.2% การส่งออกก็อยู่ในขาขึ้นโดยได้เงินบาทที่อ่อนค่ามาช่วย มองเดือนที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้น และจะทำให้จีดีพีปีนี้โตเกิน 3% ได้ ส่วนปัญหาทางการเมืองเชื่อว่าจะไม่มีความรุนแรงวุ่นวาย ดังนั้นเศรษฐกิจก็ยังเดินหน้าต่อได้”
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.) ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะดีขึ้น โดยเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ยังคงคาดการณ์จีดีพีไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 2.7-3.5% มาจากเหตุผลที่เครื่องยนต์บางตัวดีขึ้น เริ่มจากวันที่ 1 ต.ค.นี้ รัฐบาลจะยกเลิกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ส.อ.ท. มองว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยราว 8-10 ล้านคนในปีนี้
ด้านการส่งออกช่วง 7 เดือนแรก ยังเป็นบวก 11.5% แม้ภาพรวมยังต้องต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ หรือการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจทำให้การส่งออกในอีก 5 เดือนที่เหลือแผ่วลงบ้าง แต่ภาพรวมทั้งปีน่าจะขยายตัวได้ 7-8% เป็นเหตุผลที่มองว่าจีดีพีไทยจะค่อย ๆ ฟื้นตัว
อย่างไรก็ตามยังต้องจับตาอีกตัวแปรคือ ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน เกรงจะปะทุขึ้นมาได้อีก จะส่งผลให้ซัพพลายเชนด้านเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิปที่ไต้หวันเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ มีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดโลกถึง 60% อาจจะสะดุด และกระทบเป็นลูกโซ่ได้
“ไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงภายในคือ ทางด้านการเมือง หากการเมืองไทยมีเสถียรภาพที่มั่นคง ก็แปลว่าเศรษฐกิจดีด้วย เพราะจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนไทย-เทศที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ ต้องดึงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้ามา โดยเฉพาะจีน ไต้หวัน ที่กำลังโยกย้ายฐานการผลิตจากปัญหาช่องแคบไต้หวัน
ขณะที่เวียดนามและอินโดนีเซียเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในการช่วงชิงการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ล่าสุดโตโยต้าไปลงทุนผลิตรถอีวีที่อินโดนีเซียมูลค่าราว 70,000 ล้านบาท และกำลังทาบทามเทสล่าเข้าไปลงทุนอีก ดังนั้นไทยต้องเร่งปักธงเป็นฮับในการผลิตรถอีวีให้ได้ก่อน”
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า คาดการขยายตัวของจีดีพีไทยปีนี้จะขยายตัวได้ในกรอบที่ กกร.คาดการณ์ไว้ (ส.ค.65) ที่ 2.75-3.5% โดยมีปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยว การส่งออก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงเดือนที่เหลือของปี รวมถึงเงินบาทอ่อนค่าส่งผลดีต่อการส่งออก และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ด้านปัจจัยลบก็มีอยู่มาก เช่น ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นและมีกำลังซื้อลดลง, ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก, ภาวะความถดถอยของประเทศเศรษฐกิจหลัก, อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูงนานกว่าที่คาด ส่งผลให้สหรัฐฯรวมถึงยุโรปปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย, ราคาน้ำมันและพลังงานในตลาดโลกยังทรงตัวในระดับสูง, อัตราดอกเบี้ย ค่าไฟฟ้า และค่าแรงเพิ่มขึ้นกระทบต้นทุนการผลิต และมีผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมากที่ยังไม่ฟื้นตัวและเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนที่ยังต้องเร่งช่วยเหลือ
ด้าน นายพงศ์เทพ เทพบางจาก รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยโค้งสุดท้ายปีนี้น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าครึ่งแรก และจะทำให้จีดีพีทั้งปีนี้จะขยายตัวมากกว่าปี 2564 (ปี 2564 ขยายตัว 1.6%) จากเริ่มมีสัญญาณให้เห็นในหลาย ๆ ด้าน เฉพาะอย่างยิ่งภาคท่องเที่ยวที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ลง คาดทั้งปีนี้น่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในระดับ 10 ล้านคน
ขณะเดียวกันปัญหาที่ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ กำลังซื้อที่ลดลงอย่างน่าใจหาย ทั้งจากคนจนที่เพิ่มขึ้นและคนรวยที่ไม่ค่อยกล้าใช้เงินก็เริ่มที่จะเห็นภาพมีการจับจ่ายใช้เงินในคนกลุ่มหลังมากขึ้น และเมื่อเข้าไตรมาสสุดท้ายซึ่งเป็นไตรมาสแห่งเทศกาลต่าง ๆ ก็ยิ่งจะทำให้มีการกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้นคงจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยโค้งท้ายของปี 2565 ดีขึ้นแน่นอน
“ประเทศไทยกำลังใกล้เข้าสู่โหมดของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ หากผ่านไปได้ด้วยดี จะส่งผลดีต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) ที่มีความเชื่อมั่นมากขึ้นด้วย แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาจะเป็นไปในลักษณะค่อย ๆ ฟื้นตัว คงไม่ถึงขนาดเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ”
นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กล่าวว่า จากการแถลงของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน( บีโอไอ) เริ่มมีการลงทุนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขการนำเข้าสินค้าที่ไม่ใช่ทองคำก็ปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวด ส่งผลให้ภาคการผลิตปรับขึ้นเป็นเงาตามตัว แม้หมวดการผลิตชิ้นส่วน และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ จะมีการปรับลดลง แต่ก็ยังไม่กระทบต่อภาพรวมการผลิตมากนัก
“ภาคการท่องเที่ยวในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะดีขึ้น และเริ่มมีความหวังมากขึ้น รวมทั้งการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญหลายๆ ประเทศยังมีแนวโน้มที่ดี จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนปัญหาด้านการเมืองไม่ว่าจะออกมาในรูปใด ก็ไม่กระทบกับเศรษฐกิจช่วงโค้งท้ายปีนี้แน่นอน”
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3816 วันที่ 8 – 10 กันยายน 2565